posttoday

ศธ.เล็งใช้ ม.44 สางปัญหาเรื่องรังอุดมศึกษา

06 มิถุนายน 2559

ปลัดศธ.เผยเตรียมใช้อำนาจตามมาตรา44 แก้ปัญหาเรื้อรังหลายเรื่องในวงการอุดมศึกษา

ปลัดศธ.เผยเตรียมใช้อำนาจตามมาตรา44 แก้ปัญหาเรื้อรังหลายเรื่องในวงการอุดมศึกษา

นพ.กำจร ตติยกวี  ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า กระทรวงศึกาาธิการ(ศธ.) เตรียมจะใช้อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ สถาบันอุดมศึกษา

ทั้งนี้ เนื่องจาก พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศธ. เล็งเห็นว่า ปัญหาวงการอุดมศึกษาหลายเรื่อง เป็นปัญหาเรื้อรั้งมานาน แม้จะพยายามจัดทำร่าง พ.ร.บ.อุดมศึกษา และ การก่อตั้งกระทรวงอุดมศึกษา เพื่อเข้ามาช่วยแก้ปัญหาต่างๆ แต่กลับมีแรงต่อต้านจากมหาวิทยาลัยบางส่วนที่มองว่าใช้กฎหมายเข้ามาควบคุมมากเกินไป  ซึ่งในที่สุดเราจำเป็นต้องชะลอการก่อตั้งกระทรวงอุดมศึกษาเอาไว้ก่อน  

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาเนื่องจาก อุดมศึกษามีปัญหาที่แก้ไม่ได้หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดหลักสูตรรับนักศึกษาจำนวนมากโดยไม่คำถึงคุณภาพจนทำให้บัณฑิตระดับปริญญาโทและเอกล้นตลาดเกินความจำเป็นกว่าที่ภาครัฐต้องการ แต่ปัญหาทั้งหมดคงโทษใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ เพราะระบบบริหารจัดการที่บีบรัดจนเกินไปทำให้เกิดปัญหา เช่น อาจารย์ต้องมีชั่วโมงสอนเพียงพอ เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีรายได้ทั้งที่รัฐก็ได้จัดสรรงบประมาณให้ เป็นต้น 

นพ.กำจรกล่าวว่า ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นไม่สามารถจัดการด้วยระบบที่มีอยู่ แม้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สั่งให้ทบทวนเรื่องที่เกิดขึ้นก็ไม่เคยได้รับความร่วมมือ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไม้แข็งอย่างอำนาจพิเศษมาตรา 44 เข้าไปจัดการ โดยยึดหลักธรรมมาภิบาลเป็นหลัก ซึ่งมหาวิทยาลัยที่ปฎิบัติดีไม่ต้องกังวล เพราะกฎหมายพิเศษจะไปดูแลเฉพาะปัญหาเรื้อรังที่กระทบต่อการจัดการศึกษาเท่านั้น

"การใช้อำนาจในมาตรา 44 นั้น จะครอบคลุมทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน โดยเฉพาะประเด็นมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี (มกธ.) ที่คุรุสภาไม่ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา ให้แก่นักศึกษา จำนวน 2,500 คน เนื่องจาก มกธ.ขออนุญาตเปิดหลักสูตรกับสกอ.500 คน แต่รับสมัครนักศึกษา จำนวน 2,000 คน ซึ่งเท่ากับว่าการผลิตบัณฑิตไม่ตรงกับการขอเปิดหลักสูตรและยังไม่มีคุณภาพด้วย ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ม.44 จะเข้าไปจัดการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ โดยดูควบคูไปกับ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 ให้ยกเลิกใบอนุญาตจัดตั้งได้ รวมถึงการสรรหาอธิการบดีและกรรมการสภามหาวิทยาลัย  เพราะเท่าที่ทราบนายกสภามหาวิทยาลัยมีรายชื่อเป็นนายกสภาอยู่หลายแห่งเช่นกัน" นพ.กำจรกล่าว