posttoday

"ภาวะสับสนทางภาษา" โดยผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา

17 ตุลาคม 2559

เฟซบุ๊ก ธเนศ เวศร์ภาดา

เฟซบุ๊ก ธเนศ เวศร์ภาดา

น่าแปลกใจว่า ประเทศไทยผ่านเหตุการณ์โศกเศร้าไปได้เพียงสามสี่วัน สังคมไทยก็เกิดปรากฏการณ์ "ดราม่า" มากมายราวกับคนขาดสติ ดราม่าข่าวจริงข่าวลวงที่ส่งผ่านทางไลน์ โพสต์ทางเฟซบุ๊ค เดี๋ยวว่าจริง ผ่านไปสองนาที บอกว่าไม่จริง เป็นข่าวปล่อยบ้าง ข่าวลือบ้าง (ตัวอย่างข่าวปล่อย : เรื่องการตั้งผู้สำเร็จราชการ, เรื่องพระนามใหม่ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่ , เรื่องนายกขี่มอเตอร์ไซค์นำขบวนพระบรมศพ, เรื่องร้อยกรองพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ,  ฯลฯ) ดราม่าเรื่องเสื้อดำไม่เสื้อดำ ดราม่าเรื่องล่าแม่มด

ไม่เว้นแม้แต่ภาษา เดี๋ยวใช้คำนี้ เดี๋ยวใช้คำนั้น เอาหลักแน่ไม่ได้ ขอเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "ภาวะสับสนทางภาษา"  ดังจะได้อภิปรายใน ๓ ประเด็นต่อไปนี้  

๑.การใช้ภาษาถูกผิด  

คนที่ใส่ใจเรื่องการใช้ภาษาถูกหรือผิดมากเป็นพิเศษมักจะเป็นนักภาษา ซึ่งรวมนักวิชาการด้านภาษาไทยและครูภาษาไทย   

ส่วนนักภาษาศาสตร์จะใส่ใจในเรื่องการใช้ภาษาในมิติของการแปรทางภาษา ถ้าคนในสังคมใช้ภาษาต่างกัน ทั้งๆ ที่เป็นคำเดียวกัน เช่น สวรรคต คนหนึ่งอ่านว่า สะหวันคด. อีกคนอ่านว่า สะหวันนะคด นักภาษาศาสตร์อธิบายว่านี่เป็นการแปรทางภาษา คือภาษาถูกใช้ให้แตกต่างตามบุคคล เพศ วัย อาชีพ การศึกษา  

ในที่นี้ เราจะกล่าวถึงการใส่ใจภาษาของนักภาษา   นักภาษามองว่าการใช้ภาษาในสังคมมีถูกมีผิด  ปรากฏอย่างน้อย ๕ ด้าน ได้แก่ ด้านเสียง ด้านอักขรวิธี ด้านคำ ด้านไวยากรณ์ และด้านข้อความ   

ในเรื่องของเสียงและอักขรวิธี  เรายึดหลักเกณฑ์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเป็นสำคัญ ส่วนด้านคำและไวยากรณ์ เรายึดตำราหลักภาษาไทย ตำราการใช้ภาษาที่นักภาษาคนสำคัญในแต่ละสำนักวางหลักไว้ให้  ด้านข้อความ ซึ่งหมายถึงการใช้สำนวนที่เรียกตรงกับภาษาอังกฤษว่า expression หลายครั้งเรายึดหรือเทียบเคียงกับธรรมเนียมที่มาแต่เดิม หลายครั้งเราพิจารณาว่าเหมาะหรือไม่เหมาะแก่บริบทนั้นๆ   

เรื่องการออกเสียง เรามักเรียกร้องบุคคลในสื่อ มีผู้สื่อข่าว พิธีกร นักแสดง เป็นต้น ให้อ่านออกเสียงให้ถูกต้อง โดยเฉพาะเสียงตัว ร ฤ เสียงควบกล้ำ และคำบางคำที่ควรอ่านตามหลักของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เช่น คุณวุฒิ อ่าน คุนนะวุดทิ ประวัติศาสตร์ อ่าน ประหวัดติสาด สวรรคต อ่าน สะหวันคด ถ้าชาวบ้านร้านตลาดจะออกเสียงผิดเพี้ยนไป แต่สื่อความได้ ก็ไม่ว่ากระไรนัก ส่วนคำที่มีปัญหา ว่าพจนานุกรมไทยไม่ได้ระบุให้ออกเสียงอย่างไร อาจต้องพึ่งนักวิชาการทางภาษา เช่น ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. กาญจนา นาคสกุล ท่านอธิบายว่าคำสมาสบางคำไม่ต้องอ่านเชื่อมเสียงให้รุงรัง ให้อ่านออกเสียงตาม "ธรรมชาติของภาษาไทย" เช่น เกษตรศาสตร์ อ่าน กะเสดสาด ไม่อ่านว่า กะเสดตะสาด เป็นต้น   

พระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาจารย์ท่านอธิบายไว้ว่า 

"ประชาชนชาวไทยจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชอย่างยิ่ง  จึงไม่เป็นการสมควรเลยที่จะออกพระนามผิดๆถูกๆ   การออกพระนามที่ถูกต้องตามระบบเสียงภาษาไทยนั้น คือ   พฺระ-บาท-สมเด็จ –พฺระ-ปะ-ระ-มิน-  มะ-หา-ภู-มิ-พล-  อะ-ดุน-ยะ-เดช  -มะ-หิต-ตะ-ลา-ธิ-เบศ-รา-มา-ธิบ-บอ-ดี   จัก-กฺรี-นะ-รึ-บอ-ดิน- สะ-หฺยาม-มิน-ทะ-รา-ธิ-ราช-บอ-รม-มะ-นาถ-บอ-พิต" 

เรื่องอักขรวิธี ข้อนี้เราเรียกร้องให้ทุกคนเขียนสะกดให้ถูกต้องตามอักขรวิธี เช่น อนุญาต สังเกต เพราะถ้าเขียนสะกดผิด ความหมายก็ผิดเพี้ยน ด้วยความที่ภาษาไทยรับคำบาลีสันสกฤตเข้ามาใช้มาก รูปคำแต่ละคำช่วยรักษาประวัติที่มาของคำ ความหมายของคำ เช่น มาศ มาส มาตร, บาต บาตร บาท, โลกาภิวัตน์ (โลก+อภิวัตน์ แปลว่าการแผ่ถึงกันทั้งโลก) เป็นต้น รวมทั้งคำทับศัพท์ โดยเฉพาะคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ต้องตรวจสอบ ตรวจทานให้ตรงกับหลักเกณฑ์การทับศัพท์ของราชบัณฑิตยสถาน คนเขียนหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือทางวิชาการ มีศัพท์เฉพาะทางมาก คนพิสูจน์อักษร คนเหล่านี้ต้องแม่นเรื่องสะกดคำอย่างแน่นอน   

เรื่องการใช้คำ ข้อนี้เป็นข้อที่วัดความรู้หรือความไม่รู้ของผู้ใช้ภาษา คนที่อ่านหนังสือมาก เขียนหนังสือมาก ย่อมเลือกใช้คำได้หลากหลายและถูกต้องตรงความหมาย ทั้งความหมายโดยตรงและความหมายโดยนัย คนที่อ่านหนังสือน้อย เขียนหนังสือน้อย หรือไม่สันทัดเรื่องภาษา ก็จะมีคลังคำให้เลือกใช้น้อยและใช้คำผิดความหมาย แต่เรื่องการใช้คำถูกผิดต้องแยกเรื่องการสร้างสรรค์ภาษาออกไปเสีย หากคำที่ใช้เป็นคำที่แปลกไปจากที่เคยมีเคยใช้ แต่สื่อความได้ สื่อภาพชัดเจน ไม่ประดักประเดิด นักภาษาจะถือว่าเป็นการสร้างสรรค์ภาษา ให้มีคำใหม่เกิดขึ้น เช่น เสื้อน่วมน้ำ มวลน้ำ จริยสิทธ์ หรือแม้แต่คำสแลงทั้งหลาย เช่น ฟิน นก ลำไย ดราม่า เป็นต้น  

