posttoday

'มีชัย'เผยกม.ยุทธศาสตร์ชาติ ย้ำรัฐบาลหน้าไม่ทำส่อผิดรธน.

30 พฤศจิกายน 2559

ประธานกรธ. เผย กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ ย้ำ รัฐบาลหน้าไม่ทำ ส่อผิด รธน. ยัน แก้ไขได้ต้องถามประชาชนก่อน เชื่อ คสช. ดูกำหนดเวลาปลดล็อคพรรคการเมืองดีแล้ว

ประธานกรธ. เผย กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ ย้ำ รัฐบาลหน้าไม่ทำ ส่อผิด รธน.  ยัน แก้ไขได้ต้องถามประชาชนก่อน เชื่อ คสช. ดูกำหนดเวลาปลดล็อคพรรคการเมืองดีแล้ว

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่โรงแรมเอบิน่า เฮ้าส์ ถึงการหารือกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช)เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า ณ ขณะนี้ได้มีการหารือถึงเรื่องการจัดทำร่างร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งตนก็จะเข้าไปร่วมหารือกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในนามกฤษฏีกาด้วย ทั้งนี้หลังจากร่างรัฐธรรมนูญถูกประกาศใช้แล้ว  กฎหมายว่าด้วยวิธีจัดทำยุทธศาสตร์และกฎหมายว่าด้วยวิธีจัดทำการปฏิรูปนั้น ก็จะต้องออกมาภายในระยะเวลา 120 วันเช่นกัน ดังนั้นคงต้องรีบจัดทำให้เสร็จ และจากนั้นก็จะนำไปสู่การมียุทธศาสตร์และวิธีการปฏิรูปภายในระยะเวลา 1 ปีหลังจากนั้น

นายมีชัยกล่าวต่อว่าส่วนที่ฝ่ายการเมืองกลัวกันว่าตรงนี้จะเหมือนกับสิ่งที่จะไปบังคับการทำงานของรัฐบาลชุดถัดๆมา ตนขอเรียนว่าเวลาเขียนวิธีจัดทำกฎหมายต่างๆ รัฐบาลจะต้องรับฟังความเห็นจากประชาชน จากหลายๆฝ่าย และต้องคำนึงถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ยุทธศาสตร์ชาตินั้นก็เปรียบเสมือนกับการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาถูกทอดทิ้งพอสมควร เวลาจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ถ้าหากรัฐบาลถัดๆมาไม่ทำตามก็เท่ากับว่าเสียของ ต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่อยู่เรื่อยๆ

นายมีชัยกล่าวว่ายุทธศาสตร์ที่กำลังจะถูกกำหนดขึ้นมาใหม่นั้นจะเป็นยุทธศาสตร์ระยะเวลายาวถึง 20 ปี เพื่อกำหนดว่าอนาคตของประเทศไทยในภายภาคหน้า หน้าตาจะเป็นอย่างไร ซึ่งการกำหนดยุทธศาสตร์ก็ไม่ได้คิดขึ้นมาได้เองแต่เกิดจากการที่แม่น้ำสายต่างๆอาทิ สภาขับเคลื่อนการการปฏิรูปประเทศ(สปท.) หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ไปรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆมา แล้วนำมาจัดทำเป็นยุทธศาสตร์อนาคต

“ สมมติว่า รัฐบาลนี้เขามีแผนกำหนดว่าประเทศไทยวันข้างหน้าต้องเป็นแบบ 4.0 แต่พอรัฐบาลใหม่มา เขากลับกำหนดว่า ไม่เอา กลับไปขี่เกวียนดีกว่า เอาแค่ 1.0 พอ เขาก็ต้องไปทำกระบวนการถามความเห็นชาวบ้าน ถ้าชาวบ้านเขาเห็นด้วยว่าขี่เกวียน จะได้เหม่เหม็นน้ำมัน รัฐบาลก็ต้องไปปรับยุทธศาสตร์ว่าให้ขี่เกวียนแทน แล้วถ้าชาวบ้านเอาก้ไม่มีใครเขาห้าม”นายมีชัยกล่าว

เมื่อถามถึงสภาพบังคับของกฎหมายเหล่านี้ นายมีชัยกล่าวว่านี่เป็นกระบวนวิธีการ ไม่มีบทลงโทษ แต่ถ้ารัฐบาลไม่สนใจจะทำตามยุทธศาสตร์ เขาก็จะได้ชื่อว่าจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญซึ่งแม้กฎหมายจะไม่มีโทษอะไร แต่ในรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดโทษของการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เว้นแต่ว่ารัฐบาลนั้นได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติโดยผ่านการรับฟังความเห็นของประชาชนมาก่อน

เมื่อถามต่อถึงขั้นตอนและกำหนดการเวลาจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) นายมีชัยกล่าวว่า กรธ.ได้ทำตามกำหนดการที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ และต้องระมัดระวัง ไม่ควรออกกฎหมายมารวดเดียว เพราะถ้าทำแบบนั้นก็จะดูเหมือนว่าเป็นการกลั่นแกล้งพรรคการเมือง ส่วนเรื่องการปลดล๊อคให้พรรคการเมืองได้ทำกิจกรรมทางการเมืองนั้น ตนขอเรียนว่าไม่ใช่บทบาทของ กระ. แต่ขึ้นอยู่กับ คสช.และรัฐบาลจะเป็นผู้ปลดล๊อค ดังนั้นกรธ.ก็ต้องนึกถึงเขาว่าจะมีกำหนดเวลาทำงานได้เมื่อไร จะสามารถทำงานได้นานเท่าไรด้วย ถ้ากำหนดระเวลาสั้นไป เขาคงลำบาก

เมื่อถามต่อถึงความเห็นการปลดล็อคห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองว่าควรจะกำหนดให้ทำได้หลังจาก พ.ร.ป.ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งออกมาครบทั้ง 4 ฉบับ ซึ่งอาจจะมีปัญหาได้ เพราะจะเข้าสู่ระยะเวลาการเลือกตั้งภายใน 150 วันแล้ว นายมีชัยกล่าวย้ำว่า พ.ร.ป.ทั้ง 4 ฉบับคงออกมาพรวดเดียวไม่ได้ คงต้องออกมา 2 ฉบับก่อน คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองและว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)  หลังจากนั้นจึงจะรู้ว่าควรจะต้องใช้เวลากี่วัน แล้ว กรธ.ก็จะคำนวนเวลาที่จะต้องออก พ.ร.ป.อีก 2 ฉบับ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ที่มา ส.ว. ทั้งนี้ตนเชื่อว่าทางรัฐบาลและ คสช.นั้นคงจะดูแลในเรื่องกำหนดเวลาที่เหมาะสมตรงนี้อยู่แล้ว คงจะไม่เกิดปัญหาตรงนี้

นายมีชัยกล่าวต่อว่าเรื่องเวลานั้น ณ ขณะนี้ยังพูดในวันนี้ไม่ได้ เพราะยังไม่รู้ว่าเมื่อส่งร่าง พ.ร.ป.ไปให้ สนช.พิจารณาแล้ว สนช.จะแก้เป็นอย่างไร กรธ.ก็ยังไม่รู้ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นก็คงจะมีการปรับกำหนดเวลาที่เหมาะสมกันอีกทีหนึ่ง