posttoday

‘ศศิวิมล’กับผลงาน Freezing The Hearts ผู้หญิงแถวหน้างานเวนิสเบียนนาเล 2017

24 มิถุนายน 2560

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้หญิงคนหนึ่งนำผลงานที่เป็นการต่อยอดทางความคิด จากงานถนัดและงานประจำ คือสถาปนิกออกแบบตามที่ลูกค้าต้องการ

โดย...ยินดี ฤตวิรุฬห์

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้หญิงคนหนึ่งนำผลงานที่เป็นการต่อยอดทางความคิด จากงานถนัดและงานประจำ คือสถาปนิกออกแบบตามที่ลูกค้าต้องการ ผลักดันตัวเองเข้าไปอยู่ในการทำงานด้านศิลปะที่สามารถรังสรรค์งานได้อย่างลงตัวและผลงานเข้าตางานระดับโลกจนได้รับเทียบเชิญให้ไปร่วมงาน มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล 2017 (Venice Art Biennale 2017) ที่เริ่มจัดตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.-26 พ.ย. 2560 และเป็นการจัดครั้งที่ 57 งานนี้จะจัดขึ้นในทุก 2 ปี 

 "ศศิวิมล สินธวณรงค์" ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ บริษัท จาร์เค็น เจ้าของผลงาน Freezing The Hearts : หยุดทำร้ายหัวใจกัน เป็นหนึ่งในผู้หญิงไทยที่สามารถนำผลงานไปอวดสายตาชาวโลกในครั้งนี้ และด้วยวัยเพียง 36 ปี งานที่เราอาจเห็นผลงานของเธอโลดแล่นในเวทีโลกเวทีถัดไปได้ไม่ยาก

 "เป็นความภาคภูมิใจในฐานะของคนไทยที่ได้นำผลงานไปร่วมโชว์กับนักออกแบบทั่วโลก แล้วในฐานะของสถาปนิกหรือนักออกแบบ การเข้าร่วมโชว์ใน Venice Art Biennale 2017 ถือเป็นที่สุดของงานโชว์ระดับโลกอีกงานหนึ่ง" ศศิวิมล เล่า

แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดการคิดค้นงานศิลปะชั้นนี้ขึ้นมา เธอบอกว่าเกิดจากในทุกเช้าที่เธออ่านข่าวผ่านหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อ และพบว่าจะมีการนำเสนอในเรื่องของความรุนแรง การทำร้ายกัน จึงอยากให้ทุกคนหยุด หยุดทำร้าย หยุดเหยียบย่ำหัวใจ ถอยหลังกันมานิดหนึ่งและตั้งสถิติเพราะด้วยความเชื่อที่ว่าทุกคนมีหัวใจ ได้โปรดอย่าเหยียบย่ำกันเลย เมื่อมีมุมแบบนี้จึงได้เกิดเป็นแนวคิดและนำมาออกแบบในการนำมาทำงานศิลปะชิ้นนี้

เธอบอกว่า หยุดทำร้ายหัวใจกัน...ที่นำไปจัดแสดงในครั้งนี้ ได้พัฒนาผลงานออกแบบ ซึ่งในมุมมองของดีไซเนอร์นั้น การจะสรรหาวัสดุใหม่สักชิ้นเพื่อนำมาใช้ในงานตบแต่งภายใน วัสดุชิ้นนั้นจะต้องมีความพิเศษ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อาทิ วัสดุสำหรับใช้ภายนอกที่ถูกกัดกร่อนจากระยะเวลาของธรรมชาติ ทั้งแสงแดด น้ำ ฝุ่น ลม ฯลฯ จนเกิดเป็นการกัดกร่อนในรูปแบบต่างๆ การคิดงาน Freezing จึงเกิดขึ้นเพื่อให้ได้สีและรูปแบบให้เหมาะสมกับนำมาใช้ได้ชัดเจน