ด้านไวยากรณ์ เป็นส่วนที่เข้มงวดที่สุดของภาษา เราเรียกร้องให้ผู้ใช้ภาษาเรียบเรียงประโยคให้ถูกต้อง เพราะถ้าเรียงประโยคผิด ใช้บุพบทสันธานผิด ก็จะไม่มีสัมพันธภาพ และอาจสื่อความไม่รู้เรื่อง ไวยากรณ์เป็นการจัดระเบียบภาษา การใช้ภาษาไม่มีระบบระเบียบ สะท้อนให้เห็นถึงความคิดที่ไม่มีระบบระเบียบของผู้ใช้ภาษา   

ด้วยเหตุที่ภาษาไทยไม่มีการเปลี่ยนรูปคำเพื่อบอกความหมายทางไวยากรณ์ ถือการเรียงคำเป็นสำคัญ  อาจมีคำบางคำที่เป็นปัญหา เช่น ข้าวห่อไข่ หรือ ไข่ห่อข้าว ข้าวราดแกง หรือแกงราดข้าว เราจะถือว่าเราต้องการเน้นคำไหน เอาคำนั้นขึ้นต้น เราจึงคุ้นคำว่า ข้าวห่อไข่ ข้าวราดแกง มากกว่าไข่ห่อข้าว แกงราดข้าว  

นอกจากนี้ ถ้าหากเราใช้ภาษาผิดไวยากรณ์บ่อยเข้า ไวยากรณ์ของเราก็จะเปลี่ยน เช่น ถ้าเราใช้สำนวนต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษมาก เราจะเริ่มคุ้นสำนวนภาษาอังกฤษที่มีวิธีเรียงความสัมพันธ์ของคำในประโยคแปลกออกไป ไวยากรณ์เราก็จะเปลี่ยนในที่สุด เช่น ถ้าพูดว่า มีสิบข้อคำถาม มียี่สิบชนิดกีฬา บ่อยเข้า การใช้ลักษณนามของไทยจะเปลี่ยนไป  

๒.ภาวะสับสนทางภาษาอันเนื่องด้วยการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ภาวะสับสนทางภาษาในช่วงสองสามวันนี้ปรากฏในระดับข้อความ การใช้คำ วลี ที่เป็นสำนวนหรือแบบประโยคหนึ่งๆ เป็นเรื่องที่ชวนสับสนที่สุด ทั้งนี้เพราะการใช้ภาษาของคนในสังคมมักจะสวนทางกับหลักหรือแนวทางของทางการหรือที่มาที่ไปของคำคำนั้น   

วลีที่มีปัญหาขณะนี้คือ 

๑) การออกพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 

จะใช้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ หรือออกพระนามเต็มว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิคลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร หรือออกพระนามย่อว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  

ผู้ใช้คำ ""พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ" เป็นคนแรก คือนายกรัฐมนตรี ครั้งแถลงข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๙.๐๕ น. จากนั้น คำนี้ก็ติดตลาดทันที  

