posttoday

สื่อแผ่นดินใหญ่ตีข่าว จีนจับมือไทยขุดคอคอดกระ

06 ตุลาคม 2558

สำนักข่าวโอเรียนทัล เดลี่ ของฮ่องก เผย จีน-ไทยเห็นพ้องพัฒนาโครงการขุดคอคอดกระ "บิ๊กตู่" ยืนยันรัฐบาลจีนยังไม่เสนอเข้ามา

สำนักข่าวโอเรียนทัล เดลี่ ของฮ่องก เผย จีน-ไทยเห็นพ้องพัฒนาโครงการขุดคอคอดกระ "บิ๊กตู่" ยืนยันรัฐบาลจีนยังไม่เสนอเข้ามา

สำนักข่าวโอเรียนทัล เดลี่ ของฮ่องกงรายงานว่า ทางการจีนและไทยเห็นพ้องต้องกันที่จะพัฒนาโครงการขุดคอคอดกระ บริเวณพื้นที่ จ.ระนองเรียบร้อยแล้ว โดยมุ่งหมายให้คอคอดกระเป็นช่องทางขนส่งทางน้ำสำคัญ เชื่อมระหว่างอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ซึ่งจีนผู้เป็นตัวตั้งตัวตีผลักดันโครงการดังกล่าว มุ่งใช้ประโยชน์ของเส้นทางใหม่นี้พัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ

ข้อตกลงดังกล่าวเป็นไปตามเจตนารมณ์ของจีน นำโดย ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ที่ต้องการพัฒนาเส้นแนวเขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเล โดยโครงการคอคอดกระคือเป้าหมายสำคัญในการพัฒนา ข้อมูลเบื้องต้นเส้นทางน้ำคอคอดกระมีระยะทาง 102 กม. กว้าง 400 ม. และ ลึก 25 ม. โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในเร็วๆ นี้ ใช้เวลาก่อสร้างราว 10 ปี ด้วยงบประมาณราว 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หากแล้วเสร็จโครงการนี้จะเป็นเส้นทางทางน้ำที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญของเอเชีย

ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่งชี้ว่า จีนจะได้รับประโยชน์ด้านเศรษฐกิจหลายประการ เนื่องจากเส้นทางคอคอดกระจะสร้างความแข็งแกร่งในความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของจีนกับชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากจีนเป็นผู้ลงทุนหลัก และไม่ต้องพึ่งพาเส้นทางช่องแคบมะละกาซึ่งเป็นของมาเลเซียอีกต่อไป

นอกจากนี้ ช่องทางคอคอดกระยังช่วยลดค่าใช้จ่ายมหาศาล ย่นระยะทางเรืออย่างน้อย 1,200 กม. และระยะเวลาเดินทางประมาณ 2-5 วัน ระหว่างจีนไปยังคู่ค้าในตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป ที่สำคัญคือ ลดความเสียหายทางเศรษฐกิจ จากเหตุโจรสลัดชิงปล้นสินค้าและน้ำมันทางช่องแคบมะละกา ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ป้องกันได้ยาก และกระทบต่อแหล่งพลังงานของจีน เนื่องจากจีนนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางและแอฟริการาว 80% ของน้ำมันทั้งหมดที่ใช้ในประเทศ

ขณะที่ด้านความมั่นคง นักวิเคราะห์ด้านกองทัพในมาเก๊ามองว่า คอคอดกระจะช่วยเพิ่มอำนาจและประสิทธิภาพของกองทัพจีน โดยจีนจะพร้อมรับมือกับสถานการณ์นอกประเทศได้มากขึ้น และมีอิทธิพลเหนือพื้นที่นอกอาณาเขต เพราะมีอำนาจในการอนุญาต หรือคัดค้านการเดินทางผ่านช่องทางนี้ ซึ่งเป็นอิสรภาพสำคัญของจีน จากที่ผ่านมาจีนต้องหวาดระแวงว่า ความขัดแย้งกับสหรัฐอาจนำไปสู่การปิดช่องแคบมะละกา ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับจีนอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี ข้อเสียที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นคือ บรรยากาศการเมืองระหว่างประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน และสหรัฐกับไทยที่ตึงเครียดมากขึ้น จากความร่วมมืออย่างแน่นแฟ้นกับจีน ซึ่งมีข้อพิพาทกับชาติต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสหรัฐด้วย

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ว่า เรื่องดังกล่าวเห็นเพียงแต่ข่าวในหนังสือพิมพ์ก็รอให้รัฐบาลเขาเสนอเข้ามาก่อน วันนี้ยังไม่เห็นรัฐบาลจีนเสนออะไรเข้ามา

"หากมีการเสนอเข้ามา ก็ต้องมาพูดคุยกัน ถ้ามองเพียงประโยชน์อย่างเดียว แล้วโทษมันมีหรือเปล่า ก็ต้องดู ถ้าแบ่งแยกดินแดนออกเป็น 2 ตอน มันคุ้มหรือไม่และจะดูแลไหวไหม"พล.อ.ประยุทธ์กล่าว