posttoday

ชินเกพาเหรด แฮปปี้เบิร์ธเดย์สิงคโปร์

21 มีนาคม 2558

จำได้ว่า พอกลับมาถึงโรงแรม ยังมีสายรุ้งติดผมอยู่เลย...

โดย...กาญจน์ อายุ

จำได้ว่า พอกลับมาถึงโรงแรม ยังมีสายรุ้งติดผมอยู่เลย...

รู้สึกขอบคุณที่การท่องเที่ยวสิงคโปร์พาไปร่วมงาน “ชินเกพาเหรด” เมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เพราะมันคือชินเกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เฉลิมฉลองเนื่องใน 2 โอกาส หนึ่งเพื่อฉลองตรุษจีนตามประเพณีที่ทำมา และสองเพื่อฉลองวันชาติสิงคโปร์ครบรอบ 50 ปี

ชินเกพาเหรด แฮปปี้เบิร์ธเดย์สิงคโปร์ หุ่นจำลองท่านโทนี ตัน เค็ง ยัม

 

ประวัติศาสตร์พอสังเขป

ครึ่งศตวรรษแล้วที่เกาะปลายสุดแหลมมลายูดูแลตัวเอง สาธารณรัฐสิงคโปร์ตัดสินใจแยกตัวออกจากมาเลเซียมาเป็นเอกเทศตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. 2508 ภายใต้การปกครองของนายกรัฐมนตรี ลีกวนยิว ผู้นำที่ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่เคารพและรัก (มาก)

เขาสามารถสร้างและพัฒนาเกาะที่ไร้ทรัพยากรธรรมชาติใดๆ ให้กลายเป็นประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศมากกว่า 7.2 ล้านล้านบาท (ปี 2554) ประชากรร้อยละ 46 จบปริญญาตรี มีต้นไม้ 2 ล้านต้น สวนสาธารณะ 300 แห่ง มีเที่ยวบินมาลงกว่า 8,000 เที่ยวบิน/สัปดาห์ และมีนักท่องเที่ยวเข้า-ออกประเทศมากถึง 11 ล้านครั้ง

ชินเกพาเหรด แฮปปี้เบิร์ธเดย์สิงคโปร์ กระโปรงแดงพลิ้วในม่านหมอก

ขณะนี้ ลีกวนยิว อายุ 91 ปี กำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งเขาสละตำแหน่งนายกฯ ให้ลูกชาย ลีเซียนลุง ดูแลตั้งแต่ปี 2533 แต่ชาวสิงคโปร์ก็ยังรักลีคนพ่อเหมือนเป็นประมุขของประเทศ และภาวนาให้สิงคโปร์ยังมีเขาในปีต่อๆ ไป

ตรุษจีน

ปกติเทศกาลตรุษจีนของสิงคโปร์จะฉลองยาวไปจนถึงวันที่ 15 หลังวันตรุษจีน ซึ่งจะมีเทศกาลประจำปีอย่าง ริเวอร์ ฮองเบา (River Hongbao) จัดขึ้นบนแพลตฟอร์มกลางน้ำที่อ่าวมารีน่า มีแบ็กกราวด์เป็นตึกมารีน่าเบย์แซนด์ส ตึกทรงดอกบัวของพิพิธภัณฑ์ศิลปะวิทยาศาสตร์ และสะพานเฮลิกซ์ที่มีแรงบันดาลใจมาจากดีเอ็นเอมนุษย์ ภายในงานมีการแสดงโคมไฟรูปเทพเจ้าแห่งโชคลาภ สัตว์ตามปีนักษัตรจีน สัตว์ที่เป็นมงคลตามความเชื่อคนจีน ถนนงานฝีมือ ร้านอาหารจีน และการแสดงอุปรากรจีนบนเวที ภายในเมืองจะมีการประดับประดาโคมไฟสีแดงย่านไชน่าทาวน์ ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า และบ้านเรือน ตามสถิติสิงคโปร์มีประชากร 5.3 ล้านคน เป็นคนจีนร้อยละ 74.2 ชาวมลายูร้อยละ 13.3 ชาวอินเดียร้อยละ 9.2 และชาติอื่นๆ ร้อยละ 3.3 จึงเป็นเหตุว่าทำไมถึงตรุษจีนกันทั้งเมือง