ผศ.ดร.อาทิตย์ ชีรวณิชย์กุล ภาควิชาภาษาไทย อักษร จุฬา ให้ความเห็นว่า คำ “ ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ’ ใช้ตามธรรมเนียมโบราณซึ่งจะใช้ต่อเมื่อได้เชิญพระบรมศพลงในพระโกศ และมีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่แล้ว  ธรรมเนียมการเรียกขานนี้แม้จะไม่ได้ถูกยกเลิก และยังคงพบในการเรียกขานของคนโดยทั่วไป รวมทั้งเอกสารต่างๆ ซึ่งไม่ใช่สิ่งแปลกอะไร เป็นวัฒนธรรมการใช้ภาษา แต่จากพระบรมราชาธิบายในรัชกาลที่ ๕ แสดงให้เห็นว่า การเรียกขานเช่นนี้ไม่ต้องด้วยพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ และโปรดเกล้าฯ ให้เรียกขานพระนามพระมหากษัตริย์ตามนามพระพุทธรูป หรือเรียกขานพระนามได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องใช้คำ ‘ในพระบรมโกศ’ นี้เรียกขานพระเจ้าแผ่นดินซึ่งสวรรคต”

ดังนั้น ถ้าจะให้เหมาะควรเรียกขานว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช”  ดังที่เคยเรียกมาตลอดเวลา ๗๐ ปีด้วยความรักเทิดทูนพระองค์

ส่วนประชาชนบอกว่าฟังคำนี้แล้วยิ่งรู้สึกใจหาย ไม่อยากใช้เลย  

๒) คำว่า ถวายความอาลัย 

คำนี้ใช้มาตั้งแต่ครั้งเหตุการณ์สมเด็จย่าเสด็จสวรรคต เมื่อปี ๒๕๓๘ ต่อเนื่องมาถึงเหตุการณ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอสิ้นพระชนม์ เมื่อปี ๒๕๕๐ คำว่า ถวายความอาลัย ใช้ทั่วไปในวงกว้าง ยากที่จะเปลี่ยน ที่สำคัญ สำนักพระราชวังหรือสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่แน่ใจว่าหน่วยงานใดมีหนังสือทางการโดยใช้คำนี้ เป็นการรับรองการใช้คำนี้ไปโดยปริยาย  

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. กาญจนา นาคสกุล ผู้รู้ทางภาษาไทยแย้งว่า "ถวายความอาลัย ไม่เคยมีแบบอย่างการใช้กับพระมหากษัตริย์  ฟังดูเป็นการอาจเอื้อมพิกล เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตไป  เราทุกคนย่อมเศร้าโศกเสียใจ    แต่การจะใช้ถ้อยคำกับพระองค์ท่านนั้น ภาษาไทยมีวัฒนธรรมมีแบบแผนที่ใช้กันมาแต่โบราณจะมาคิดเองลอยๆ  เป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง    ควรแสดงความรู้สึก   สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้   ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ  น่าจะเหมาะกว่า" 

ส่วนผู้เรียนภาษาไทยมาในสำนักต่างๆ จะรู้ว่าครูจะสอนว่าความจงรักภักดีและความอาลัย "ถวาย" คือ "ให้" กันไม่ได้ ต้องใช้ว่า แสดงความจงรักภักดี แสดงความอาลัย   

ในหน่วยงานของตน พยายามแก้ภาษาให้เป็น "แสดงความอาลัยถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช"  

แต่คำว่าถวายความอาลัยก็ยังคงใช้กันทั่วอย่างกว้างขวาง   

๓) คำว่า ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัยและคำลงท้ายแสดงความอาลัย 

สำนวนว่าส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย ทั้งผู้รู้และสำนักงานราชบัณฑิตยสภาอธิบายแล้วว่าไม่ควรใช้  เจ้านายทั้งสามพระองค์ที่สิ้นไปแล้วทรงมีบุญญาบารมีที่จะเสด็จสู่สรวงสวรรค์ด้วยพระองค์เองได้ จึงควรใช้คำอื่นเพื่อแสดงความอาลัย  

ต่อเนื่องมาถึงคำลงท้ายหลังถ้อยคำแสดงความอาลัย  จะใช้ว่า ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม หรือ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ หรือไม่ต้องใช้  

