posttoday

ยุโรปค้านปฏิรูปแบงก์โลก

30 กันยายน 2559

อียูไม่ยอมรับแผนปฏิรูประบบธนาคารโลก ชี้ทำแบงก์ยุโรปเสียเปรียบ เหตุต้องเพิ่มระดับเงินกันสำรอง

อียูไม่ยอมรับแผนปฏิรูประบบธนาคารโลก ชี้ทำแบงก์ยุโรปเสียเปรียบ เหตุต้องเพิ่มระดับเงินกันสำรอง

วัลดิส ดอมโบรฟสกี้ รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) เรียกร้องให้คณะกรรมการด้านการกำกับดูแลภาคการธนาคารในระดับสากล (บีซีบีเอส) ปรับเปลี่ยนแผนการปฏิรูปหลักเกณฑ์การกำกับดูแลภาคธนาคารโลก เนื่องจากแผนการดังกล่าวจะส่งผลให้ธนาคารหลายแห่งในสหภาพยุโรป (อียู) ต้องวางระดับเงินสำรองความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีกหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ

ดอมโบรฟสกี้ ระบุว่า ควรยกเลิกแผนกำหนดเพดานเงินทุนขั้นต่ำ และการห้ามสถาบันการเงินใช้สถิติของตนเองประเมินความเสี่ยง ซึ่งขัดแย้งกับมุมมองของสหรัฐที่เสนอให้ยกเลิกการใช้สถิติภายใน เนื่องจากเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้ธนาคารควบคุมกฎระเบียบต่างๆ เอง

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ธนาคารยุโรปจำนวนมากวิตกว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะส่งผลให้ภาคธนาคารยุโรปเสียเปรียบธนาคารคู่แข่งจากสหรัฐ เนื่องจากวงเงินการปล่อยสินเชื่อจำนวนมาก ทำให้ธนาคารยุโรปต้องเพิ่มระดับการตั้งสำรองความเสี่ยงมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าภาคธนาคารสหรัฐ

ก่อนหน้านี้ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐได้สั่งปรับดอยช์แบงก์ ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ที่สุดในเยอรมนี 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.8 แสนล้านบาท) ในคดีเกี่ยวกับการจำหน่ายตราสารอนุพันธ์อิงกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยช่วงวิกฤตการณ์ภาคการเงิน ปี 2008 ส่งผลให้หลายฝ่ายกังวลเรื่องสถานะการเงินของดอยช์แบงก์ ขณะที่บลูมเบิร์ก ระบุว่า แผนการขายหุ้นมูลค่า 3,900 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.35 แสนบ้านบาท) ในธนาคารหัวเซีย ประเทศจีน อาจเผชิญปัญหาเนื่องจากทางการจีนพยายามจำกัดภาวะเงินทุนไหลออก

ขณะเดียวกัน คอมเมิร์ซแบงก์ ธนาคารรายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของเยอรมนี ประกาศลดพนักงาน 9,600 อัตรา ภายในปี 2020 และระงับการจ่ายเงินปันผลให้นักลงทุน เพื่อนำเงิน 1,100 ล้านยูโร (ราว 4.2 หมื่นล้านบาท) ไปใช้ปรับโครงสร้างบริษัทเพื่อเพิ่มผลกำไร โดยคาดว่าจะควบรวมหน่วยที่ดูแลธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กเข้ากับหน่วยการตลาดและหน่วยดูแลบริษัทเอกชน