posttoday

ลุยเปิดแผนปฏิบัติการประชารัฐฯสมุทรปราการ

26 มีนาคม 2559

ป.ป.ส. จับมือมหาดไทย ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลุยเปิดแผนปฏิบัติการประชารัฐฯ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ

ป.ป.ส. จับมือมหาดไทย ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลุยเปิดแผนปฏิบัติการประชารัฐฯ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ   

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. เวลา 10.00 น. นายณรงค์ รัตนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) พร้อมด้วย นายธนู บุญเลิศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ พล.ต.ต. ธรรมนูญ ไตรทิพยพงศ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ และนายสุนทร วินัยบดี ผู้อำนวยการ ปปส.ภาค 1 ลงพื้นที่ชุมชน หมู่ 4 (บ้านใหญ่) ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานแผนปฏิบัติการ “ประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้านชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด” พร้อมรับฟังปัญหา/ข้อร้องเรียนจากประชาชนทั้งเรื่องยาเสพติดและอื่นๆ ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ของหน่วยงานต่างๆ และให้กำลังใจผู้ผ่านการบำบัดรักษายาเสพติดในชุมชน ที่เป็นตัวอย่างกลับใจเลิกยาเสพติดหันหน้าประกอบอาชีพสุจริต

จากข้อร้องเรียนของประชาชนที่ปรากฏผ่านทางสื่อมวลชน และมีการแจ้งเบาะแสยาเสพติดผ่าน สายด่วน สำนักงาน ป.ป.ส. 1386 เรื่องปัญหาและการแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่ ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ซึ่งบ่งชี้ถึงสภาพปัญหายาเสพติดในพื้นที่ชุมชน ต.สำโรงเหนือ ว่ามียาเสพติดแพร่ระบาดสร้างความเดือดร้อนและก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในชุมชน ต.สำโรงเหนือ สำนักงาน ป.ป.ส. โดย สำนักงาน ปปส. ภาค 1 จึงได้ร่วมกับจังหวัดสมุทรปราการ กระทรวงมหาดไทย ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เป็นการเร่งด่วน เพื่อเข้าดำเนินการปราบปรามจับกุมและบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในพื้นที่ ต.สำโรงเหนือ และพื้นที่โดยรอบ เพื่อทำการกวาดล้างปัญหายาเสพติดและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งนี้ภายหลังจากการเข้าดำเนินการดังกล่าวแล้ว สำนักงาน ป.ป.ส. จึงได้กำหนดให้ ชุมชนบ้านใหญ่ หมู่ 4 ตำบลสำโรงเหนือ เป็นพื้นที่เป้าหมายตาม “แผนประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้าน/ชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ. 2559 - 2560” โดยดำเนินการครอบคลุมทั้ง 4 ชุมชน ประกอบด้วย (1) ชุมชนนิยมเคหะ (2) ชุมชนบ้านใหญ่ 1 (3) ชุมชนลิขิต 4 พัฒนา และ (4) ชุมชนลิขิต 4 ดีพร้อม โดยเน้นการแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วย “กลไกประชารัฐ” บูรณาการทุกภาคส่วนร่วมกัน ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนตามแนวทาง 9 ขั้นตอน

1. การสืบสภาพชุมชน เป็นการทำความเข้าใจกับสภาพแวดล้อมชุมชน พร้อมเผยแพร่แนวคิด การแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนได้ ต้ออาศัยความสามัคคี การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเพื่อดูแลชุมชนของตน

2. พบปะแกนนำ/ผู้นำธรรมชาติ ที่ได้รับความศรัทธาจากคนในชุมชน และจะเป็นตัวแทนชุมชนในการประสานงานกับภาครัฐซึ่งจะให้การสนับสนุน ผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

3. ประกาศวาระหมู่บ้าน/ชุมชน (ประชาคม ครั้งที่ 1) เพื่อให้ชาวบ้านคัดเลือกผู้นำทางธรรมชาติ จัดตั้งคณะกรรมการชุมชนเข้มแข็ง ทั้งผู้นำทางการของหมู่บ้านชุมชน และผู้นำทางธรรมชาติร่วมกันคัดเลือกกรรมการเพื่อเป็นองค์กรแกนนำในการสร้างและใช้พลังชุมชนในการแก้ปัญหายาเสพติดและปัญหาอื่นในชุมชน

4. รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ให้ทุกครัวเรือนเข้าใจแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน

5. คัดแยกผู้มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด (ประชาคม ครั้งที่ 2) ตามแนวคิดที่ว่า “ปัญหายาเสพติดอยู่ที่ผู้เสพและผู้ค้าโดยผู้เสพเป็นฐานให้แก่ผู้ค้าหากไม่มีผู้เสพผู้ค้าก็อยู่ไม่ได้” การคัดแยกก็เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เสพ