ชินเกพาเหรด แฮปปี้เบิร์ธเดย์สิงคโปร์ การแสดงชนเผ่า

ไชน่าทาวน์

ไชน่าทาวน์เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ นักท่องเที่ยวสามารถซื้อทัวร์เดินเที่ยวแบบครึ่งวัน (Walking Tour) โดยไกด์จะพาเดินย้อนอดีตไปตั้งแต่สมัยที่ไชน่าทาวน์ยังมีทะเล เริ่มจาก วัดเทียน ฮก เก็ง (Thian Hock Keng Temple) เป็นที่ประดิษฐานเทพเจ้าแห่งท้องทะเลที่ชาวจีนฮกเกี้ยนนับถือ ในอดีตด้านหน้าวัดเคยเป็นท่าเรือและชุมชนจีนเก่าแก่ที่อพยพมาทางเรือ แม้ปัจจุบันจะเป็นแผ่นดินและมองไม่เห็นทะเลแล้ว วัดเทียน ฮก เก็ง ก็ยังเป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวจีนฮกเกี้ยนศรัทธา

จากนั้นเดินข้ามเนินเตี้ยๆ ผ่านคลับสตรีท ย่านที่ตอนกลางวันจะเงียบเหงาแต่ช่วงเย็นครึกครื้นเพราะเป็นที่รวมร้านแฮงเอาต์ของคนทำงาน พอลงเนินไปบรรยากาศจะกลับมาเป็นจีนอีกครั้ง สัญลักษณ์โคมแดงโยงระยางอันเป็นสัญลักษณ์ของไชน่าทาวน์ทอดยาวหลายถนน ตั้งแต่ ถนนซาโก (Sago Street) ที่ตั้งของวัดพระเขี้ยวแก้ว และเคยเป็นถนนแห่งความตาย ตามความเชื่อของคนจีนที่จะไม่ปล่อยให้คนเสียชีวิตในบ้าน จึงนำคนชราที่ใกล้สิ้นอายุขัยมาอยู่ในบ้านย่านนี้ ถนนสายนี้จึงถูกขนานนามว่า Street Of The Dead

ชินเกพาเหรด แฮปปี้เบิร์ธเดย์สิงคโปร์ สีสันตึกในไชน่าทาวน์

จากนั้นเลี้ยวขวาไปตาม ถนนตรังกานู (Trengganu Street) ผ่านย่านอาหารจีนไชน่าทาวน์ ฟู้ด สตรีท และไปสิ้นสุดที่ ถนนพาโกดา (Pagoda Street) ตลอดทางจะมีร้านขายของที่ระลึก ร้านขายชา ร้านสมุนไพรจีน เปิดกิจการภายในตึกแถวรุ่นเก่าที่มีเอกลักษณ์ตรงทางเดินหน้าบ้านหรือ ไฟฟ์ ฟุต เวย์ (Five Foot Way) เป็นทางเดินกว้าง 5 ก้าวที่คนสมัยก่อนสร้างขึ้นเพื่อหลบแดด หลบฝน และวางหาบเร่ขายของ

ระหว่างทางไกด์จะโชว์ภาพในอดีตเปรียบเทียบให้เห็นกับตาว่าตอนนั้นและตอนนี้ต่างกันมากแค่ไหน ระยะเวลา 50 ปี มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ตอนนี้ทะเลหายไป ความยากจนเลือนหาย แต่สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมยังอยู่เดิม