สอดรับกับเทรนด์ของโลกในเรื่องการใช้ประโยน์จากสิ่งรอบตัว เช่น พวก re-gift/re-target การเชื่อมต่อกับคนต่างสาขา การพัฒนาตัวเองจากสถาปนิกเข้าสู่การทำงานหลากหลาย ความกล้าที่จะเดินผ่านขอบเขต ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทาย และเป็นจุดมุ่งหมายของ จาร์เค็น ด้วยเช่นกัน ที่ต้องการให้ลูกค้าเห็นงานออกแบบที่หลากหลาย

เวนิส เบียนนาเล งานที่โชว์ผลงานการออกแบบประติมากรรมเชิงสร้างสรรค์ด้านสถาปัตยกรรมใหม่ระดับมาสเตอร์พีซ ซึ่งงาน Freezing The Hearts ของ ศศิวิมล นำผลงานในนามของบริษัท จาร์เค็น โดยผลงานชิ้นนี้ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้จัดงานและภัณฑารักษ์ ให้เป็นศิลปินใหม่ที่มีผลงานที่สนใจโดดเด่น

Freezing The Hearts ถูกเลือกให้ไปจัดโชว์บนพื้นที่กว่า 14 ตารางเมตร ของพิพิธภัณฑ์ PALAZZO MICHIEL งานมหกรรมศิลปะที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดในโลก หรือเทียบเคียงได้กับว่าเป็นเวทีโอลิมปิกของงานศิลปะที่ศิลปินชื่อดังจากทั่วโลกใฝ่ฝัน จะนำผลงานของตัวเองเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานโชว์ในแต่ละครั้ง และ Freezing The Hearts เป็นหนึ่งในชิ้นงานจากทั้งหมด 52 ชิ้น จากทั้งหมด 17 ประเทศ ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ที่ศิลปินที่เข้าร่วมก็จะมีความหลากหลายในการนำเสนอแนวคิดและความคิดที่ทำให้เกิดขึ้นงานที่สวย งดงาม สื่อความหมายของในแต่ละชิ้นงานออกไป

ผลงานของ ศศิวิมล เมื่อเราก้าวขึ้นไปบนพื้นที่จัดงานในชั้นที่ 2 ก็จะพบกับ Freezing The Hearts ตั้งเด่นสง่า กลางห้อง ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นทำเลที่เด่น และทุกคนที่เข้ามาชมงานจะต้องหยุดเพื่อดูเพราะถ้าหากจะเดินตรงผ่านไปก็ไม่สามารถทำได้เพราะเท่ากับการเหยียบลงไปกลางหัวใจ ดังนั้น ผู้ชมงานจะต้องหยุดและชมหัวใจดวงนี้ เมื่อเดินเข้าไปใกล้ๆ จะได้ยินเสียงของหัวใจเต้นตุบ ตุบ ตุบ เป็นระยะเสมือนชิ้นงานที่มีชีวิตจริงและสอดคล้องแนวคิดและองค์ประกอบหลักที่เจ้าของผลงานตั้งใจนำเสนอ

 หัวใจเป็นองค์ประกอบหลัก ที่เป็นตัวแทนของความรู้สึก เศร้า โกรธ เสียใจ หวาดกลัว ทางด้านลบพร้อมด้วยลักษณะพิเศษของสี (การทำปฏิกิริยากับออกซิเจน) เพื่อเป็นตัวแทนในการสื่อสารของความรู้สึกที่แตกต่างกัน เป็นการสื่อสารให้สังคมหยุดเหยียบย่ำหัวใจ ทำร้ายจิตใจ ด้วยการหยุดความคิด ความรุนแรง แม้กระทั่งการหยุดทำลายสิ่งแวดล้อม โดยใช้เฉดสีแนวพาสเทล เพื่อต้องการอ้างอิงว่า ที่จริงแล้วหัวใจมนุษย์ทุกคนนั้นมีความรู้สึกดีเสมอ

