posttoday

การทำประชามติที่เสรีและโปร่งใส จะนำไปสู่ความมั่นใจและความชอบธรรม

26 กรกฎาคม 2559

โดย...สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน

โดย...สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน

การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดพื้นที่สำหรับการแสดงความเห็นและแลกเปลี่ยนมุมมองให้กับผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ นับเป็นสัญญาณเชิงบวกที่จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการหวนกลับสู่เส้นทางของระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น เราควรยินดีกับการทำประชามติครั้งนี้ เพราะนี่เสมือนเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการเตรียมความพร้อมสู่การปฏิรูปประเทศเชิงประจักษ์ในอนาคต เราต้องการให้คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางสำคัญของการบริหารประเทศครั้งนี้ การมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคนต้องเริ่มต้น ณ จุดนี้ ในช่วงเวลาที่มีการเปิดพื้นที่บางส่วนให้

แม้จะเหลืออีกไม่กี่วันก็จะถึงวันที่ 7 ส.ค. ซึ่งเป็นวันออกเสียงประชามติ แต่เมื่อมองบรรยากาศโดยทั่วไปในขณะนี้แล้ว ประชาชนยังไม่ให้ความสนใจ อีกทั้งยังแคลงใจเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติครั้งนี้ ซึ่งหวังที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศฉบับนี้ สาเหตุเนื่องจากมีการควบคุมอย่างเข้มงวด

การถกแถลงถึงข้อดีข้อด้อยของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ จะเป็นการปูรากฐานของวัฒนธรรมประชาธิปไตยของไทยในภายภาคหน้า

ต้องขอชื่นชม “กลุ่มพลเมืองที่ห่วงใย” (Platform of Concerned Citizens) สมาชิกและผู้ร่วมลงชื่อถ้อยแถลงของกลุ่มนี้ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นนักสู้เพื่อสังคม พวกเขาประกอบด้วยนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม นักวิจารณ์ทางการเมืองชื่อดัง และเหล่านักการเมืองระดับเป็นที่รู้จัก ที่ต่างได้ข้อสรุปว่าพวกเขาต้องการจะทิ้งความคิดที่แตกต่างไว้เบื้องหลังเพื่อประโยชน์ของชาติในการขอพื้นที่เพื่อปูทางประชาธิปไตยต่อไป

เราควรมอง “พื้นที่ประชาธิปไตย” ที่เกิดขึ้นใหม่นี้ว่า เป็นก้าวแห่งการเริ่มต้นสำหรับหนทางที่ยาวไกลและท้าทายของประเทศไทยในการสร้างสังคมที่ประชาชนจะมีบทบาทมากขึ้น มีเสถียรภาพและความปรองดองทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยดังที่เราเคยชื่นชมภายใต้ “รัฐธรรมนูญของประชาชน” ปี 2540

บาดแผลฉกรรจ์แห่งความแตกแยก ความขัดแย้งที่ซับซ้อน และปัญหาหลากหลายมิติที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่จะต้องไม่ได้รับการรักษาแบบเร่งด่วนเหมือนดั่งในอดีต ประเทศไทยยังคงอยู่ในช่วงทดลองระบอบประชาธิปไตย นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ก่อนที่ทุกประเทศในภูมิภาคนี้จะได้รับอิสรภาพจากเจ้าอาณานิคม จนถึงทุกวันนี้เรามีการเลือกตั้งทั่วไปมาแล้ว 25 ครั้ง ผ่านการรัฐประหารมาแล้ว 13 ครั้ง แสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยของไทยเปรียบได้กับการนั่งรถไฟเหาะที่ขึ้นลงอย่างรวดเร็ว หวาดเสียว เขย่าขวัญ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

เราได้สร้างรูปแบบวัฒนธรรม “เก้าอี้ดนตรีการเมือง” ระหว่างทหารและพลเรือนอย่างสมบูรณ์แบบในขณะที่ประชาชนเองก็เติบโตโดยการปรับตัว และเคยชินกับการรัฐประหารซ้ำซาก

ในอดีตความขัดแย้งเชิงอำนาจในการแต่งตั้งผู้นำทหารเคยนำไปสู่การก่อรัฐประหาร ความไม่ลงรอยระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและผู้นำทหาร เกี่ยวกับการแต่งตั้งหรือการเลื่อนตำแหน่งของผู้นำทางการทหาร บางกลุ่มอาจได้รับประโยชน์มากกว่าอีกกลุ่มล้วนมีการดึงทหารเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งสิ้น ภายหลังจากรัฐประหารและทหารได้เข้ามาบริหารประเทศระยะหนึ่ง หลังจากปัญหาความขัดแย้งและผลประโยชน์ของตนเองคลี่คลาย ทหารเริ่มรู้สึกว่าถึงเวลาที่ตนต้องวางมือไม่เหมาะและไม่มีความพร้อมในการบริหารและแก้ไขปัญหาอื่นๆ ของประเทศ ก็จะคืนอำนาจให้กับพลเรือน จนกลายเป็นวงจรที่วนไปมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แต่การปฏิวัติรัฐประหารครั้งนี้แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา สาเหตุของการที่ทหารต้องยึดอำนาจเกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง ประเทศกลายเป็นอัมพาต สัญญาณอันตรายที่ชัดเจนและดังขึ้นราวกับจะเกิดสงครามกลางเมือง ปัญหาของประเทศมากมายที่สั่งสมมาเป็นเวลาหลายปีถูกซุกเอาไว้ใต้พรมเรื่อยมา และประเทศเราก็ใช้วิธีการพิเศษ ชั่วครู่ เฉพาะกาล ในการรักษาอาการป่วยที่เรื้อรังของสังคมและประเทศมาตลอด ไม่ใช่การสร้างระบบและสถาบันกระบวนการที่มีประสิทธิภาพเพื่อแก้ปัญหาหลักระยะยาวของประเทศ

ในครั้งนี้ ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเมือง การบริหาร ระบบอุปถัมภ์ คอร์รัปชั่น การใช้อำนาจส่วนกลางที่มีมากเกินไป ความด้อยประสิทธิภาพและความอึดอัดของระบบราชการ การหาเศษหาเลยและพึ่งพาไม่ได้ของข้าราชการ ความเหลื่อมล้ำและความยากจนที่ขยายวงกว้าง ระบบการศึกษาที่ล้าสมัย และเศรษฐกิจไทยที่ขาดความสามารถทางการแข่งขัน ปัญหาเหล่านี้มีสาเหตุมาจากความวุ่นวาย ไร้ประสิทธิภาพทางการเมืองทั้งสิ้น

นักการเมืองคือส่วนสำคัญกลุ่มหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบ ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองครั้งนี้ และจำเป็นต้องสำนึกผิดกับสิ่งที่ตนได้ทำลงไป เพราะที่ผ่านมาพวกเขาจำนวนมากใช้ประโยชน์ของระบอบประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ส่วนตัว เสียงข้างมากถูกใช้เป็น “ใบอนุญาต” หรืออาชญาบัตรสัมปทานประเทศ อ้างชัยชนะจากการเลือกตั้งมาสร้างความชอบธรรม คำว่า “ประชาธิปไตย” ถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ การฉ้อราษฎร์บังหลวง การใช้อำนาจในทางที่ผิด ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

องค์กรต่างๆ ในระบอบประชาธิปไตยถูกตั้งไว้บนแท่นบูชา กลายเป็นแค่เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง การเลือกตั้ง องค์กรตรวจสอบและถ่วงดุล สถาบันนิติบัญญัติ เป็นแค่ส่วนประกอบเพื่ออำพรางมหันตภัยของผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม สังคมเรากำลังป่วยขั้นรุนแรง เศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืนและไม่เท่าเทียมกลับหยั่งรากลึก ความตึงเครียดทางการเมืองและความขัดแย้งของประชาชนทวีความรุนแรง จะส่งผลให้ระบบทั้งหมดพังพินาศลงได้

ในขณะที่กลุ่มการเมืองคือผู้ที่ก่อเหตุ ต้องร่วมรับผิดชอบสำหรับเหตุการณ์ทุลักทุเลทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา แต่การบริหารประเทศโดยทหารในระยะยาวก็ไม่ใช่ทางออกเช่นกัน แม้ประเทศจะต้องเผชิญกับปัญหาที่สั่งสมมานานมากเพียงใด ความชอบธรรมเดียวที่รัฐบาลทหารสามารถพูดได้คือการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศเพื่อกลับเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่งโดยเร็ว ไม่ควรจะสับสนว่าการที่ได้บริหารประเทศเป็นเวลานานคือความสำเร็จ นั่นคือแนวคิดของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่รัฐบาลจากการรัฐประหารที่ถูกต้อง สำหรับรัฐบาลทหาร การเข้ามามีอำนาจบริหารในระยะสั้นที่สุด จัดการโครงสร้างการบริหารให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมทางการเมืองที่สมบูรณ์มากขึ้นในอนาคต จะเป็นผลงานที่ดีที่สุดที่รัฐบาลทหารจะทำได้

