posttoday

‘คนไทยกลุ่มแรก’ กับภารกิจปักธงไตรรงค์ขั้วโลกใต้

18 พฤษภาคม 2560

ดีเป้าหมายครั้งนี้มีทั้งความยิ่งใหญ่และทั้งความบ้าระห่ำ กับการมุ่งไปปักธงไทยไตรรงค์ที่ขั้วโลกใต้

โดย...ปอย ภาพ วีรวงศ์ วงศ์ปรี

ดีเป้าหมายครั้งนี้มีทั้งความยิ่งใหญ่และทั้งความบ้าระห่ำ กับการมุ่งไปปักธงไทยไตรรงค์ที่ขั้วโลกใต้ เจ้าของโครงการ TJ’s True South แน่นอนว่าคือนักธุรกิจสุดขั้วคนนี้ ผู้เคยสร้างดีกรีชาวเอเชียคนแรกพิชิตการแข่งอัลตรามาราธอนที่ขั้วโลกเหนือมาแล้ว ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้บริหารกลุ่มบริษัท ไทยซัมมิท การประกาศภารกิจล่าสุดจึงใช้ชื่อและนามสกุลของเขา “ทีเจ” สร้างเป้าหมายยิ่งใหญ่ไม่แพ้ครั้งก่อน มีกำหนดการคือปี 2561 ทีมคนไทย 10 ชีวิต จะออกเดินทางจาก ยูเนี่ยน กลาเซียร์ (Union Gracier) ในทวีปแอนตาร์กติกา สวมรองเท้าสกีเดินบนเส้นทางน้ำแข็ง ทุกคนต้องพึ่งสองขาของตัวเอง ลากสิ่งของบนแคร่ตลอดการเดินทางกว่า 1,200 กิโลเมตร (กม.) จนถึงจุดหมายขั้วโลกใต้ นำธงไทยไปปักเป็น 1 ใน 19 ประเทศ

การเดินทางใช้เวลาประมาณ 45 วัน โดยตั้งแคมป์กินนอนบนน้ำแข็ง ในอุณหภูมิโดยเฉลี่ยอาจลดลงถึง -50 องศาเซลเซียส ในสภาพอากาศติดลบอันหนาวเหน็บ

ธนาธร ประกาศรับสมัครคนไทยร่วมทีมทรหด เริ่มด้วยการลงชื่อสมาชิกผ่านทางเฟซบุ๊ก ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2559-15 มี.ค. 2560 ไม่น่าเชื่อว่ามีผู้สมัครเข้ามาร่วม 200 คน ทั้งชายและหญิงส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ด่านแรกเป็นการทดสอบวัดความอึดและแข็งแกร่งของร่างกาย เริ่มด้วยสนามแรกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน วิ่งระยะทาง 100 กม. ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง (ชม.)

จากนั้นเข้าสู่รอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกายในรอบที่สอง ในรอบนี้เหลือคนแกร่ง 48 คน มีผู้หญิงติดมาด้วย 20%  

รอบที่สาม 48 ชีวิต ถูกทดสอบความทรหดขึ้นไปอีก เริ่มในปลายเดือน เม.ย. ช่วงอุณหภูมิร้อนทะลุเดือด สนามคัดผู้ทรหดอยู่ที่พัฒนากอล์ฟคลับ แอนด์ รีสอร์ท ศรีราชา จ.ชลบุรี ผู้เข้ารอบนี้ถูกท้าทายขีดจำกัดของร่างกายด้วยโปรแกรมฝึกรูปแบบ “บู๊ตแคมป์” จากทีม Unit 27 Thailand วิธีการฝึกในแบบเดียวกับหน่วยซีล เพื่อสามารถไปใช้ชีวิตอยู่รอดให้ได้ในพื้นที่ร้างบนดาวเคราะห์สีน้ำเงิน “ทำไมธงไทยต้องปัก ณ ขั้วโลกใต้?” เจ้าของโครงการ “True South” มีคำตอบ