ทั้งนี้ คนที่เดินผ่านผลงาน heart Object จะต้องมีสติในการเดินและพึงระวังการเหยียบหัวใจ หรือ heart Object ซึ่งเป็นการตีความในรูปแบบที่ตรงไปตรงมา โดยศิลปินตั้งใจให้งานศิลปะครั้งนี้ถูกตีความออกมาในภาษาทางความรู้สึกแบบเข้าใจง่ายก่อนที่จะเดินผ่านพื้นที่นี้จะมีภาพเนื้อหาให้ผู้ที่สนใจได้ดูเพื่อให้เกิดความรู้สึกต่อจิตใจของผู้ดูก่อนที่จะเดินเข้าไปในพื้นที่แห่งนี้

สำหรับ ศศิวิมล การต่อยอดและความคิดที่ไม่ได้หยุดนิ่งเฉพาะในงานสถาปนิก แต่เมื่อกระจายเข้าไปสู่ในศิลปะก็จะยิ่งเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับงานมากขึ้นและการที่ จาร์เค็น เป็นบริษัทด้านการออกแบบด้านสถาปัตย์ งานด้านการตกแต่ง เมื่องานศิลปะที่ได้ขยายเข้าไปทำก็จะเป็นชิ้นงานที่จะสามารถนำมาสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้

ศศิวิมล บอกว่า ในทุกครั้งและทุกการทำงานของเธอนั้นจะยึดหลักความพึงพอใจหรือความต้องการของลูกค้าเป็นที่ตั้งเพื่อให้ลูกค้าพอใจในชิ้นงานที่จะเกิด และในการทำงานจะลงไปในทุกรายละเอียดของการใช้ชีวิต เช่น จะคำนึงถึงว่าในชีวิตแต่ละวันลูกค้าแบบอย่างไร และคิดเพื่อไปถึงความสะดวกปลอดภัยในชีวิตเลยและเพื่อไปถึงอนาคตถ้าลูกค้าเข้าสู่วัยเกษียณแล้วบ้านที่เขาให้ออกแบบจะรองรับได้ และทั้งหมดนี้คือวิธีและแนวทางที่ยึดมาตลอดในการทำงาน

ด้วยแนวคิดที่ละเอียดทำให้ตลอดระยะเวลาของการทำงานสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสถาปัตยกรรม ทำให้เธอได้รับรางวัลมามากมาย เช่น 2559 Singapore Interior Design Awards 2016 (SIDA) Silver Award สาขา Public Space รางวัลออกแบบตกแต่งภายในยอดเยี่ยม 8th SMEs National Awards 2016 (Thailand) กลุ่มธุรกิจงานสร้างสรรค์และออกแบบ จากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

ปี 2558 รางวัล IAI Design Award Asia 2015 (Singapore) Design Excellence Award (Commercial) Top Design Practice 2015 Design Business Chamber Singapore

สุดยอดบริษัทออกแบบในเอเชีย 2558 จากหอการค้าธุรกิจสิงคโปร์- SG Good Design Mark 2015, 3 Awards on Textile, Fashion, pop-up Art Installation And Office Interior Design Business Chamber Singapore

3 รางวัล จาก SG Good Design Mark ด้านแฟชั่น ด้านออกแบบภายใน ประเภท ร้านค้า และสำนักงานจากหอการค้าธุรกิจสิงคโปร์

เธอจบปริญญาตรีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เอกสถาปัตยกรรมตกแต่งภายใน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2545 ปี 2549 ได้รับประกาศนียบัตรหลักสูตรการออกแบบพาร์สันส์ ที่นิวยอร์ก สาขาดีไซน์แมเนจเมนต์ และปี 2551 ได้รับประกาศนียบัตรหลักสูตรออกแบบจากสถาบันการออกแบบ DOMUS Academy ประเทศอิตาลี