posttoday

หากร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่าน

05 สิงหาคม 2559

โดย...ไชยันต์ ไชยพร

โดย...ไชยันต์ ไชยพร

ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้และคำถามพ่วงผ่านประชามติ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อมีการเลือกตั้งและมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว การได้นายกรัฐมนตรีก็จะเป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ตามมาตรา 83 กำหนดให้มีจำนวน สส. 500 คน และตามมาตรา 159 กำหนดว่าผู้ที่จะเป็นนายกฯ ต้องอยู่ในเงื่อนไขดังต่อไปนี้คือ                                       

1.ผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ที่กำหนดไว้ว่า “ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแจ้งรายชื่อบุคคล ซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกฯ ไม่เกิน 3 รายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ ...พรรคการเมืองจะไม่เสนอรายชื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งก็ได้”  

เนื้อหาตามมาตรา 88 ส่งผลทำให้ประชาชนจะสามารถรู้ล่วงหน้าว่า พรรคการเมืองจะเสนอชื่อใครบ้างเป็นนายกฯ ซึ่งแต่ละพรรคสามารถเสนอได้ถึง 3 ชื่อ หรือจะไม่เสนอเลยก็ได้ถ้าไม่เสนอก็หมายความว่าพรรคการเมืองที่ไม่เสนอก็เท่ากับสละสิทธิ และชื่อที่ถูกเสนอนั้นจะต้องไม่ซ้ำกับพรรคการเมืองอื่น

2.หลังเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมืองทุกพรรคมีสิทธิที่จะเสนอชื่อบุคคลตามรายชื่อที่ได้มีการแจ้งไว้ แต่พรรคที่จะมีสิทธิดังกล่าวนี้จะต้องมี สส.ในสภาไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (ซึ่งสมมติว่าเป็นจำนวนเต็ม 500 คน)  ดังนั้นพรรคที่มี สส.ในสภาน้อยกว่า 25 คน ก็จะไม่มีสิทธิเสนอชื่อ

ขณะเดียวกัน การเสนอชื่อใครเป็นนายกฯ จะต้องมี สส.ในสภารับรองไม่น้อยกว่า 1ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรด้วย 1 ใน 10 ในที่นี้ก็ประมาณ 50 คน ดังนั้นพรรคเล็กพรรคน้อยที่มี สส. เกิน 25 คน แม้ว่าบุคคลในบัญชีรายชื่อที่พรรคตนเคยเสนอไว้จะมีสิทธิเข้าชิงตำแหน่งนายกฯ แต่พรรคเล็กพรรคน้อยก็จะต้องไปขอเสียง สส.จากที่ไหนมาก็แล้วแต่ให้รวมแล้วได้ 50 คน เพื่อรับรองให้คนในรายชื่อของตนได้ผ่านเงื่อนไขพื้นฐานนี้ เพื่อไปชิงคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาทั้งหมด

ในแง่นี้พรรคเล็กพรรคน้อยที่อยากจะส่งคนชิงชัยตำแหน่งนายกฯ ก็จะต้องรวมตัวกับพรรคเล็กพรรคน้อยด้วยกันเท่านั้นถึงจะผ่านเงื่อนไขพื้นฐานนี้ ในขณะที่พรรคใหญ่กว่าที่มีคะแนนเสียงตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ไม่ต้องไปขอเสียงจากพรรคไหน เพราะลำพังพรรคตัวเองก็ผ่านเงื่อนไขพื้นฐานนี้ได้                                                         

3.คิดเล่นๆ ว่า ถ้าบุคคลที่จะมีสิทธิเข้าชิงตำแหน่งนายกฯ จะต้องมีเสียงรับรอง 50 เสียง จำนวนบุคคลมากที่สุดที่จะมีสิทธิชิงตำแหน่งนี้ จึงมีได้ไม่เกิน 10 คน เพราะสมาชิกสภาทั้งหมดมี 500 คน เพราะ สส.ที่รับรองให้ใครคนใดคนหนึ่ง ไม่สามารถรับรองให้คนอื่นอีกได้ แต่ใน 10 คนนี้ ก็ไม่น่าจะมีคุณสมบัติและบารมีเท่ากันจนเสียงแตกไม่สามารถมีใครได้เกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา (สส. 500+สว. 250) นั่นคือ เกิน 375 เสียง แต่นั่นเป็นการสมมติ เพราะในความเป็นจริงน่าจะมีพรรคบางพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากจนถือได้ว่าเป็นพรรคใหญ่แต่เป็นไปไม่ได้เลยที่พรรคใดจะชนะเลือกตั้งได้คะแนนเสียง สส.เกิน 375 เสียง อีกทั้งการพยายามที่จะรวบรวมเสียง สส.จากพรรคอื่นให้ได้เกิน 375 เสียง โดยไม่ต้องอาศัยเสียง สว.ก็น่าจะเป็นเรื่องยากมากด้วย ยกเว้นพรรคการเมืองทุกพรรคจะพร้อมใจกันทำอย่างไรก็ได้ที่จะทำให้การได้นายกฯ เป็นเรื่องของ สส. เท่านั้น                                                                

ขณะเดียวกัน สว. 250 คน ก็สามารถเป็นฝ่ายรุกในการเลือกนายกฯ ได้เช่นกัน นั่นคือ สว. 250 คน มีเอกภาพ และเดินหน้าหาเสียง สส.อีกอย่างน้อย 126 คน แต่คนที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ก็ยังจะต้องอยู่ในรายชื่อของพรรคการเมืองตามมาตรา 88 แต่ถ้ารัฐสภาคือ ทั้ง สว.และ สส.ไม่สามารถตกลงกันได้ตามรายชื่อก็ต้องหันไปอาศัยมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลมาปลดล็อก เพื่อเพิ่มตัวเลือกของคนที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ที่กล่าวไว้ว่า

“ในวาระเริ่มแรก เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 268 แล้ว หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกฯ จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้น เพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯ จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (สภาผู้แทนฯ 500+วุฒิสภา 250 = 750/2 ใน 3 คือ 300) ให้ยกเว้นได้ให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามมาตรา 159 ต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้”              

เมื่อปลดล็อกแล้วก็ต้องมาดูกันว่าใครที่จะได้เสียงเกินครึ่งของรัฐสภา (เกิน 375 เสียง) คนนั้นก็จะได้เป็นนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาล
ต่อไป                     

ถ้าใครอยากให้ สว.มีอำนาจในการเลือกนายกฯ ร่วมกับ สส.ก็ให้การรับคำถามพ่วง สว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แต่มาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาที่ตั้งขึ้นโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่า 9 คน แต่ไม่เกิน 12 คน มีหน้าที่ดำเนินการสรรหาบุคคล ซึ่งสมควรเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามมาตรา 269 ในร่างรัฐธรรมนูญและหากร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านประชามติก็จะมีการนำเอาเนื้อหาของคำถามพ่วงนี้ที่ผ่านประชามติไปเพิ่มเติมแก้ไขในรัฐธรรมนูญต่อไป แต่หากร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่านประชามติ แต่คะแนนเสียงรับคำถามพ่วงผ่านก็มีความเป็นไปได้สูงว่า เนื้อหาในคำถามพ่วงนี้จะไปปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะร่างขึ้นใหม่ด้วย และไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่นำเอาเนื้อหาของคำถามพ่วงที่ผ่านประชามตินี้ไปใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป