posttoday

ห่วงสัตว์ป่าสูญพันธุ์เร่งพัฒนาศูนย์สืบพันธุ์เต็มรูปแบบ

27 พฤศจิกายน 2558

องค์การสวนสัตว์ ห่วงสัตว์ป่าสูญพันธุ์ ปี 59 เร่งพัฒนาศูนย์นวัตกรรมสืบพันธุ์สัตว์ป่าเต็มรูปแบบ

องค์การสวนสัตว์ ห่วงสัตว์ป่าสูญพันธุ์ ปี 59 เร่งพัฒนาศูนย์นวัตกรรมสืบพันธุ์สัตว์ป่าเต็มรูปแบบ

องค์การสวนสัตว์ เป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานตามพันธกิจหลักด้านการอนุรักษ์ วิจัย สัตว์ป่าหายากของประเทศไทย อาทิ นกกระเรียนพันธุ์ไทย ละมั่ง เสือลายเมฆ  และ สัตว์ป่าหายาก   ของโลกชนิดสำคัญ อาทิ ค่างห้าสี จึงส่งผลให้องค์การสวนสัตว์เป็นผู้นำที่มีบทบาทสำคัญในการขยายพันธุ์สัตว์ป่านอกถิ่นอาศัยต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาหลายปี
 
ปัจจุบัน องค์การสวนสัตว์ มีความพยายามในการศึกษาและประยุกต์ใช้ในสัตว์ป่าหายากที่ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด ได้แก่ ละมั่ง เสือลายเมฆ นกกระเรียนพันธุ์ไทย เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านการสืบพันธุ์ และช่วยรักษาความหลากหลายพันธุกรรม
        
นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ ได้เปิดเผยถึงความสำเร็จ ของศูนย์นวัตกรรมทางการสืบพันธุ์สัตว์ป่า ว่า องค์การสวนสัตว์มีเป้าหมายเพื่อขยายพันธุ์และอนุรักษ์สัตว์ป่าหายาก โดยปัจจุบันได้มีการสร้างธนาคารพันธุกรรมหรือสวนสัตว์แช่แข็ง เพื่อเก็บตัวอย่างพันธุกรรมของสัตว์นานาชนิด เพื่อการวิจัยและเพาะพันธุ์เพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าหายากไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ ซึ่งจะดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบในปี 2559 นี้ ซึ่งที่ผ่านมาองค์การสวนสัตว์ ประสบความสำเร็จด้านการ ผสมเทียมละมั่ง การผสมเทียมเสือลายเมฆ และ การเพาะขยายพันธุ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย โดยศูนย์ดังกล่าวเป็นศูนย์นวัตกรรมแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศ

ทางด้าน น.สพ. ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และวิจัย องค์การสวนสัตว์ ได้อธิบายถึงสถานการณ์ของสัตว์ป่าสงวนทั้ง 15 ชนิด ว่า ขณะนี้เหลือเพียง 7-8 ชนิด เช่น เก้งหม้อ สมเสร็จ เนื้อทราย กวางผา ละมั่ง และนกกระเรียนพันธุ์ไทย ซึ่งในส่วนของนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่หายจากธรรมชาติไปแล้วไม่ต่ำกว่า 40 ปี โดยทางสวนสัตว์นครราชสีมาได้ทำการเพาะขยายพันธ์ จนสามารถผลิตนกกระเรียนที่รอดชีวิตได้ปีละ10-20 ตัว และปี 2550-2554 ได้ทดลองปล่อยนกกระเรียนกลับ สู่ธรรมชาติ จนขณะนี้มีจำนวน 70 ตัว

“แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ละมั่งพันธุ์ไทย เนื่องจากเหลือเพียง 50 ตัวในประเทศ ทำให้เกิดการผสมภายในเครือญาติ พบปัญหาเลือดชิดทำให้อัตราได้ลูกละมั่งในปริมาณน้อยลง อีกทั้งยังมีสุขภาพอ่อนแอเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ขณะที่จำนวนละมั่งพันธุ์พม่าในไทยถือว่ามีจำนวนมาก ได้มีการปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ โดยมีการคัดเลือกตัวที่สุขภาพดี เก็บพันธุกรรมชั้นดีของทั้งตัวผู้และตัวเมีย ก่อนติดปลอกคอแล้วปล่อยคืนสู่ป่า” น.สพ. ดร.บริพัตร กล่าว

สำหรับการจัดตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมทางการสืบพันธุ์สัตว์ป่า” (Wildlife Reproductive Innovation Center) ดำเนินงานภายใต้สถาบันอนุรักษ์ วิจัยสัตว์ป่าหายาก องค์การสวนสัตว์ ส่งผลให้ปัจจุบันงานวิจัยสัตว์ป่าขององค์การสวนสัตว์ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะงานด้านการ เพาะขยายพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพทางการสืบพันธุ์ ซึ่งช่วยในการเพิ่มศักยภาพการเพาะขยายพันธุ์สัตว์ โดยวิธีการเก็บรักษาน้ำเชื้อแช่แข็ง ผสมเทียม การย้ายฝากตัวอ่อน การปฏิสนธิภายนอกร่างกาย และ การโคลนนิ่ง.