ประยอม ซองทอง ผู้รู้ทางภาษาบอกว่า ไม่ต้องใช้ ขอเดชะ เพราะไม่ได้กราบบังคมทูลเฉพาะพระพักตร์  

อาจารย์ผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งบอกว่า เคยใช้อย่างไรก็ใช้อย่างนั้น เมื่อท่านสิ้น จะไปลดพระยศของท่านได้อย่างไร  

ผ่านไปสองวัน ทางสำนักงานราชบัณฑิตยสภาประกาศตัวอย่างการใช้ถ้อยคำเพื่อแสดงความอาลัยถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตัดวลี "ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ" ออกไป   

ตัวอย่างที่ให้ไว้ไม่ได้บังคับใช้ ให้องค์กรหน่วยงานเลือกใช้ตามความเหมาะสม อาจปรับเปลี่ยนได้บ้าง เพราะที่จริง สำนวนที่ให้ไว้เป็นตัวอย่าง บางสำนวนก็เหมือน "ลิเกหลงโรง"  ตัดคำขยาย เช่น ตราบนิจนิรันดร์ เป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ (วลีนี้เลือกใช้ "เป็นล้นพ้น" หรือใช้ "อันหาที่สุดมิได้" ท่อนใดท่อนหนึ่งก็น่าจะพอ อันนี้เป็นเรื่องรสนิยมทางภาษา คนไม่ชอบความเยิ่นเย้อเว่อร์วังก็ว่าควรตัด คนชอบภาษาตุ้งติ้งตกแต่งมากๆ ก็ว่าใช้ซ้อนกันดีแล้ว)

"ภาวะสับสนทางภาษา" โดยผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา

 

"ภาวะสับสนทางภาษา" โดยผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา

๔) คำว่า ทูลกระหม่อม 

ประยอม ซองทองเขียนไว้ในเฟซบุ๊คท่านว่าคำ "ทูลกระหม่อม" ใช้สำหรับเรียก “เจ้าฟ้า”คือพระราชโอรสหรือพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ที่ประสูติแต่พระมเหษีเท่านั้น  ดังเช่น”ทูลกระหม่อม”ใช้เรียกพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเท่านั้น ไม่ควรใช้แก่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชตามที่มีผู้ใช้อยู่ประปรายใช้ร้อยกรองแสดงความอาลัย 

๕) สำนวนว่า "ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป" 

นักข่าวเนชั่นที่สนิทกันโทรมาถามว่า สำนวนนี้ควรจะเป็น ข้ารองบาท หรือ ข้ารองพระบาท เห็นมีใช้ทั้งสองคำ "ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป" เป็นเนื้อเพลงท่อนที่คุ้นหูติดตลาดอย่างรวดเร็ว ทำนองเดียวกับคำว่า "ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย" ที่ใช้ในงานร้อยกรอง ที่ใช้ว่า "ข้ารองบาท" อาจจะเป็นเพราะจำนวนคำในเนื้อเพลงบังคับ ถ้าจะให้ถูก น่าจะเป็น "ข้ารองพระบาท" 

