posttoday

ขนส่งสั่ง Grab Bike - Uber MOTOยุติให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่น

17 พฤษภาคม 2559

กรมการขนส่งทางบก สั่ง Grab Bike และ Uber MOTO แอพพลิเคชั่นเรียกรถจักรยานยนต์ ยุติให้บริการ ประสานทหาร ตำรวจนครบาล เทศกิจ กวดขันจับกุม

กรมการขนส่งทางบก สั่ง Grab Bike และ Uber MOTO แอพพลิเคชั่นเรียกรถจักรยานยนต์ ยุติให้บริการ ประสานทหาร ตำรวจนครบาล เทศกิจ กวดขันจับกุม

เมื่อวันที่ 17 พ.ค.59 เวลา 13.00 น. นายณันทพงศ์ เชิดชู รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ร่วมกับกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ฝ่ายเทศกิจเขตปทุมวัน ได้เชิญบริษัทผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นสำหรับเรียกรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล Grab Bike และ Uber MOTO เข้าหารือเพื่อชี้แจงกฎระเบียบ และประเด็นปัญหาที่ขัดต่อกฎหมายที่กรมการขนส่งทางบกมีหน้าที่กำกับดูแลอีกครั้ง หลังจากเคยมีการพูดคุยกันไปก่อนหน้านี้ และได้แจ้งให้ทั้งสองบริษัทยุติการให้บริการที่ผิดกฎหมายทันที แต่ที่ผ่านมายังพบพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมาย โดยทั้ง 2 บริษัทได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ผ่าน สื่อสังคมออนไลน์และเปิดรับสมัครผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาเป็นสมาชิกเพื่อให้บริการรับจ้างอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีพฤติกรรมแก่งแย่งผู้โดยสารจากวินจักรยานยนต์สาธารณะที่ถูกต้อง

การเข้ามาของ Uber Moto และ Grab Bike ได้สร้างความไม่เสมอภาคและความไม่เป็นธรรมให้กับรถจักรยานยนต์สาธารณะที่เข้าสู่ระบบการจัดระเบียบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก่อให้เกิดความแตกแยกและมีผู้ได้รับผลกระทบซึ่งสร้างความไม่สงบในสังคม และอาจเข้าข่ายเป็นผู้มีอิทธิพลเรียกเก็บผลประโยชน์จากการให้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะ ดังนั้น ขอให้ทั้งสองบริษัทยุติการให้บริการโดยทันที หากยังฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายให้ถูกต้อง จะดำเนินการตามระเบียบของ คสช. ต่อไป

รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกขอย้ำว่ารถจักรยานยนต์ที่สามารถนำมารับส่งผู้โดยสารได้ต้องจดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะเท่านั้น และผู้ขับขี่ต้องมีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะใช้เสื้อวินรูปแบบใหม่ที่แสดงบัตรประจำตัวและหมายเลขประจำตัวที่ถูกต้องตรงกันตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดเท่านั้น และเพื่อป้องกันการฝ่าฝืนกฎหมายกรมการขนส่งทางบกจะจัดเจ้าหน้าที่ตรวจการขนส่งทางบก ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่เทศกิจกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจสอบการให้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างผิดกฎหมายผ่านแอพพลิเคชั่นอย่างต่อเนื่อง โดยหากตรวจสอบพบการกระทำความผิดจะเปรียบเทียบปรับสูงสุดทุกรายตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ได้แก่ ความผิดตามมาตรา 23/1 ฐานนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รับ-ส่งผู้โดยสาร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท, มาตรา 5(15) แต่งกายไม่ถูกต้องตามประกาศกรมการขนส่งทางบก ปรับไม่เกิน 1,000 บาท และมาตรา 42 ไม่แสดงใบอนุญาตขับรถสาธารณะปรับไม่เกิน 1,000 บาท ซึ่งที่ผ่านมาพบการฝ่าฝืนและสามารถจับกุมได้แล้วทั้งสิ้น 66 ราย แบ่งเป็น Grab Bike 37 ราย Uber Moto 29 ราย บันทึกประวัติไว้ที่ศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะ หากพบความผิดซ้ำจะพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถต่อไป

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกเชิญชวนประชาชนเลือกใช้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการและได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย มีความเป็นธรรมด้านค่าโดยสาร โดยต้องมีการเรียกเก็บอัตราค่าโดยสารตามที่ทางราชการกำหนด โดยรถจักรยานยนต์สาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมายจะสังเกตได้จากแผ่นป้ายทะเบียนรถซึ่งต้องเป็นสีเหลือง และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ต้องสวมเสื้อวินรูปแบบใหม่ มีบัตรติดเสื้อ โดยข้อมูลตัวคน บัตร และรถ ต้องถูกต้องตรงกัน หากพบเห็นการนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมารับจ้าง การเรียกเก็บค่าโดยสารเกิน หรือพบเห็นการกระทำความผิดอื่นๆ สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องเรียน สายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง