posttoday

ยังไงก็ต้องมีนะ... วินัยการออม

29 มิถุนายน 2560

เมื่อคนบนโลกนี้พร้อมใจกันเลิกถือเงินสด เรื่องนี้จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริงเมื่อไรยังไม่มีใครบอกได้

โดย...บีเซลบับ ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์, เอเอฟพี

เมื่อคนบนโลกนี้พร้อมใจกันเลิกถือเงินสด เรื่องนี้จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริงเมื่อไรยังไม่มีใครบอกได้ แต่เชื่อได้ว่าคงอีกไม่นานเกินรอ เพราะปัจจุบันในหลายประเทศทั่วโลก ผู้คนก็เลิกถือเงินสดหรือแทบจะไม่ถือเงินสดกันแล้ว เรื่องที่อยากมาชวนคุยวันนี้คือผลลัพธ์ที่เหมือนกัน ถ้าคุณ “ใช้” อย่างไม่มีวินัย

ล่าสุดผู้เขียนได้ยินเพื่อนซึ่งเดินทางไปท่องเที่ยวที่จีน เขาบอกว่า ชายหนุ่มที่ยืนปิ้งมันเผาขายอยู่ริมถนน ไม่รับเงินสดค่าซื้อสินค้า แต่ทุกคนที่มายืนต่อแถวเพื่อรอซื้อมันแถวของเขา ต้องใช้สกุลเงินเสมือนเพื่อแลกเปลี่ยนกับค่าตอบแทน ฟังดูก็เหลือเชื่อ โดยเฉพาะกับคนไทยเราที่การใช้สกุลเงินเสมือน หรือที่เรียกกันว่าบิตคอยน์ยังอยู่ในวงจำกัด

อยากชวนให้คิดในอีกมุมหนึ่งว่า การใช้สิ่งที่เรียกว่าเสมือนเงินสดนี้ ถ้าใช้อย่างไม่คิด ก็ไม่แตกต่างจากการใช้บัตรเครดิตอย่างไม่คิด ใช้อย่างฟุ่มเฟือย ไม่บันยะบันยัง ขาดความยับยั้งชั่งใจ ข้อเสียของการใช้บัตรเครดิตแทบจะเอามาถอดบทเรียนแทนกันได้กับเงินเสมือนจริง

ในฐานะที่เราก็ต้องเป็นคนหนึ่งที่จะก้าวเดินสู่ถนนที่ไร้เงินสด จึงต้องใช้อย่างมีภูมิคุ้มกัน สำนึกรู้ที่จะช่วยให้เราใช้เงินเสมือนจริงได้อย่างไม่ตกเป็นเหยื่อ (ของตัวเอง) ก็คือการมีสติเท่าทัน ทุกครั้งที่จะ Charge พึงเตือนตนว่า มันคือเงินในกระเป๋าของเรานะ

“การใช้เงิน” กับ “การออมเงิน” นั้น เป็นคู่ผกผันกัน ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงกับอเมริกันชนหลังยุคเศรษฐกิจตกต่ำ คนอเมริกันในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะหันกลับมาใช้เงินสดกันมากขึ้นเหมือนเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว

ค่านิยมของคนอเมริกัน การออมเป็นเรื่องชวนหดหู่ การกินการบริโภคแบบฟุ่มเฟือยคือส่วนหนึ่งของรากฐานวัฒนธรรม ถือเป็นสังคมบริโภคสมบูรณ์แบบ สถาบันการเงินและสิ่งแวดล้อมในสังคมล้วนมีส่วนสนับสนุนให้มีการใช้จ่ายอย่างเต็มที่ ครอบครัวฐานะระดับกลางมีบัตรเครดิตเฉลี่ยครอบครัวละ 13 ใบ!

นั่นทำให้เรโชการออมต่อรายได้ครัวเรือนเกือบจะเป็นศูนย์ (สัดส่วนนี้เคยสูงถึง 25% ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) อย่างไรก็ตาม วิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันก็ทำให้คนอเมริกันได้เรียนรู้อยู่เหมือนกันว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พวกเขาลำบาก ก็เพราะไม่มีวินัยการใช้จ่าย

การหันมาใช้เงินสดมากขึ้นของคนอเมริกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถาบันการเงินเข้มงวดมากขึ้นกับการเปิดวงเงินในบัตรเครดิต เพื่อป้องกันหนี้เสียในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ รวมทั้งบทเรียนของคนอเมริกันเองที่ได้รู้ (สักที) ว่า เจ็บปวดแค่ไหนเวลาจำเป็นต้องใช้เงิน แต่ต้องพบว่าเงิน (ในอนาคต) ถูกนำมาใช้จนหมดเกลี้ยง

การใช้เงินสดที่แนวโน้มเริ่มกลับมามากขึ้นของคนอเมริกัน อาจสะท้อนได้ว่า เป็นการปรับตัวแบบหนึ่งของเขา นั่นคือการปรับตัวให้อยู่ในกรอบที่กำหนดขึ้นโดยเงินสดในกระเป๋านั่นเอง เงินสดในกระเป๋ามีเท่าไร ก็เท่ากับบังคับให้ตนเองใช้เงินเท่าที่มี

เหมือนกับคติไทยที่ว่า กินอยู่ไม่เกินตัว หมายถึง มีเท่าไรก็ใช้เท่านั้น วินัยที่ฝึกจากกรอบของเงินในกระเป๋านี้ ช่วยให้ชีวิตอยู่ในกรอบ ไม่เถลไถลไปตามกิเลสความอยาก ไม่บิดเบี้ยวไปจากแนวที่กำหนด ที่สำคัญไม่ทำให้เกิดหนี้ แม้จะต้องลดความสะดวกสบายลง

บิตคอยน์ สกุลเงินใหม่ที่ซื้อขายกันในออนไลน์ คือสกุลเงินเสมือนที่ไม่รวมศูนย์ที่สถาบันการเงินอีกต่อไป หากดำเนินตัวเองไปตามระบบที่ออกแบบไว้ ปัจจุบันที่แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา มีการตั้งตู้เอทีเอ็มบิตคอยน์ให้คนที่มีแอดเดรสมากดแลกเงินสดออกมาได้ การใช้บิตคอยน์ในหลายประเทศถูกจับตาว่าอาจเป็นส่วนหนึ่งของการฟอกเงิน ในประเทศไทยธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่ยอมรับให้บิตคอยน์เป็นสิ่งถูกกฎหมาย

สรุปว่า ไม่ว่าจะบัตรเครดิตหรือบิตคอยน์อนาคต ถ้าใช้ไม่เป็น ใช้อย่างไม่รู้เท่า ก็ลำบากเหมือนกันหมด พึงมีชีวิตอยู่ในกรอบ (เงินสด/กระแสเงินสด) ดีกว่าให้ตัวเองต้องปวดหัวก่ายหน้าผากล่วงหน้า เพราะไม่มีเงินและเสมือนเงิน ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต!