posttoday

กัญจนิดา ตันติสุนทรทายาทรุ่น3ต่อยอดยิ่งเจริญ สแควร์ดึงคนรุ่นใหม่

16 เมษายน 2567

กัญจนิดา ตันติสุนทร ทายาทรุ่น 3 แห่งตลาดยิ่งเจริญ ต่อยอดยิ่งเจริญ สแควร์ (Yingcharoen Square) ดึงคนรุ่นใหม่ใช้บริการ ติดอาวุธดิจิทัลมุ่งนำ data มาใช้เพื่อการบริหารธุรกิจภายใน 3-5 ปี พร้อมนำ AI ข่วยวิเคราะห์

KEY

POINTS

  • กัญจนิดา ตันติสุนทร ทายาทรุ่น 3 แห่งตลาดยิ่งเจริญตีโจทย์ Zero Waste เปลี่ยนขยะให้เป็นปุ๋ย
  • เปิดตัวยิ่งเจริญ สแควร์ ผลักดันตลาดสดสู่ตลาดผสมผสานแบบสากล ดึงคนรุ่นใหม่ใช้บริการ
  • ติดอาวุธดิจิทัลมุ่งนำ data มาใช้เพื่อการบริหารธุรกิจภายใน 3-5 ปี พร้อมนำ AI ข่วยวิเคราะห์

ตลาดสดยิ่งเจริญก่อขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของอดีตแม่ค้าขายข้าวแกงอย่างสุวพีร์ ธรรมวัฒนะ (คุณยาย) ที่นำเงินเก็บที่ได้จากงานในหลากหลายอาชีพมาเป็นทุนทำธุรกิจตลาดสดในย่านสะพานใหม่ตั้งแต่เมื่อ 70 ปีก่อน ด้วยเล็งเห็นว่าต่อไปย่านสะพานใหม่จะเป็นชุมชมขนาดใหญ่ที่มีผู้คนมาอยู่อาศัยกันมากมายในอนาคต และเติบโตมาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันมีณฤมล ธรรมวัฒนะ เป็นผู้นำหลักในฐานะประธานกรรมการบริหาร

"กิ๊ฟ (กัญจนิดา ตันติสุนทร) เป็น gen ที่สามซึ่งเข้ามาช่วยตั้งแต่ 8 ปีก่อน แต่ก่อนนี้ก็มีพี่น้องและลูกหลานหลายคนที่มาดูแลตั้งแต่เมื่อคุณยายยังอยู่ ทั้งคุณลุง คุณป้า คุณอาแต่ละคนก็มีความเก่งทุกคนและพัฒนาตลาดต่อเนื่องจนมาถึงทุกวันนี้ให้เจริญรุ่งเรืองในทุกยุคทุกสมัยก็ว่าได้ จนปัจจุบันมีคุณแม่ (ณฤมล ธรรมวัฒนะ) มาบริหารต่อ" จากคำบอกเล่าของกัญจนิดา ตันติสุนทร ผู้เป็นทั้งทายาทรุ่น 3 และกรรมการบริหาร บริษัท สุวพีร์ โฮลดิ้ง จำกัด 

ทั้งนี้ด้วยการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันตลาดยิ่งเจริญมีร้านค้าหลายรูปแบบ และเน้นให้บริการครบวงจร ด้วยพื้นที่ตลาดรวม 32 ไร่ ที่จอดรถ 820 คัน มีแผงร้านค้าประจำ 1,500 แผง และแผงรายวัน 200 แผงซึ่งค้าขายกันตลอด 24 ชั่วโมง ขณะที่มีจำนวนผู้เข้าใช้บริการไม่ต่ำกว่า 25,000 คนต่อวัน รถหมุนเวียนกว่า 8,000 คันต่อวัน 

สำหรับหนึ่งในโจทย์หลักของการบริหารตลาดยิ่งเจริญในวันนี้นั้น กัญจนิดาเล่าว่าการดูแลสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมในบริเวณตลาดก่อน เพื่อความยั่งยืนของทั้งตัวธุรกิจและชุมชนรอบด้าน ทั้งนี้อยู่ระหว่างทำความร่วมมือในการพัฒนาเครื่องมือการแปรรูปขยะเปียกเป็นปุ๋ยกับพาร์ทเนอร์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งแต่ละวันมีจำนวนขยะเปียกมากถึง 10 ตันจากจำนวนขยะทั้งหมด 15 ตันต่อวัน 

