posttoday

พิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยง สูดกลิ่นล้านนากลางกรุง

11 กุมภาพันธ์ 2560

หากใครคิดถึงกลิ่นอายเมืองเหนือ ถ้ามีเวลาไม่มากพอจะบินไปถึงที่ แต่หากคุณมีเวลาสักครึ่งวันไม่ต้องดั้นด้นไปไกลถึงถิ่นล้านนา

โดย...พาแลง ภาพ : คลังภาพโพสต์ทูเดย์

หากใครคิดถึงกลิ่นอายเมืองเหนือ ถ้ามีเวลาไม่มากพอจะบินไปถึงที่ แต่หากคุณมีเวลาสักครึ่งวันไม่ต้องดั้นด้นไปไกลถึงถิ่นล้านนา สุดสัปดาห์นี้ลองแวะไปสูดกลิ่นอายของล้านนาขนานแท้ ที่ไม่ใช่แค่มีมุมฮิปสำหรับถ่ายรูป แต่ที่นี่ยังมีประวัติความเป็นมาให้ได้ศึกษาด้วย เป้าหมายที่ว่าคือ "พิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยง" ซึ่งอยู่ที่ถนนสุขุมวิท 21 รถไฟฟ้าใต้ดิน ลงที่สถานีสุขุมวิท (ทางออกที่ 1) และรถไฟฟ้าบีทีเอส ลงที่สถานีอโศก (ทางออกที่ 3) ง่ายๆ คือหากคุณไปถึงสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ คุณก็ถึงพิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยง ที่โดดเด่นสะดุดตาด้วยทรงเรือนไทยสไตล์ล้านนาดั้งเดิมตั้งตระหง่านอยู่ข้างๆ

อะไรทำให้บ้านหลังนี้เป็นพิพิธภัณฑ์? เพราะ "เรือนคำเที่ยง" เป็นเรือนไทยล้านนาหลังเดียวที่ยังคงรูปแบบการสร้างแบบล้านนาไว้ทั้งหมด เป็นเรือนไทยภาคเหนือที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง และที่สำคัญมีอายุกว่า 1 ศตวรรษ สร้างเมื่อปี  2391 โดย นางแซ้ด ลูกหลานสืบเชื้อสายธิดาเจ้าเมืองแช่ ชาวไทลื้อจากแคว้นสิบสองปันนา ซึ่งถูกกวาดต้อนมาอยู่เมืองเชียงใหม่สมัยที่พระเจ้ากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ แต่เดิมบ้านหลังนี้อยู่ริมฝั่งน้ำปิง จ.เชียงใหม่

พิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยง สูดกลิ่นล้านนากลางกรุง

กระทั่งปี  2506 กิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ ทายาทผู้เป็นเจ้าของเรือน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญอยากที่จะอนุรักษ์เอาไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้เรียนรู้ถึงความเป็นอยู่ของชาวล้านนา จึงมอบเรือนหลังนี้ไว้ให้กับสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ และจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาพิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยง เปิดอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย. 2509 ที่สำคัญขณะนี้อยู่กลางกรุงเทพฯ

โดยทั่วไปเรือนล้านนาจะเป็นเรือนยกใต้ถุนสูง พื้นที่ใช้สอยประกอบด้วยชานกว้าง ซึ่งเป็นส่วนเชื่อมของพื้นที่ในส่วนต่างๆ ของเรือน บันไดหลักหรือทางขึ้นเรือนจะอยู่ด้านหน้า จุดเด่นที่เห็นของเรือนล้านนา คือ "กาแล" ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเรือนไทยล้านนาแบบดั้งเดิมก็จะเรียกว่า "เรือนกาแล" สำหรับเรือนคำเที่ยงบันไดทางขึ้นจะมีหม้อใส่น้ำไว้สำหรับล้างมือล้างเท้าก่อนขึ้นบ้าน

พิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยง สูดกลิ่นล้านนากลางกรุง

แต่ก่อนที่จะขึ้นเรือน แนะนำให้แวะชมใต้ถุนของเรือนคำเที่ยงก่อน เพราะที่นี่จัดแสดงเครื่องมือทำมาหากินของชาวล้านนาไว้มากมาย เช่น ไซดักปลา ข้อง สุ่ม เครื่องมือทางด้านหัตถกรรม เช่น กี่ทอผ้า นอกจากนี้ยังมีแอนิเมชั่น เรื่อง ต๊กโตผจญภัย เล่าเรื่องราวของตุ๊กแกตัวหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และวิถีประจำวันของคนล้านนา อาทิ การทำเหมืองฝาย การจับปลา การทำนา พิธีกรรมในการลงเสาเอก ขั้นตอนการปลูกเรือน เป็นต้น

หลังจากล้างเท้าเตรียมขึ้นเรือน เมื่อเดินขึ้นเรือนจะพบกับชานกว้าง ด้านบนของเรือนจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ประกอบด้วย ห้องครัว ห้องนั่งเล่น ห้องนอน ทั้ง 3 ห้องนี้จะเชื่อมต่อกันสามารถเดินถึงกันได้หมด และทั้งสามห้องได้จัดนิทรรศการที่สะท้อนคติความเชื่อของคนล้านนาได้อย่างน่าสนใจ คนล้านนาจะให้ความสำคัญกับความเชื่อค่อนข้างมาก และบ่งบอกถึงวิถีชีวิตของชาวล้านนา ตลอดจนสิ่งที่สะท้อนพิธีกรรม ความเป็นอยู่ของคนล้านนาที่สอดคล้องกับธรรมชาติ เช่น การบูชาขันแก้วทั้งสาม การแอ่วสาว การสักยันต์ เครื่องประดับ การนับถือผีปู่ย่า เป็นต้น และสิ่งสำคัญของสาวๆ ชาวล้านนาที่แสดงออกถึงค่านิยม รสนิยม และฐานะของผู้สวมใส่ตลอดจนเชื้อสายเผ่าพันธุ์ ซึ่งเครื่องประดับส่วนมากทำมาจากทองคำ เงิน อัญมณีประเภทพลอย เช่น ปิ่น ต่างหู แหวน กำไลข้อมือ กำไลข้อเท้า ฯลฯ

พิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยง สูดกลิ่นล้านนากลางกรุง

การที่เด็กรุ่นใหม่ได้ไปเดินชมอดีต สิ่งสำคัญที่ไม่เพียงแค่การได้รับรู้ความเป็นมาของคนที่เกิดมาก่อน เหนืออื่นใดยังให้แรงบันดาลใจกลับมาด้วย หลายคนอาจได้แนวคิดการออกแบบใหม่ๆ กลับไปจากที่นี่ หรือบางคนแค่มาได้สูดกลิ่นอายของความเข้มขลังก็ได้รับพลังพอแล้ว

 บ้านคำเที่ยง หรือพิพิธภัณฑ์เรือนคำเที่ยง อยู่ภายในสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ถนนสุขุมวิท 21 เปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน เว้นวันอาทิตย์ วันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-17.00 น. อัตราค่าเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ 100 บาท นักศึกษา 50 บาท เด็ก(ต่ำกว่า 18 ปี) 20 บาท โทร.02-661-6470-7 หรือ www.siam-society.org