แต่เมื่อวาน มีโพสต์ของโหรวสุขึ้นข่าวใหม่ในหน้าเฟซบุ๊ค โปรยหัวว่า โหรวสุเตือน "ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป" คนไทยอย่าพูดพร่ำเพรื่อ โหรวสุอธิบายว่า "เพราะจะส่งผลต่อวงศ์ตระกูล รวมถึงชีวิตตัวเอง" และได้ขยายความเล่าถึงประวัติศาสตร์ว่า คำพูดนี้เป็นคำสาบาน ในสมัยก่อนขุนนางที่ตามรับใช้กษัตริย์เท่านั้นจึงจะพูดกัน เมื่อกษัตริย์องค์นั้นเสด็จสวรรคต ขุนนางเหล่านี้ก็จะฆ่าตัวตายไปด้วย เพราะต้องทำตามคำสาบาน ถ้าไม่ทำตามแล้วไปรับใช้กษัตริย์องค์ใหม่ คำสาบานนี้จะย้อนเข้าตัวให้มีอันเป็นไป   คำอธิบายของโหรวสุเป็นเรื่องภาษากับความเชื่อที่ผูกโยงกับบริบทของอดีต ปัจจุบัน สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เหมือนเช่นในอดีตที่มีการชิงอำนาจ แล้วล้างขุนนางขั้วอำนาจเก่า แต่เป็นการสืบราชสันตติวงศ์เป็นข้ารองพระบาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็เป็นข้ารองพระบาทของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระองค์อยู่แล้ว และยิ่งในยุคนี้ เป็นยุควัฒนธรรมประชานิยมที่ไม่ได้สนใจความเข้มข้นทางความหมายของภาษา ค่านิยม ประเพณี มากนัก คนที่ใช้คำ "ขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป" ใช้ด้วยความรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ โดยไม่คิดว่าจะเป็นคำสาบานที่จะส่งผลย้อนเข้าหาตัว อย่างไรก็ตาม เรื่องความเชื่อเป็นเรื่องที่เหนือการถกเถียง เอาเป็นว่าขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ใช้ภาษาแต่ละคน

"ภาวะสับสนทางภาษา" โดยผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา

๓.สาเหตุของภาวะความสับสนทางภาษา  

ภาวะสับสนทางภาษาที่เกิดขึ้นมีสาเหตุอย่างน้อย ๓ ประการ  

๑) เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมานาน ๗๐ ปี คนทั้งประเทศเกิดอาการโศกเศร้าเฉียบพลัน คิดคำใดที่แทนใจอันจงรักภักดีได้ก็ใช้ทันที ไม่มีแนวเทียบ  

๒) ผู้บอกภาษามีหลากหลาย ผู้บอกภาษา หมายถึงผู้ที่มีมติสิทธิ์ (authority) หรือมีอำนาจในการตัดสินหรือชี้แนะหรือนำการใช้ภาษาที่ถูกต้อง ได้ฟังมาว่าสมัยก่อนผู้บอกภาษา ชี้ถูกชี้ผิดเรื่องการใช้ภาษา มี พระศรีสุนทรโวหาร ผู้แต่งหนังสือชุดแบบเรียนหลวงมีมูลบทบรรพกิจ เป็นอาทิ เป็นผู้ชี้ขาดเรื่องภาษา ถึงขนาดได้ชื่อว่า "ศาลฎีกาภาษาไทย"  

ปัจจุบัน เรามีสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเป็นผู้บอกภาษาให้เป็นหลักยึด แต่เมื่อมีเหตุการณ์เกี่ยวกับทางราชสำนัก สำนักพระราชวังจะเป็นผู้บอกภาษาเพิ่มมาอีกรายหนึ่ง สองสำนักนี้มักมีความเห็นเกี่ยวกับการใช้ภาษาไม่ตรงกัน เหมือนไม่ประสานกัน ต่างคนต่างพูด   

มาคราวนี้ ผู้บอกภาษามีตัวละครมากกว่าสองราย มีนักวิชาการทางภาษา  มีนักเขียน/กวีอาวุโสรวมทั้งผู้รู้ทางภาษาที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการ มีสื่อมวลชน มีรัฐบาล มีองค์กรหน่วยงานต่างๆ มีประชาชนทั่วไป   

สื่อ องค์กร หน่วยงานเอกชน ประชาชนทั่วไปใช้คำต่างๆ ไปจนติดตลาดแล้ว สำนักงานราชบัณฑิตยสภากว่าจะออกมาอธิบายก็งุ่มง่ามเงอะงะ นักวิชาการทางภาษาเขียนท้วงไปที่สำนักพระราชวัง ทางสำนักพระราชวังก็ยืนยันมาว่าจะใช้แบบนี้ ผู้รู้ทางภาษาที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ใน  วงการเขียนคำอธิบายไว้ในเพจของตน แต่ไม่แพร่หลาย   