เริ่มจากตัวเราก่อนในการจัดการเรื่องขยะที่มีมากถึง 15 ตันต่อวัน โดยมีทั้งการคัดแยกขยะและส่งพนักงานไปเทรน เพื่อนำไปสู่การลดจำนวนขยะหรือนำขยะไปทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุดตามแนวทาง “ขยะเป็นทอง”  และให้ไปถึง zero waste ได้แม้จะยังไกลเกินไป

กัญจนิดา ตันติสุนทรทายาทรุ่น3ต่อยอดยิ่งเจริญ สแควร์ดึงคนรุ่นใหม่

ต่อยอดยิ่งเจริญ สแควร์ 

อย่างไรก็ตามเมื่อไม่นานนี้ครอบครัวได้ฉลองตลาดยิ่งเจริญครอบรอบ 70 ปี ด้วยการเปิดตัวโครงการใหม่คือ ดังนั้นยิ่งเจริญ สแควร์ (Yingcharoen Square) ด้วยมุ่งหวังคว้าโอกาสและต่อยอดจากความนิยมจับจ่ายใช้สอยของผู้คนที่เข้ามาใช้บริการในตลาดยิ่งเจริญอยู่ตลอดวัน โดยมองว่าเป็นการสร้างแลนด์มาร์คแหล่งช้อปปิ้งใหม่ เพื่อผลักดันตลาดสดสู่ตลาดผสมผสานมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ยิ่งเจริญ สแควร์ ตั้งอยู่บนทำเลใจกลางย่านสะพานใหม่ เป็นคอมมูนิตี้มอลล์ ที่จัดสรรพื้นที่ในตลาดยิ่งเจริญ ติดคลองลำผักชีที่ทางตลาดดำเนินโครงการ “คิดจากคลอง” ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูสภาพน้ำในคลองโดยปัจจุบันพบว่าค่า BOD ในน้ำดีขึ้นเป็นลำดับ ในรูปแบบอาคารผสมผสานร่วมสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความสูงรวม 4 ชั้น พื้นที่กว่า 16,000 ตารางเมตร โดยคาดว่าภายในปี 2567 จะทำรายได้ประมาณ 100 ล้านบาท และสามารถคืนทุนได้ภายใน 8 ปี

อีกจุดเด่นของยิ่งเจริญ สแควร์ คือถูกออกแบบให้เป็นอาคารประหยัดพลังงาน ที่มีการระบายอากาศตามธรรมชาติทำให้ตัวอาคารเย็นสบายพร้อมมีพื้นที่สวน ภายในอาคารสร้าง common space ที่มีพื้นที่ outdoor เป็นพื้นที่คนอยู่สบายและนั่งเล่นได้ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคที่อยู่ใกล้ตลาดมาใช้ชีวิต ผ่อนคลายหลังเลิกงานหรือพาลูกมาเดินเล่น ด้วยบรรยากาศแตกต่างจากห้าง ทั้งนี้ยิ่งเจริญ สแควร์เปิดให้บริการแล้วกว่า 85% และคาดการณ์ว่าจะเปิดเต็มพื้นที่ภายในไตรมาส 2 ปี 2567 นี้

ทั้งนี้ ยิ่งเจริญ สแควร์ ยึดกลยุทธ์สำคัญตามแนวคิด SEC ซึ่งประกอบไปด้วย

● S-Sustainability คิดเพื่อพัฒนาความยั่งยืน มุ่งลดผลกระทบกับทุกคนในสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่แบบระยะยาวไปถึงคนรุ่นต่อไปในอนาคต

● E-Environment Friendly ยึดถือสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ โดยการสร้างคอมมูนิตี้มอลล์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้านการอนุรักษ์พลังงาน

● C-Community Participation ส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่นมีกิจกรรมร่วมกันกับครอบครัวเพื่อนฝูง และยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่กับชาวต่างชาติ

มองว่า community mall นี้จะช่วยตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ให้เข้ามาใกล้ชิดตลาดสดมากขึ้นจากที่ก่อนนี้อาจไม่เคยเดิน แต่เมื่อมาแล้วได้เห็นตลาดสดยิ่งเจริญ ที่สะอาด เดินง่ายราคาก็ถูกด้วย ไม่ได้ร้อน และไม่ได้เหม็น

