posttoday

เปิดข้อเสนอคสช. บีบตั้งนายกฯคนนอก-ล็อค 6 สว.สรรหาให้ผบ.เหล่าทัพ

15 มีนาคม 2559

เผยข้อเสนอ คสช. ที่ส่งถึงกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ บีบเปิดทางนายกฯคนนอกในช่วงเปลี่ยนผ่าน-ล็อคเก้าอี้ 6 สว.สรรหาให้ผบ.เหล่าทัพ

เผยข้อเสนอ คสช. ที่ส่งถึงกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ บีบเปิดทางนายกฯคนนอกในช่วงเปลี่ยนผ่าน-ล็อคเก้าอี้ 6 สว.สรรหาให้ผบ.เหล่าทัพ

เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ธีรชัย นาควานิช เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีหนังสือเรื่อง "ข้อเสนอแนวทางการปรับปรุงบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญ" ถึง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีข้อเสนอ 3 ข้อ ดังนี้

ให้ ส.ว.ชุดแรกมาจากการสรรหา-ดึงผบ.เหล่าทัพมาเป็นโดยตำแหน่ง

คสช.เสนอให้บทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดแรกมาจากการคัดสรร หรือแต่งตั้ง โดยให้ ส.ว.มีจำนวน 250คน หรือ กึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 500 คน และให้มาจาการสรรหา โดยคณะกรรมการที่เป็นอิสระเป็นกลาง เป็นที่น่าเชื่อถือตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดโดยมีจำนวนประมาณ 8-10 คน

ด้านวาระการดำรงตำแหน่งให้มีวาระ 5 ปี โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้มีเวลาเหลื่อมออกไปและต่อเนื่องกับ ส.ส.ที่เข้ามาใหม่สักระยะหนึ่งและสอดคล้องกับช่วงเวลาตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

นอกจากนี้ยังเสนอว่า เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองเป็นที่วางใจแก่ประชาชน ในกรณีที่ต้องมีคุณสมบัติว่า "ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ" ควรเปิดให้สามารถแต่งตั้งข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญบางตำแหน่งซึ่งมิใช่สมาชิกในคสช.ปัจจุบัน โดยให้มีจำนวนไม่เกิน 6 คน เข้ามาเป็น ส.ว.โดยตำแหน่งได้ และไม่มีอำนาจหน้าที่พิเศษกว่า ส.ว.คนอื่น ในกรณีที่พ้นจาตำแหน่งข้าราชการก็ให้ผู้นั้นพ้นจากความเป็น ส.ว. และให้ผู้ดำรงตำแหน่งคนใหม่เข้ามาแทน

คำว่า ส.ว.โดยตำแหน่งในที่นี้มุ่งหมายถึงตำแหน่งอันจะเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงแห่งชาติได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ด้านอำนาจหน้าที่ ควรให้มีอำนาจพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ดูแลการขับเคลื่อนปฏิรูปตามแผนปฏิรูป แนวนโยบายแห่งรัฐแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนมีส่วนในกระบวนการนิติบัญญัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด รวมทั้งให้มีบทบาทในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจหรืออื่นๆ ในระหว่างช่วงการเปลี่ยนผ่าน เพื่อมิให้ฝ่ายการเมืองอาศัยเสียงข้างมากในสภาฯบิดเบือนเจตนารมณ์หรือฝ่าฝืนความต้องการของประชาชน และยังช่วยสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลและปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องชอบธรรมเป็นที่พอใจแก่ประชาชน

เปิดทางนายกฯคนนอกในช่วงเปลี่ยนผ่าน

คสช.ระบุอีกว่า หลักการในบทถาวรของร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 83 และ มาตรา 154 ที่ว่าพรรคการเมืองอาจแจ้งรายชื่อผู้ที่จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกฯไม่เกิน 3 ชื่อ และให้ที่ประชุมสภาฯ ให้ความเห็นชอบเฉพาะจากรายชื่อดังกล่าวนั้น  แม้จะจัดการเลือกตั้งใหม่ก็ยังน่าวิตกว่าจะทำได้โดยราบรื่นเรียบร้อยหรือไม่ ทั้งมาตรา 154 ยังไม่ได้กำนดนะยะเวลาดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลไว้ จึงอาจยืดเยื้อยาวนาน กรธ.จึงอาจแก้ไขเพิ่มเติมให้มีการเลือกนายกฯต้องทำให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด

ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการหาทางออกในยามวิกฤตในระยะแรกตามบทเฉพาะกาล ก็ควรงดเว้นไม่นำเรื่องการแจ้งรายชื่อผู้ที่จะเสนอให้สภาฯให้ความเห็นชอบเป็นนายกฯไม่เกิน 3 ชื่อ ตามมาตรา 83 และมาตรา 154 มาใช้บังคับ

กำหนดวิธีเลือกตั้งในระยะแรกตามบทเฉพาะกาลต่างจากบทถาวร

หนังสือของคสช.ระบุว่า วิธีการเบือกตั้ง ส.ส.ที่กำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวนั้น มีผู้เสนอเป็นอันมากว่าควรใช้แบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใบหนึ่งสำหรับการเลือกตั้งแบบเขต อีกใบสำหรับการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ นอกจากนั้นในกรณีการเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขต มีผู้เสนอให้พิจารณาประเด็นที่ให้เขตเลือกตั้งใหญ่ขึ้นและมี ส.ส.จำนวสนไม่เกิน 3 คน แต่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนใช้สิทธิเลือกได้เพียง 1 คน แล้วเรียงลำดับจากผู้ได้รับคะแนนสูงสุดลดหลั่นลงไปจนได้ครบจำนวนที่ต้องการดังที่ใช้อยู่ในบางประเทศ จึงขอให้ กรธ. พิจารณาประเด็นดังกล่าวด้วย ซึ่งอาจกำหนดวิธีการเลือกตั้งในระยะแรกตามบทเฉพาะกาลไว้ให้ต่างจากในบทถาวรก็ได้

ยืนยันไม่สืบทอดอำนาจ

คสช.ระบุด้วยว่า คสช.ขอเรียนว่า อย่าได้หวาดระแวงว่าจะมีการสืบทอดอำนาจ คสช.ยินดีจะพ้นจากตำแหน่งและยุติอำนาจหน้าที่ทั้งปวงตามกำหนดเวลาในโรดแมป และในร่างรัฐธรรมนูญ และจะไม่เข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงการจัดการเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ การประคับประคองสถานการณ์ต่อจากนั้นเป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่ รัฐสภาใหม่ซึ่งรวมถึงวุฒิสภาด้วย จึงได้เสนอให้ในระยะแรก สมาชิกควรมาจากการคัดสรรหรือแต่งตั้ง

ทั้งนี้คสช.ระบุด้วยว่า การประชุมหารือเป็นการภายในระหว่าวหัวหน้าคสช. นายกฯ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ณ ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ประชุมเห็นว่า เมื่อเข้าสู่ระยะที่ 3 ของ โรดแมปในปี 2560 ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาของการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาล และการเปลี่ยนผ่านการบริหารประเทศไปสู่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติคณะใหม่ ซึ่งมีเวลาเท่ากับวาระของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือ 4 ปี จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าการเมืองในช่วงเวลานั้นเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศ ซึ่งอาจประสบปัญหาความรุนแรง ความไม่สงบเรียบร้อยและเกิดเงื่อนไขความขัดแย้งขึ้นใหม่ อันเป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปไม่ประสงค์จะพบเห็น