posttoday

จับเท็จกทม.น้ำรอระบายแค่ข้ออ้าง

01 กรกฎาคม 2559

วสท.ซัดไม่เตรียมการ บริหารผิดพลาด

วสท.ซัดไม่เตรียมการ บริหารผิดพลาด

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

คณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ตั้งโต๊ะชำแหละสถานการณ์น้ำท่วมใน 36 พื้นที่มีปัญหาของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อวันที่ 20-21 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากหลายสาเหตุ และ กทม.ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ เพราะมาจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาด ในอนาคตอันใกล้นี้หากยังจัดการด้วยวิธีการเดิมๆ ปัญหาก็จะกลับมาเกิดซ้ำอีก

ศ.บัญชา ขวัญยืน ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท. เปิดเผยว่า ก่อนที่จะพูดถึงวิธีการจัดการน้ำท่วมที่ กทม. ใช้ต้องกลับไปดูปริมาณฝน ซึ่ง กทม. ระบุว่า ปริมาณที่ตกเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 20 มิ.ย. จนถึงเช้าวันต่อมาที่มีค่าเฉลี่ยมากถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับปริมาณฝนตกในช่วงเดียวกันในรอบ 25 ปี โดยมีปริมาณฝนช่วงบ่ายอยู่ที่ 80 มิลลิเมตร และช่วงกลางคืน 125 มิลลิเมตร ทำให้ 24 ชั่วโมง มีปริมาณฝนกว่า 200 มิลลิเมตร กรณีดังกล่าวเมื่อดูสถิติย้อนหลังไปถึงปี 2553 พบว่า เป็นปริมาณปกติที่เฉลี่ยอยู่ที่ 60-90 มิลลิเมตร และถือว่าเป็นปริมาณที่พบได้ในทุกรอบ 2-3 ปี

ศ.บัญชา ระบุว่า กรณีดังกล่าวจึงเป็นคำถามที่พุ่งเป้าไปถึงเรื่องความไม่พร้อมของ กทม. ในการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมขัง และพบว่าแผนการที่เตรียมไว้มีความบกพร่อง รวมถึงมีปัญหาด้านเทคนิคที่ไม่สอดคล้องกับระบบจัดการหลายเรื่อง

ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นต้องไปดูที่ระบบระบายน้ำที่เริ่มตั้งแต่ที่พักอาศัย ระบบท่อลอด ท่อหลัก มาจนถึงคลองระบายจะพบว่า ในหลายพื้นที่ยังเป็นระบบระบายน้ำแบบเก่าที่สร้างขึ้นเมื่อ 30 กว่าปีก่อน โดยไม่ได้ปรับปรุงให้ทันสมัยเท่าทันกับปัญหาในปัจจุบัน หลายพื้นที่มีปัญหาพื้นดินทรุดจนกลายเป็นแอ่ง เมื่อน้ำระบายผ่านก็เกิดการท่วมขัง เพราะถูกส่งต่อไปตามระบบที่มีไม่ได้ ต้องใช้วิธีสูบออก แม้ กทม.จะมีอุโมงค์ยักษ์ แต่น้ำก็ไปไม่ถึงระบบที่วางไว้

ศ.บัญชา กล่าวว่า กรณีนี้ชี้ชัดว่า กทม.ไม่มีการสำรวจว่ามีพื้นที่ไหนทรุดตัว และพบอีกว่าบางสำนักงานเขตพื้นที่ไม่ได้ทำงานประสานกับสำนักระบายน้ำจะเห็นได้ว่า ท่อระบายน้ำในตรอกซอกซอย ที่รับผิดชอบโดยสำนักงานเขตไม่สอดรับท่อหลักของสำนักระบายน้ำ รวมถึงไม่มีการปรับท่อให้มีระดับลดหลั่นกันให้สามารถใช้งานได้ เมื่อฝนตกหนักจนต้องใช้เครื่องสูบน้ำช่วยและฝนที่ตกปัจจุบัน ยังถือว่าเป็นช่วงเริ่มยังไม่ใช่ฝนจากอิทธิพลจากพายุดีเปรสชันที่เคลื่อนตัวมาจากทะเลจีนใต้ ซึ่งจะยิ่งตกหนักขึ้นอีก

ทีฆวุฒิ พุทธภิรมย์ คณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท. กล่าวว่า ระบบป้องกันน้ำท่วมในเมืองใหญ่อย่าง กทม.ควรถูกปรับปรุงใหม่ทุกๆ สองปี เพราะสิ่งก่อสร้างโดยเฉพาะตึกใหญ่นั้นผุดขึ้นเร็ว ประกอบกับปัญหาพื้นดินทรุดจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้มีปัญหาน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ได้ แม้จะไม่มีขยะอุดตันในระบบระบายน้ำ เนื่องจากหลายพื้นที่มีระดับที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลมาก เช่น ย่านถนนรามคำแหงนั้นอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลถึง 50 ซม.

ทีฆวุฒิ กล่าวอีกว่า ที่น่ากังวลคือแผนก่อสร้างต่างๆ ในอนาคต ไม่ประสานกับแผนการจัดการสิ่งแวดล้อมและคาดการณ์ปัญหาในอนาคต หน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ประสานงานกัน ระบบระบายน้ำกับคมนาคมนั้นทำงานขัดแย้งกันมาโดยตลอดจนกลายเป็นเรื่องปกติ

สุรศักดิ์ คลังสุภาวิพัฒน์ คณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท. กล่าวว่า การระบายน้ำของ กทม.นั้นมีปัญหาหลายส่วน โดยเฉพาะเรื่องลำดับขั้นตอนในการระบายน้ำที่ประสบปัญหา ที่ดิน หรือการใช้พื้นที่ที่เปลี่ยนไปในอดีตมากจากการถมบ่อบึงหนองน้ำ ซึ่งเคยเป็นเหมือนพื้นที่พักปริมาณน้ำ มีสิ่งก่อสร้างขวางทางระบายน้ำต้องอาศัยระบบระบายน้ำที่สร้างขึ้นเป็นหลัก

“ตอนนี้เราระบายน้ำโดยอาศัยระบบท่อเป็นหลัก แต่เมื่อถนนทรุดตัวระบบท่อก็ใช้การไม่ได้ไปด้วย ท่อหลายแห่งมีปัญหาตกท้องช้างเมื่อฝนตกก็ระบายน้ำไปไม่ได้ และพบว่าการออกแบบระบบท่อในหลายพื้นที่ไม่สอดคล้องกับกายภาพเมืองที่เปลี่ยนไปมาก โครงการหมู่บ้านจัดสรรเดิมเคยมีบึง ซึ่งเป็นจุดช่วยรับน้ำของโครงการก็เริ่มไม่มี”

สุรศักดิ์ ชี้แจงว่า สิ่งที่ กทม.ควรทำหลังจากนี้คือ ต้องหาวิธีตรวจสอบระบบท่อของสิ่งก่อสร้าง ถนนเชื่อมไปถึงคลองระบาย หากระบบการระบายน้ำ-ปริมาณ และเวลาที่ใช้ในการระบาย ทำงานสัมพันธ์กันก็จะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมขังเป็นเวลานานถึง 3 ชั่วโมงอย่างแน่นอน

สุวัฒนา จิตตลดากร ที่ปรึกษาอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท. ระบุว่า กทม.ควรเลิกอ้างถึงน้ำท่วมขังรอระบาย เพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีในตำราการจัดการน้ำ และถือว่าเป็นการบอกให้คน กทม. ต้องทำใจรับสภาพที่เป็นอยู่ ทั้งที่เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น หากบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ

“กทม.นั้นมีปัญหากับการจัดลำดับความสำคัญของปัญหานี้ เพราะใช้งบประมาณไปสร้างสิ่งที่อยู่ปลายสุดของปัญหา คือ อุโมงค์ยักษ์ แต่ไม่คำนึงถึงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ก่อน อุโมงค์ยักษ์อาจจะช่วยแก้น้ำท่วมในระยะยาวในอนาคตได้ แต่เมื่อระบบการส่งน้ำไปถึงยังทำงานไม่ได้ ก็แสดงว่าการจัดการวันนี้ยังมีปัญหา” ที่ปรึกษาอนุกรรมการวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท. กล่าว