กัญจนิดา ตันติสุนทรทายาทรุ่น3ต่อยอดยิ่งเจริญ สแควร์ดึงคนรุ่นใหม่

ติดอาวุธดิจิทัลดึง data ช่วยวิเคราะห์

สำหรับแผนงานบริหารกิจการตลาดยิ่งเจริญในระยะต่อไปนั้น กัญจนิดาเล่าว่าจะเริ่มนำเรื่องการนำข้อมูล หรือ data มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งนี้คาดว่าภายใน 3-5 ปีข้างหน้าจะใช้พวก Microsoft power BI ในการทำรายงานข้อมูลทั้งหมด เพื่อให้ได้เห็นข้อมูลในหลายแง่มุม  โดยจะนำไปสู่การบริการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ตลอดจนเกิดธรรมภิบาลยิ่งขึ้น

โดยปัจจุบันได้เริ่มเก็บ data ต่าง ๆ เช่น จำนวนลูกค้า ปริมาณรถเข้าออก ฯลฯ แล้วจึงเริ่มพัฒนาระบบเพื่อให้สามารถนำข้อมูลต่าง ๆ ที่รวบรวมไว้มาวิเคราะห์ เพื่อการบริหารต่อไป นอกจากนี้ยังจะมีการนำ AI  มาใช้ในการวิเคราะห์ตัวเลขและติดตามพวกกระแส social listening ต่าง ๆ อีกด้วยในอนาคต

เราอยากเห็นข้อมูลเป็นเหมือน dashboard เลยว่าจุดไหนมีปัญหาอะไร ด้วยตัว data ตรงนี้จะเป็นสัญญาณบอกก่อนล่วงหน้าว่าจะเกิดเหตุอะไร แล้วสามารถเข้าไปแก้ไขตรงนั้นได้ทัน และไม่อยากให้องค์กรขึ้นอยู่กับคนใดคนหนึ่ง อยากจะสร้างระบบที่ดี อันนี้เป็นหนึ่งในความยั่งยืน ที่รู้สึกว่าเราจะสร้างให้กับที่นี่ได้

อย่างไรก็ตาม ตลาดยิ่งเจริญเองก็เคยพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ "ส่งสด"  (Songsod) มาสนับสนุนธุรกิจและตอบโจทย์คนรุ่นใหม่มาก่อนนี้แล้วในปี 2560  ในรูปแบบบริการ Food Supply ที่จัดส่งอาหารและวัตถุดิบที่ครอบคลุมทุกหมวดหมู่จากตลาดยิ่งเจริญและจากแหล่งอื่น ๆ ที่สามารถสั่งผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้ง Website (www.songsod.com ) Facebook (www.facebook.com/songsoddelivery) Line (@songsod) และ App (Songsod App) จนปัจจุบันแพลตฟอร์มส่งสดทำรายได้รวมที่ราว 30 ล้านบาทต่อปี และมี active user กว่า 390 ราย แล้ว 

ทั้งนี้นับเป็นจังหวะดีที่บริษัทพัฒนาแพลตฟอร์มส่งสดมาตั้งแต่ช่วงก่อนโควิดจะแพร่ระบาดทำให้ตอนที่มีมาตรการปิดตลาดสดและไม่ให้ผู้คนออกจากบ้าน จึงมีผลจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และยังใช้อย่างต่อเนื่องอยู่จนถึงวันนี้ ซึ่งช่องทางที่คนนิยมมากสุดในปัจจุบันคือการสั่งสินค้าผ่าน Line (@songsod) 

ถอดบทเรียน Smart SME 

ในฐานะทายาทธุรกิจครอบครัวที่สืบทอดกิจการมายาวนานถึง 70 ปีนั้น กัญจนิดาเน้นย้ำบทเรียนในการทำธุรกิจที่สำคัญว่าคือ "การที่เราไม่หยุดเรียนรู้" ด้วยสมัยนี้โลกเปลี่ยนไปเร็ว จึงต้องคอยพัฒนาองค์กรอยู่เสมอ เพื่อทำให้กิจการไม่ตกยุคหรือล้าสมัย เปรียบเหมือนเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว ก็คือรับอะไรใหม่ ๆ เข้ามาได้เสมอ

นอกจากนี้ยังได้แชร์คำสอนของครอบครัวที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นอีกว่า แม่ของเธอมักเน้นย้ำใน 4 เรื่อง คือ "ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน" ว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ไม่ว่าจะทำธุรกิจหรือทำอะไรก็ตาม