๓) ที่สำคัญ สื่อออนไลน์เดี๋ยวนี้เป็นพื้นที่ที่สร้างภาวะความสับสนมากที่สุด มีข่าวออนไลน์ออกมาโพสต์ปุ๊บ แชร์ปั๊บ อีกสองนาที มีข่าวอีกชิ้นแพร่ออกมาแก้ว่าอันแรกนั้นของปลอม เช่น ล่าสุดมีข่าวว่าสำนักพระราชวังขอยกเลิกใช้คำ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ" อีกสักพัก มีอีกข่าวแย้งว่า สำนักพระราชวังไม่ได้บอกให้ยกเลิกใช้ แต่บอกว่าถ้าจะใช้ให้อยู่ในดุลพิจารณาของสื่อมวลชน ยกหน้าที่ผู้ตัดสินภาษาให้สื่อมวลชนรับเละไป  

ปรากฏการณ์ทางภาษาครั้งนี้มีนัยน่าสนใจ เราเห็นการแย่งชิงอำนาจในการบอกและการใช้ภาษาของประชาชนคนทั่วไป ไม่มีใครรอหน่วยงานที่เคยมีมติสิทธิ์และเคยเป็นหลักยึดอย่างสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ไม่มีใครสนใจฟังคำอธิบายของผู้รู้หรือของนักวิชาการทางภาษา ทุกคนมีอำนาจอยู่ในมือที่จะเลือกใช้ภาษาที่แสดงความอาลัยในเหตุการณ์อันเศร้าโศกใหญ่หลวงครั้งนี้ สถานีโทรทัศน์จะเลือกใช้คำว่า ถวายความอาลัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ แม้ว่าจะส่งให้ผู้รู้ทางภาษาแก้ไขให้ถูกต้องแล้วก็ตาม มีใครทำอะไรได้หรือไม่ล่ะ คนส่วนใหญ่เลือกใช้คำที่สะดวกปากและบอกว่าคำคำนี้แสดงความรู้สึกจากใจจริงๆ มีใครทำอะไรได้หรือไม่ล่ะ  

เอาเป็นว่า ถ้าประชาชนทั่วไปจะใช้ถูกบ้างผิดบ้าง ก็คงไม่กระไร เพราะทุกคนก็เปล่งวาจาทั้งหลายเหล่านี้ด้วยความหัวใจดวงเดียวกันที่เปี่ยมด้วยความรัก ความศรัทธา และความภักดี  

ส่วนผู้ที่มีบทบาททางสื่อมวลชน ซึ่งเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อสาธารณชน  และผู้ที่จำเป็นต้องใช้ภาษาทางการ ก็ควรจะใช้ให้ถูกต้อง ยึดหลักของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา และถ้าคำนั้นวลีนั้นมีความเห็นแย้งระหว่างสำนักงานราชบัณฑิตยสภากับสำนักพระราชวัง ก็พิจารณาว่าฝ่ายไหนให้เหตุผลที่น่าเชื่อถือมากกว่า  

ส่วนนักวิชาการภาษาไทยและครูภาษาไทยอย่างเราที่ถูกคาดหวังว่าต้องรู้ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับภาษาไทยก็ทำหน้าที่กันไป ทำหน้าที่หาความรู้ เมื่อไม่รู้  เมื่อรู้แล้ว ก็ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่สาธารณะต่อไป   

ธเนศ เวศร์ภาดา เขียน
บันทึกแล้วเสร็จ วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๙  เวลา ๑๑.๐๐ น. ณ โรงแรมแคนเทอรี พระนครศรีอยุธยา

หมายเหตุ-ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา เป็นนักวิจารณ์วรรณกรรมชื่อดัง อดีตนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย และคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย


ที่มาจากเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/notes/%E0%B8%98%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%A8-%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%B2/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2/1255422587874533