6. แนวทางการป้องกันยาเสพติด บูรณาการการทำงานในชุมชน ระหว่างชุมชน สถานศึกษา และสถานประกอบการ การสร้างภูมิคุ้มกันเยาวชนในและนอกสถานศึกษา และผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการ

7. การรับรองครัวเรือน (ประชาคม ครั้งที่ 3) เพื่อรับรองครัวเรือนที่ไม่มีสมาชิกเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และยกย่องให้เป็นครัวเรือนปลอดยาเสพติด

8. การใช้มาตรการทางสังคม ดำเนินการต่อผู้มีพฤติกรรมที่เกี่ยวข้อง ผู้เสพจะถูกนำตัวเข้าบำบัดตามความเหมาะสมในแต่ละราย ผู้ค้ารายย่อยที่ค้าเพื่อหาเงินมาเสพจะถูกนำเข้าบำบัด ส่วนผู้ค้ารายย่อยอื่นๆ จะถูกกระแสสังคม ชุมชนให้เลิกค้า เพราะไม่มีผู้เสพในชุมชน

9. การรักษาสถานะ/ดำรงความเข้มแข็งหมู่บ้าน/ชุมชน และสร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของการสร้างชุมชนให้ปลอดยาเสพติดอย่างยั่งยืน บทบาทของคณะกรรมการชุมชนเข้มแข็งจึงต้องเป็นแกนนำ ในการระดมความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน และรักษาให้คงไว้เพื่อไม่ให้ยาเสพติดหวนกลับมา

นายณรงค์ กล่าวว่า “การลงพื้นที่ในวันนี้ เป็นการเปิดแผนปฏิบัติการประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้านชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ตามนโยบายของ พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยเริ่มดำเนินการแผนปฏิบัติการประชารัฐฯ ห้วงแรก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - พฤษภาคม 2559 ในพื้นที่แพร่ระบาดรุนแรง และประเมินผลการปฏิบัติงานตามแผนฯ ก่อนขยายไปสู่หมู่บ้านชุมชนทั่วประเทศตามสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่  สำหรับมาตรการที่ใช้ดำเนินการตาม  แผนประชารัฐฯ เน้นปฏิบัติการใน 3 มาตรการหลัก คือ ปราบปราม ป้องกัน และบำบัดรักษา ด้านการปราบปราม ใช้ยุทธการหน้าบ้านปลอดภัยเน้นการปราบปรามยาเสพติดหน้าบ้าน ใช้มาตรการทางด้านการข่าวในหมู่บ้าน  เพื่อดำเนินการกับ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งจับกุมและยึดทรัพย์ตามกฎหมาย รวมถึงดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ และปรับทัศนคติการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงให้กับประชาชนในหมู่บ้านชุมชน ด้านการป้องกัน ดำเนินการโดยใช้ทีมวิทยากรมวลชนเกาะติดในพื้นที่หมู่บ้านชุมชน ควบคู่กับการสร้างและพัฒนาแกนนำประชาชน เพื่อสร้างหมู่บ้านชุมชนเข้มแข็ง สร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดในสถานศึกษา ศูนย์เยาวชน รวมไปถึงสถานประกอบการวิสาหกิจชุมชน ด้านการบำบัดรักษา เริ่มดำเนินการด้วยกระบวนการประชาคมค้นหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติด และนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ในระบบต่างๆ โดยใช้ศูนย์คัดกรองอำเภอเป็นตัวกลางในการคัดกรอง โดยเน้นการบำบัดรักษาฯ ผ่านค่ายศูนย์ขวัญแผ่นดิน ศูนย์ฟื้นฟูกึ่งถาวร ฯลฯ พร้อมทั้งดำเนินการติดตามด้วยระบบคุณภาพ และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษาฯ ภายหลังการบำบัด เพื่อสร้างชุมชนให้ปลอดภัยยาเสพติดอย่างยั่งยืน”

บ้านใหญ่ หมู่ 4 ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ตั้งอยู่ในพื้นที่เทศบาลตำบลด่านสำโรง ปัจจุบันมีจำนวนครัวเรือนอยู่ 3,636 ครัวเรือน มีประชากร 13,750 คน โดยมีกลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 7 - 15 ปี  จำนวนประมาณ 1,200 คน และพบว่าประชาชนในพื้นที่ไม่มีความสัมพันธ์ฉันเครือญาติแบบดั้งเดิม ไม่ค่อยผูกพันกัน สภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยเป็นบ้านเรือนกระจุกกันอย่างหนาแน่น โดยมีบ้านเช่า/ห้องเช่า และมีหอพัก/อพาร์ทเม้นท์ให้เช่า กระจายตัวอยู่โดยรอบ มีประชากรต่างถิ่นและประชากรแฝง อาศัยอยู่ตามหอพักและบ้านเช่า การประกอบอาชีพค่อนข้างหลากหลาย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง ใช้แรงงานตามโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ส่งผลให้เกิดปัญหายาเสพติด