posttoday

"บวรศักดิ์" พร้อมยอมรับหากร่างรธน.ไม่ผ่าน

31 สิงหาคม 2558

"บวรศักดิ์" ยอมรับถ้าร่างรธน.ไม่ผ่านสปช.และประชามติ วอนใช้ 3 เกณฑ์ชี้ชะตา อย่ามองแบบผ่านๆ

"บวรศักดิ์" ยอมรับถ้าร่างรธน.ไม่ผ่านสปช.และประชามติ วอนใช้ 3 เกณฑ์ชี้ชะตา อย่ามองแบบผ่านๆ

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่รัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้จัดงานสัปดาห์แห่งการเรียนรู้ โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ  ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ บรรยายพิเศษเรื่อง "เล่าเรื่องยกร่างรัฐธรรมนูญ" มีใจความตอนหนึ่งว่า การ ยกร่างรัฐธรรมนูญในปัจจุบันมีความแตกต่างจากรัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 และพ.ศ.2550 เป็นอย่างมาก เนื่องจากการยกร่างรัฐ ธรรมนูญในปัจจุบันเป็นการดำเนินการท่ามกลางความขัดแย้งที่สะสมมาตั้งแต่ปลายปี 2548

"ตอนทำร่างรัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 ไม่มีความขัดแย้งระหว่างประชาชน มีแต่ความขัดแย้งระหว่างคนส่วนใหญ่ ที่ไม่ชอบนักการเมืองกับนักการเมือง แต่ความขัดแย้งในลักษณะที่นำไปสู่ความรุนแรงนั้นไม่มี บรรยากาศการร่างรัฐธรรมนูญใน เวลานั้นก็เป็นประชาธิปไตยเต็มที่" นายบวรศักดิ์ กล่าว

ประธานกมธ.ยกร่างฯ กล่าวอีกว่า ต่อมาเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองจนนำมาสู่การชุมนุมขับไล่รัฐบาลตั้งแต่ปลายปี  2548และเกิดการรัฐประหารในปี 2549 ต่อมามีการจัดทำรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550ที่ผ่านการประชามติของประชาชนจำนวน 14  ล้านเสียง จากนั้นเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ประกาศจะแก้รัฐธรรมนูญทันที ก่อให้เกิดการชุมนุม  ประท้วงทันที เรียกได้ว่ามหาภารตะยุทธที่เริ่มตั้งแต่ปี 2549 ก็กลับมาอีก การชุมนุมในทำเนียบรัฐบาลก็ไปสู่การชุมนุมในสนามบิน  เช่นเดียวกับปี 2552 และ 2553 ที่เกิดการชุมนุมขับไล่รัฐบาลอีกครั้ง จนกระทั่งปี 2554 มีการเลือกตั้งและเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ปี  2556 เกิดการชุมนุมประท้วง จนมาถึงเหตุการณ์วันที่ 22 พ.ค.2557 ที่นำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

"ความขัดแย้งที่รุนแรงปะทะกันมาตั้งแต่ปี 2548 จนมาถึง22 พ.ค.2557 ความสงบที่เกิดขึ้นเป็นความสงบ ภายใต้กฎอัยการศึกและมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ดังนั้น บรรยากาศมันไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มที่ในการจัดทำ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน" นายบวรศักดิ์ กล่าว

สำหรับการทำงานของคณะกมธ.ยกร่างฯในปัจจุบัน นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า โจทย์ของคณะกมธ.ยกร่างฯถูกกำหนด โดยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวว่าต้องมี 2 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็น ของสากลที่โลกยอมรับ และ 2.ต้องเป็นระบอบที่เหมาะกับสภาพสังคมไทย จึงเป็นที่มาที่ทำให้คณะกมธ.ยกร่างฯ ต้องย้อนกลับไปดูประเทศตลอด 18 ปีที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร

"เราผ่านระบอบประชาธิปไตยเต็มใบตั้งแต่ปี 2540-วันที่19 ก.ย.2549 และปี 2550-วันที่22พ.ศ.2557 เรามีประชาธิปไตยเต็มใบไม่มีใครว่าอะไร ในประชาธิปไตยเต็มใบนั้นก็มีความขัดแย้งแบ่งฝ่ายอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทุก สถาบันในสังคมไทยถูกดึงลงมาสู่ความขัดแย้ง และรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยเต็มใบก็แก้ปัญหาไม่ได้ จึงเป็นที่มาของการเลิกใช้รัฐธรรมนูญในปี 2549 และ 2557 สถาปนาระบบการปกครองที่เรียกว่ารัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเวลานี้เราก็อยู่ภายใต้การปกครองแบบรัฏฐาธิปัตย์ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 44 ต้นก็ชี้ตาย ปลายก็ชี้เป็น มันถึงสงบอยู่ได้" นายบวรศักดิ์ กล่าว