‘คนไทยกลุ่มแรก’ กับภารกิจปักธงไตรรงค์ขั้วโลกใต้

กายแกร่ง หัวใจแกร่ง

“ถ้าคุณทดสอบคนให้ดูตอนเขาสิ้นหวัง ช่วงเวลาสนุกมีความสุข คุณจะไม่ได้เรียนรู้คนจริงๆ ตอนเหนื่อย หมดแรง นี่คือช่วงได้ดูทัศนคติ การทดสอบให้ถึงที่สุด เราจะได้รู้ว่าใครเป็นคนอย่างไร...”  ธนาธร ให้สัมภาษณ์ท่ามกลางแสงแดดเปรี้ยง ในสนามสุดโหด พัฒนากอล์ฟคลับ แอนด์ รีสอร์ท ซึ่งผู้บริหารไทยซัมมิทลงฝึกด้วยทุกสนามในฐานะโปรเจกต์เฮด

การฝึกเป็นไปในรูปแบบบู๊ตแคมป์ มี 4 ครูฝึกสุดโหด เริ่มหลังข้าวเที่ยงยังไม่ย่อยเรียงเม็ด ชายหญิง 48 คนที่เข้ารอบ วอร์มร่างกายเบาๆ วิดพื้นบนถนนซีเมนต์ร้อนจี๋ 40 กว่าองศา อะไรที่ว่าโหดมาหมด ทั้งการแบกบัดดี้เดินรอบสนามฟุตบอล 1 รอบ การฝึกไม่มีหยุดพักด้วยท่าฝึกต้านกล้ามเนื้อทุกๆ มัด ชายอกสามศอกหลายคนล้มตัวตะคริวกินไปตามๆ กัน

ต่อด้วยการลากยางรถยนต์น้ำหนัก 50 กิโลกรัม (กก.) น้ำหนักเท่ากับการลากเลื่อนใส่อุปกรณ์ยังชีพในแบบที่เดินบนขั้วโลกใต้ ภารกิจนี้จบลงในตอนสามทุ่ม

“รอบนี้ต้องคัดให้เหลือเพียง 30 คน ผมฝึกกับเขาทุกๆ เซ็กชั่น ถ้าไม่ร่วมลำบากกับเขา คุณก็จะนำเขาไม่ได้ แล้วเมื่อไปถึงที่นั่นแล้ว ชีวิตคุณคือผม ชีวิตผมคือคุณ มันต้องฝากชีวิตไว้ด้วยกัน คนเราผูกพันกันได้ก็ด้วยความลำบาก ความสบายไม่เคยทำให้คนรักกันจริง ถ้าจะเหนียวแน่นกันจริง เราต้องลำบากไปด้วยกัน” ธนาธร ย้ำหนักแน่น

การไปปักธงไตรรงค์ที่ขั้วโลกใต้สำคัญอย่างไร ธนาธร บอกว่าในแง่ส่วนตัวคือการทำความฝันในการเป็นนักผจญภัยให้เป็นจริง ส่วนในแง่สังคม ความกล้าผจญฝ่าฟันความยากลำบากในดินแดนสุดโหด โครงการนี้น่าจะสร้างแรงบันดาลใจ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้เกิดความรักชีวิตกลางแจ้ง แล้วจะเกิดการตั้งคำถามนักแสวงหา เกิดการค้นหากระตุ้นให้หนุ่มสาวใฝ่คว้าหาความฝันของตัวเอง ซึ่งนี่คืออุปนิสัยของการสร้างชาติอย่างหนึ่ง

