posttoday

บิ๊กป้อมสั่งตรวจสอบ "สุเทพ-นปช."แถลงท่าทีต่อร่างรธน.ขัดกฎหมายหรือไม่

25 เมษายน 2559

พล.อ.ประวิตรสั่งเจ้าหน้าที่ดูกรณี สุเทพ-นปช. แถลงท่าทีต่อร่างรัฐธรรมนูญขัดกฎหมายประชามติหรือไม่ วอนหยุดเสียที อยากชอบก็ไปคุยกันส่วนตัวไม่ต้องออกมา

พล.อ.ประวิตรสั่งเจ้าหน้าที่ดูกรณี สุเทพ-นปช. แถลงท่าทีต่อร่างรัฐธรรมนูญขัดกฎหมายประชามติหรือไม่ วอนหยุดเสียที อยากชอบก็ไปคุยกันส่วนตัวไม่ต้องออกมา

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย และ นายจตุพร พรหมพันธ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)ได้แถลงท่าทีต่อร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่ไปดู เพราะมีกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว

"ให้เจ้าหน้าที่เขาไปดู  ทำอย่างนี้ไม่ได้ เพราะกฎหมายออกมาแล้ว. ผมคิดว่าหยุดเสียที  พอเสียที เถอะครับ อยากชอบก็ชอบไป แต่ไปคุยกันในบ้าน คุยกันส่วนตัว ไม่ต้องออกมา สื่อเองก็เหมือนกันไม่ต้องไปถามแล้ว จบแล้วถามกันอยู่นั่นแหละ กับคนแค่ 2 คน คนชอบก็ชอบ คนไม่ชอบก็ไม่ชอบ ถามไปก็ได้คำตอบแบบนี้ทุกครั้ง เป็นประเด็นตลอด คิดว่าสื่อเองไม่ต้องไปถามแล้ว พอๆ"พล.อ.ประวิตรกล่าว

พล.อ.ประวิตรกล่าวอีกว่า  นี่เป็นสาเหตุที่ต้องมีการออกกฎหมายเพื่อไม่ให้มีใครชี้นำ คนชอบก็ว่าชอบ คนไม่ชอบก็ว่าไม่ชอบ ก็แล้วแต่คน แต่เราไม่ให้มีการโฆษณา หรือยกป้ายสนับสนุน ไม่สนับสนุน เพราะจะไม่จบสิ้นเสียที บอกแล้วว่าปล่อยให้ประชาชนตัดสินใจ เพราะมีทั้งกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่จะต้องชี้แจงถึงเจตนาในการร่าง ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะออกมาอธิบายขั้นตอนต่างๆ ในการลงประชามติ

ส่วนกรณีที่มีกลุ่มพลเมือง 100 ชื่อ เช่น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายกษิต ภิรมย์ จะออกแถลงการณ์ขอให้ คสช. เปิดช่องแสดงความเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "กฎหมายออกมาแล้ว ไม่เข้าใจหรือยังไง บ้านเมืองอยู่ได้ด้วยอะไร แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นสาเหตุทำให้สถานการณ์บ้านเมืองอึมครึม"

"การไม่ให้แสดงความคิดเห็นร่างรัฐธรรมนูญ นั้น ดีแล้ว เพราะเห็นชัดเจนว่ามี 2 ค่าย  ถ้าจะพูดก็ไปพูดกันในกลุ่มของตัวเอง ไม่ให้โฆษณา ผมไม่ได้ห้ามหรือเอาพลาสเตอร์ปิดปากใครทั้งหมด แต่ไม่ให้ออกมาโฆษณา ไม่ให้ลงสื่อโฆษณา" พล.อ.ประวิตร กล่าว

ส่วนการที่ นปช. เรียกร้องให้สหประชาชาติและสหภาพยุโรปเข้ามาสังเกตการณ์ในวันลงประชามติ นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าว ว่า  เป็นเรื่องของ กกต. ไปเรียกร้องอะไร คงไม่มีประเทศไหนที่เรียกร้องให้มาดูการลงประชามติ หากเกี่ยวการเลือกตั้งแบบนี้ได้ โดยหลักการแล้วไม่ต้องเชิญมา รอเลือกตั้งดีกว่าเชิญมาดูใครซื้อเสียง การลงประชามติคงไม่เกี่ยว

เมื่อถามว่า มีประชามติ แน่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร ยืนยันว่า "การลงประชามติเกิดขึ้นแน่นอน เพราะกฎหมายออกแล้ว ยกเว้นตีกัน จนลงประชามติไม่ได้ แบบนี้จะไปกันอย่างไร ออกแถลงทุกวันๆ แบบนี้ ถามว่าจะไปกันอย่างไร คนนั้นดี ไม่ดี"

เมื่อถามว่าการลงประชามติครั้งนี้เป็นการประลองระหว่าง 2 ขั้วการเมืองหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "ไม่เกี่ยว คงไม่ใช่การประลองอะไร มีแต่คนคิดอย่างไร ประชาชนคิดอย่างไร และตัวเองเป็นพรรคการเมือง ก็ไม่ใช่ว่าจะคุมเสียงของตัวเองได้หมด อย่าไปคิดเอาเอง ไม่จำเป็นต้องมีใครออกมาแสดงพลังอะไรทั้งนั้น ขณะนี้ก็ใกล้ถึงเวลาการลงประชามติแล้ว"

เมื่อถามว่า ในมาตรา 61 ของกฎหมายการลงประชามติ จำกัดความคิดเห็นมากเกินหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "ข้อห้ามต่างๆ จะทำให้ไม่เกิดประเด็นขึ้นมาและกลายเป็นความขัดแย้งในสังคม เขาจึงออกกฎหมาย ถ้าทำแล้วมีความขัดแย้งก็คงไม่ออกกฎหมาย มั่นใจว่ากฎหมายจะไม่สร้างความขัดแย้ง ข้อห้ามทั้งหมดก็ใช้กับทุกคน ถ้าห้ามคนโน้นไม่ห้ามคนนี้ นี่คือเป็นการสร้างความขัดแย้ง"

ส่วนการที่ กกต. และ กรธ. ออกไปชี้แจงประชาชนเป็นการชี้นำฝ่ายเดียวหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "กรธ. ชี้แจงว่าเจตนาการร่างรัฐรรรมนูญเป็นอย่างไร ไม่ได้ชี้นำ และเรื่องนี้ก็ไม่มีฝ่ายไหนทั้งนั้น ถือเป็นฝ่ายประชาชนทั้งหมด"

เมื่อถามว่า มีการวิจารณ์ว่า การที่ นายสุเทพ ออกมาแถลงข่าวเพราะต้องการช่วย คสช. พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า คสช.คงไม่เกี่ยวกับกปปส. จะรู้ได้อย่างไรว่าใครคิดอย่างไร คสช. ต้องการแบบไหน เพราะ คสช. ไม่ได้ไปร่างรัฐธรรมนูญ กรธ. เป็นคนร่าง เพราะขนาด คสช. เสนอความเห็นไป ยัง กรธ. ยังไม่ได้สักข้อเลย