ชินเกพาเหรด แฮปปี้เบิร์ธเดย์สิงคโปร์ ถนนซาโก ครั้งหนึ่งเคยเป็นถนนแห่งความตาย

ชินเกพาเหรด

ชินเกพาเหรดเป็นการฉลองตรุษจีนที่มีขึ้นในประเทศจีน แต่ในสิงคโปร์มีขึ้นครั้งแรกเมื่อ 42 ปีที่แล้ว งานจะจัดขึ้นหลังวันตรุษจีน 2 สัปดาห์ โดยมีการเดินขบวนบนถนนออร์ชาร์ด ซึ่งชาวสิงคโปร์เองไม่ค่อยตื่นเต้นเพราะเห็นกันอยู่ทุกปี แต่ปีนี้ต่างเพราะงานย้ายไปจัดบนสนามแข่งรถฟอร์มูล่าวัน หน้าอาคารฟอร์มูล่าวันพิท (Formula 1 Pit) เพื่อรองรับขบวนพาเหรดกว่า 6.5 หมื่นชีวิต วัตถุประสงค์ไม่ใช่ฉลองวันตรุษจีนอย่างเดียว แต่ประเด็นหลักคือฉลองวันเกิดครบรอบ 50 ปีล่วงหน้าก่อน 5 เดือน

หุ่นจำลองท่านโทนี ตัน เค็ง ยัม ประธานาธิบดีสิงคโปร์ ที่กำลังถือมีดตัดเค้กยักษ์ยังติดตาจนถึงตอนนี้ ขนาดของท่านสูงกว่าอัฒจันทร์ แถมยังขยับและพ่นไฟได้อีก ถือว่าเป็นไฮไลต์ออกมาเกือบขบวนสุดท้าย ก่อนที่งานพาเหรดจะจบด้วย เด็กอายุ 12 ขวบไต่บันไดลิงขึ้นสู่ท้องฟ้าและจุดพลุเพื่อแสดงถึงอนาคตอันสดใสของสิงคโปร์

ชินเกพาเหรด แฮปปี้เบิร์ธเดย์สิงคโปร์ การแสดงจากไทย

พาเหรดปีนี้มีต่างประเทศร่วมแสดง 14 ประเทศ ประเทศไทยก็เข้าร่วมเช่นกันด้วยการเดินในชุดไทยอย่างเรียบง่าย (ถ้าไม่สังเกตอาจไม่เห็น) ในขณะที่ประเทศอื่นๆ นำการแสดงวัฒนธรรมมาโชว์อย่างไม่น้อยหน้า เช่นญี่ปุ่นพาหมีดำคุมะมงและต้นซากุระมาจัดแสดง หรือจีนที่ถนัดเรื่องความยิ่งใหญ่ ได้ยกทัพนักเต้นหญิงมาวาดลวดลายอย่างพร้อมเพรียง

คำว่า ไอ เลิฟ สิงคโปร์ กึกก้องตลอด 2 ชั่วโมง สร้างบรรยากาศความภาคภูมิใจในชาติจนชาวต่างชาติอย่างฉันยังรู้สึก ตอนจบงานดอกไม้ไฟถูกจุดยาวหลายนาที มันกำลังลุกวาวในอากาศซึ่งในขณะนั้นเองที่ฉันเห็นนัยของชินเก

พาเหรดนี้ไม่ใช่แค่การเฉลิมฉลอง 50 ปี แต่คือการประกาศความสำเร็จของประเทศที่แก่เพียง 1 ชั่วอายุคน

ชินเกพาเหรด แฮปปี้เบิร์ธเดย์สิงคโปร์ เชิดสิงโต

 

ชินเกพาเหรด แฮปปี้เบิร์ธเดย์สิงคโปร์ ริเวอร์ ฮองเบา

 

ชินเกพาเหรด แฮปปี้เบิร์ธเดย์สิงคโปร์ รอยยิ้มจากนักแสดงส่งมาถึงผู้ชม

 

ชินเกพาเหรด แฮปปี้เบิร์ธเดย์สิงคโปร์ ชุดแฟนตาซี

 

ชินเกพาเหรด แฮปปี้เบิร์ธเดย์สิงคโปร์ รถฟอร์มูล่าวัน งานระดับโลกประจำปี

 

ชินเกพาเหรด แฮปปี้เบิร์ธเดย์สิงคโปร์ หมีดำแก้มแดงจากญี่ปุ่น