“2 ใน 3 เป็นพนักงาน 1 ใน 3 เป็นเจ้านายตัวเอง ปัญหาหนักใจสำหรับผมคือ ทุกคนมีคุณสมบัติไปได้หมด ผู้หญิงแข็งแกร่งไม่แพ้ผู้ชาย มีคนไทยพร้อมเสี่ยงชีวิตไปผจญภัยครั้งนี้มากกว่าที่คิดไว้ครับ 45 วันเดินเท้าไปทุกอย่างคือความลำบาก ต้องเรียกร้องแรงกายแรงใจอย่างสูง อุณหภูมิ -30 องศาต้องเตรียมร่างกายให้แข็งแกร่งพร้อมที่สุด ทุกอย่างขาวโพลนไปหมด เดินไปตามเข็มทิศ 90 องศาใต้ พื้นทวีปไม่มีสิ่งมีชีวิตเป็นดินแดนแห้งแล้ง เส้นทางไม่ใช่เรื่องน่ากังวลครับ แต่สิ่งที่น่าหนักใจคือการใช้ชีวิตเดิมๆ เดินไปในทิวทัศน์เดิมๆ มีแต่สีขาวโพลน ก็ไม่รู้จะเรียกว่านรก หรือสวรรค์นะครับ” ธนาธร บอกพลางยิ้มแย้มกลางแดดจ้า

เมื่อถามว่าทำไมต้องเป็นขั้วโลกใต้? “เราคือ 10 คนไทยกลุ่มแรกนะครับที่จะได้ไปปักธงไทย ซึ่งก็น่าจะเป็นแรงบันดาลใจได้อีกครั้งใหญ่ เพราะ 10 คนนี้ก็คือคนธรรมดา ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างต้องหาเลี้ยงครอบครัว การไปครั้งนี้หลายๆ คนต้อง Leave Without Pay ไม่มีเงินเดือนในช่วง 2 เดือนที่ไป สมรภูมินี้ก็เปรียบการสู้ชีวิต ทุกคนต้องเตรียมวางแผนชีวิตต้องพร้อมทั้งร่างกายและหัวใจ ถ้าพวกเราทำได้ ทุกๆ คนใครๆ ก็ทำได้แน่นอนครับ แล้วเป็นการเดินทางที่ไม่มีการจ้างคนนำทางเลยนะครับ ทุกๆ อย่างออกแบบโดยคนไทยทั้งหมด ถ้าเราทำได้ถือเป็นความภาคภูมิใจ” TJ ธนาธร นักผจญภัยไฟแรงซึ่งกระตุ้นพลังให้กับคนร่วมทีม บอกทิ้งท้าย

โครงการนี้ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเท่านั้น เมื่อสิ้นสุดภารกิจนักผจญภัยทั้ง 10 คน มีรางวัลการก้าวสู่เส้นชัยแห่งความสำเร็จคือเงิน 1 ล้านบาท โดยทั้ง 10 คนเลือกบริจาคเข้ามูลนิธิใดก็ได้ก็ถือว่าความมุ่งมั่นได้ทำเพื่อสังคมอีกด้วย

‘คนไทยกลุ่มแรก’ กับภารกิจปักธงไตรรงค์ขั้วโลกใต้

ความฝันมากับความมุ่งมั่น

การฝ่าด่านทดสอบความแข็งแกร่ง ชาว True South มีหลากหลายอาชีพอย่างที่เจ้าของโครงการ ทีเจ บอกไว้ ซึ่งก็มีทั้งแพทย์หญิง ทันตแพทย์ กราฟฟิกดีไซเนอร์ สถาปนิก พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เจ้าของธุรกิจ นักกีฬาทีมชาติ ไปจนถึงอาชีพแปลกๆ นักกู้ภัยบนที่สูง โดยทั้ง 48 คนมีเป้าหมายเดียวกันกับการผจญฝันสู่ขั้วโลกใต้

เกษมนิรันดร์ สุวังบุตร พนักงานรัฐวิสาหกิจ อายุ 34 ปี บอกว่าสะสมประสบการณ์วิ่งมาราธอน 10 กว่าปีแล้ว ความเหนื่อยล้าเทียบไม่ได้กับความโหดฝึกต่อเนื่อง 9 ชม. แล้วกับสนามแรกวิ่ง 100 กม. วิ่งต่อเนื่อง 24 ชม. ก็ถือเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่ต้องเก็บไว้ในความทรงจำ