นายบวรศักดิ์ ขยายความต่อว่า สิ่งที่เป็นคำถามที่จะต้องตอบของคณะกมธ.ยกร่างฯ คือ เราเคยลองประชาธิปไตย เต็มใบมาแล้ว 15 ปี แต่แก้ไขปัญหาความขัดแย้งไม่ได้จนต้องเลิกใช้รัฐธรรมนูญ ระบอบรัฏฐาธิปัตย์สร้างความสงบได้ก็จริงแต่ไม่เป็นที่ยอมรับในโลก เราจะทำอย่างไร

"ถ้าจะร่างรัฐธรรมนูญให้เท่ห์และเขียนให้ตัวเองรอด ทางคณะกมธ.ยกร่างฯต้องเขียนรัฐธรรมนูญให้เป็น ประชาธิปไตยจ๋าเลย พอประกาศใช้ในปี2559ปั๊บเลือกตั้งปั๊บเราก็กลัวว่าความขัดแย้งมันจะกลับมาอีก ไม่เห็นเหรอว่าผู้นำทางการ เมืองคนสำคัญพูดภาษาเดิม เมื่อปี2549พูดอย่างไรมาในปี2558ก็ยังพูดเหมือนเดิม เราก็กลัวว่าพรรคเบอร์หนึ่งขึ้นมาเป็นรัฐบาล  พรรคเบอร์สองเดินลงถนน พอพรรคเบอร์สองขึ้นมาเป็นรัฐบาล พรรคเบอร์หนึ่งเดินลงถนน ก็กลับไปสู่วงจรเดิม คือ ประชาธิปไตย เต็มใบบวกความขัดแย้งและนำไปสู่การเลิกใช้รัฐธรรมนูญหนที่สาม ด้านระบอบรัฏฐาธิปัตย์ก็ใช้ไม่ได้ เพราะไม่เป็นที่ยอมรับของ สังคมโลก แม้อาจจะได้ชั่วคราวเพื่อให้ทุกอย่างสงบลง แต่ปกครองบ้านเมืองตลอดไปไม่ได้"

ประธานกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า เมื่อเห็นแบบนี้แล้ว คณะกมธ.ยกร่างฯจึงตัดสินใจว่าระบอบประชาธิปไตย อันมพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เหมาะกับสภาพสังคมไทยนั้นต้องมี 2 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงที่1 หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และเลิกระบบรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเรียกว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยในระยะเปลี่ยนผ่านเป็นเวลา 5 ปี เพื่อให้เหมาะกับสภาพความขัดแย้งและความต้องการของประเทศที่ต้องการการปฏิรูปและไม่ให้เสียของ ช่วงที่ 2 คือ หลังจากผ่านไป 5 ปี ก็จะเป็นระบอบ ประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในรูปแบบสากลที่ทำกันทั่วโลก

"ระบอบประชาธิปไตยในช่วงเปลี่ยนผ่านจะต้องทำให้การปฏิรูปประเทศซึ่งเรียกร้องกันมาก่อน22 พ.ค .2557ประสบความสำเร็จ เพราะถ้าถามว่าส่งมอบการปฏิรูปให้กับรัฐบาลจากการเลือกตั้งเขาจะทำหรือไม่ ก็สภาพสังคมไทยมันก็ บอกอยู่ว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่ทำ เพราะไม่ใช่นโยบายของเขาคณะกมธ.ยกร่างฯจึงเห็นว่า 5 ปีแรกต้องเป็นประชาธิปไตย เปลี่ยนผ่านที่สามารถทำ 3 สิ่งได้ คือ 1.กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูป และการปรองดอง ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปขึ้น 2.ทำให้ เกิดการปรองดองและป้องกันความขัดแย้ง 3.ถ้าเกิดความรุนแรงต้องระงับยับยั้งลงได้ทันที โดยไม่ต้องลากรถถังออกมาฉีกรัฐ ธรรมนูญอีก ซึ่งเป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติขึ้นมา" นายบวรศักดิ์ กล่าว

ส่วนเรื่องการลงมติร่างรัฐธรรมนูญในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันที่ 6 ก.ย. นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ร่างรัฐ ธรรมนูญจะผ่านสปช.หรือไม่ และจะผ่านประชามติหรือไม่ ส่วนตัวยอมรับได้ทั้งนั้น ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านก็ดีใจแต่เหนื่อย เพราะ ต้องกฎหมายลูกอีกเป็นเวลาอีกหนึ่งปี หรือถ้าไม่ผ่านสปช.ในวันที่ 6 ก.ย.นี้ ส่วนตัวจะรู้สึกโล่งใจเพราะไม่ต้องรับผิดชอบอะไรแล้ว  กลับไปอยู่บ้านและสอนหนังสือสบายๆ และเสียงที่วิพากษ์วิจารณ์จะลดลง