พื้นที่ที่เคยถูกปิดกั้นสำหรับการวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญถูกเปิดให้กว้างขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า คณะทหาร คสช. ตระหนักถึงปัญหาและสิ่งท้าทายข้างต้น สำหรับผลประโยชน์ของประเทศในระยะยาวแล้ว การกลับสู่ประชาธิปไตยเต็มใบคือหนทางเดียว ปัญหาทางเศรษฐกิจจะถูกแก้ไขโดยแนวทางระยะสั้นตลอดไปไม่ได้ การลงทุนในประเทศและต่างประเทศไม่ได้รับความสนใจเพราะขาดความมั่นใจในสถานการณ์ การส่งออกคาดการณ์ว่าจะไม่เพิ่มขึ้น ปัญหาคอร์รัปชั่น ฉ้อราษฎร์บังหลวงยังมีอยู่ การใช้อำนาจในทางมิชอบยังมีเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าเกษตรจะไม่กระเตื้อง การบริโภคภายในประเทศจะไม่สูงขึ้น ความกดดันจากนานาชาติและการจำกัดความร่วมมือจะยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นผลดีกับประเทศไทยของเราในระยะยาวแต่อย่างใดเลย

แต่สัญญาณที่น่ากลัวที่สุดสำหรับปัญหาในอนาคตคือความเหนื่อยล้า บ่นเบื่อ ของประชาชนที่มีต่อระบอบประชาธิปไตย ดูเหมือนว่าคนรุ่นใหม่จะไม่สนใจการเมืองในจำนวนมากยิ่งขึ้นและรู้สึกถึงความไม่มีประสิทธิภาพต่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ความคิดที่ว่าไม่ไว้วางใจในการเมืองและความไม่อยากมีส่วนร่วมที่คนรุ่นใหม่มีนั้นไม่ใช่สิ่งที่พึงปรารถนาเมื่อประเทศเรากลับเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตยอย่างแน่นอน

เราควรนำสิ่งที่ “กลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย” (Platform of Concerned Citizens) ได้พยายามทำ และถือเอาเสียงตอบรับสนับสนุนจากหลายภาคส่วนเป็นจุดยืนร่วมกันถึงสถานการณ์ที่สำคัญนี้ การอภิปรายและการแสดงความเห็นที่จะมีมากขึ้นทั่วประเทศ เวทีต่างๆ ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มที่เกี่ยวข้องจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ซึ่งนับเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการเยียวยาและกู้สถานการณ์ความขัดแย้งในหมู่ผู้มีสิทธิลงคะแนน การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเสรีไร้กรอบจำกัด เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของประชาธิปไตย ประชาชนต้องตัดสินใจอย่างมีข้อมูลเพื่อกำหนดอนาคตของพวกเขาตามที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ และกระบวนการนี้จะสร้างความชอบธรรมให้กับการทำประชามติเองด้วย

ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยเขาจะออกเสียง “รับ” หรือ “ไม่รับ” ไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่ากับ “การมีส่วนร่วม” ในกระบวนการประชาธิปไตยที่โปร่งใสเป็นธรรม พวกเราจำเป็นจะต้องรักษาแก่นแท้ของประชาธิปไตยนี้ให้ยังคงอยู่ ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร ผู้นำทุกฝ่ายจะต้องเคารพความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการประชาธิปไตย และนั่นคืออนาคตร่วมที่สดใส มีคุณภาพของพวกเราทุกคน

สำหรับคณะทหาร คสช.แล้ว นี่คงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างคุณูปการทางการเมือง ด้วยการมอบสิ่งที่มีค่าชิ้นสำคัญของประเทศให้แก่คนรุ่นลูกรุ่นหลาน การตัดสินใจเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผล นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในธรรมชาติแห่งอำนาจซึ่งลื่นไหลได้ตลอดเวลา และตระหนักรู้ความเป็นจริงของการเมืองไทยซึ่งแปรปรวนได้อย่างรวดเร็ว ยังจะสะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาดีที่ คสช.มีต่อสังคมไทยอีกด้วย