"รับได้ทั้งนั้นครับ ผ่านสปช.และประชามติก็ดีใจและเหนื่อยแต่พร้อมที่จะทำงานต่อ ไม่ผ่านก็โล่งใจ ไม่มีอะไรเป็น ของเราเอง อย่าว่าแต่รัฐธรรมนูญที่ร่างเลย ตัวเราเองพระพุทธเจ้าก็บอกว่าไม่ใช่ของเรา เพราะถ้าเป็นของเราจริง มันต้องบังคับไม่ ให้แก่ได้ ไม่ให้ป่วยได้ เมื่อคิดได้ดังนี้ ปลงลงได้ดังนี้ มันก็ไม่ทุกข์" นายบวรศักดิ์ กล่าว

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า การทำงานส่วนตัวที่ผ่านมาเพียงแค่ทำหน้าที่ประธานกมธ.ยกร่างฯเท่านั้น ไม่สามารถไป ลิขิตอะไรได้ และที่ผ่านมาส่วนตัวก็แพ้ในคณะกมธ.ยกร่างฯหลายเรื่อง เช่น ได้เสนอว่าหากเกิดกรณีที่อำนาจคณะกรรมการ ยุทธศาสตร์ฯมีความขัดแย้งกับคณะรัฐมนตรีให้สามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความและให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯหรือคณะ รัฐมนตรีสามารถส่งประชาชนออกเสียงประชามติได้ด้วยปีละไม่เกินหนึ่งครั้ง แต่ที่ประชุมคณะกมธ.ยกร่างฯไม่เห็นด้วย

"แน่นอนว่า4เดือนนับจากนี้ไปหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านสปช. จะไม่ใช่4เดือนที่สบาย แต่เป็น4เดือนสุดท้ายที่จะ ได้ชัยหรือจะปราชัยในประชามติ พรรคการเมืองและสื่อมวลชนที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องเล่นเต็มเหนี่ยว ก็ไม่มีอะไร ไม่ต้องตอบโต้หรือ ต่อสู้อะไร อธิบายให้ฟังไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ผ่านประชามติก็ไม่เป็นไร ก็เอา21คนมาเขียน พอเขียนเสร็จก็ต้องขยายเวลาไปอีกอย่าง น้อย10เดือนถึงหนึ่งปี แต่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องเหนื่อยอีกเพราะต้องทำกฎหมายลูกเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ" นายบวรศักดิ์  กล่าว

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ท้ายที่สุดอยากจะบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่านยอมรับได้ทั้งนั้น แต่ถ้าถามใจลึกๆ แล้วอยากให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน รัฐธรรมนูญจะเป็นสัญญาประชาคมได้จริงก็ต่อเมื่อประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย ออกมาบอกว่ายอมให้ใช้กติกานี้เป็นกติกาบริหารบ้านเมือง

"ด้วยเหตุที่มีประชามตินี่แหละ คณะกมธ.ยกร่างฯและตัวผมเอง จึงกล้าเขียนเรื่องระบอบประชาธิปไตยในระยะ เปลี่ยนผ่าน5ปี ถ้าไม่มีประชามติ ข้าพเจ้าไม่กล้าเขียนเป็นอันขาด อย่ามาพูดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หมกเม็ด ผมบอกแล้วว่าเปิด ทุกเม็ด และพร้อมอธิบายให้ประชาชนฟังและตัดสินเอาเองว่าจะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ คำพิพากษาสุดท้าย คือ เสียง ประชาชนเป็นเสียงสวรรค์" นายบวรศักดิ์ กล่าว

ประธานกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า หากจะถามว่าควรใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินใจว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ  ส่วนตัวคิดว่าไม่ควรดูทีละส่วน แต่ควรดูภาพรวมทั้ง 285 มาตรา ภายใต้เกณฑ์ 3 ข้อ คือ 1.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขปัญหาในอดีต หรือไม่ แก้ไขปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดองได้หรือไม่ สิ่งที่เคยเกิดมาอย่างการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญจะไม่เกิด ขึ้นอีกได้หรือไม่ 2.สิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชนในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก้าวหน้าหรือล้าหลังกว่ารัฐ ธรรมนูญพ.ศ.2540และพ.ศ.2550หรือไม่ ถ้าล้าหลังกว่าก็อย่าไปเอา และ 3.ร่างรัฐธรรมนูญสนองความคาดหวังในการปฏิรูปและ ความปรองดองที่คนไทยเรียกร้องเกือบ 10 ปีได้หรือไม่ ถ้าอยากเห็นการปฏิรูปประเทศ37วาระขึ้นหิ้งเหมือนข้อเสนอของ นพ.ประเวศ วะสี และ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีอีกก็ไม่ต้องเอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

"รับได้ทั้งนั้นครับจะพิพากษาว่าไม่เห็นชอบก็รับได้ ถ้าเห็นชอบก็อยากขอให้ผู้ซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชนฟังเสียง ปวงชนด้วย" นายบวรศักดิ์ กล่าว