“ตอนลากยางรถยนต์ 50 กก. ต้องลากไปชั่วโมงกว่าตอนนั้นเหนื่อยมากที่สุด เหนื่อยจนต้องสบถดังๆ ออกมา (หัวเราะ) แต่หันไปเจอผู้หญิงที่ลากในน้ำหนักไม่แพ้เรา เราต้องไปต่อให้ได้ ร่างกายคนเราพัฒนาได้มากกว่าขีดจำกัดร่างกายของตัวเองครับ ผมเป็นนักวิ่ง การเตรียมตัวถ้าได้ไปแข็งแกร่งเท่านี้ไม่พอครับ 1 ปีเต็มๆ คือการสร้างกล้ามเนื้อแขนขาให้แกร่งกว่านี้ รวมทั้งมือด้วย ต้องเร่งสร้างกล้ามเนื้อที่มือโดยมีที่บีบซ้อมทุกๆ วัน เพราะไม่ได้เดินไปบนพื้นเรียบๆ นะครับ ต้องปีนหน้าผา  

ตอนสัมภาษณ์รอบสอง ผมบอกว่าในชีวิตผมไม่เคยเจอหิมะ นิ้วเจอน้ำแข็งใกล้ที่สุดก็คือช่องฟรีซตู้เย็น (หัวเราะ) เสิร์ชข้อมูลเกี่ยวกับขั้วโลกใต้สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ ความหนาวเย็น และแรงลม ความแข็งแกร่งของร่างกาย และใจที่ฝึกฝนมาจากการวิ่งมาราธอนก็น่าจะช่วยได้ ถ้าได้ไปนะครับ”

พญ.สกุณา อุษณวศิน กุมารเวชวัย 44 ปี นักวิ่งอัลตราเทรลรูปร่างเล็กเพรียว แต่แข็งแกร่งไม่แพ้ผู้ชาย สนามสุดท้ายกับการลากยางรถยนต์ “หมอนก” เข้าเส้นชัยเป็นคนสุดท้ายในแบบสู้สุดหัวใจ

“ต้องไปให้ถึงจุดหมายให้ได้ เหนื่อยสุดๆ ก็ทำสมาธิค่ะ แล้วไปต่อให้ได้ เส้นชัยอยู่ข้างหน้าเรายังเห็นนะคะแต่ถ้าการไปขั้วโลกใต้ เรื่องน่ากลัวมีมากกว่านั้นโดยเฉพาะสิ่งที่เรามองไม่เห็น นอกจากความหนาวเย็นที่ว่าน่ากลัวแล้ว หมอผ่านสนามไอรอนแมนจบมา 3 สนาม ปั่นจักรยาน 600 กม. วิ่ง 60 กม.มาแล้ว แต่ครั้งนี้วิ่ง 100 กม. ก็จัดว่าไกลที่สุด ทุกครั้งหมอก็บอกตัวเองว่า เราต้องสู้” 

อรรถวุฒิ เลิศสาครศิริ สถาปนิกวัย 30 ปี เป็นนักไตรกีฬาบอกว่า สิ่งน่ากลัวไม่แค่ความเย็น แต่การเดินที่ไม่ใช่ทางเรียบนั้นยิ่งท้าทายพละกำลัง

“แล้วยิ่งมีสัมภาระน้ำหนัก 50 กก.ให้ลากไปด้วยตัวเองก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก คนที่เข้ารอบครั้งนี้หลายคนเป็นนักปีนเขา บางคนปีน 1 ใน 7 ซัมมิทส์หรือยอดเขาสูงที่สุดในโลกกันมาแล้ว แต่ผมทำเต็มที่ครับถ้าไม่ได้ไป ก็ไม่เสียใจ ผมผ่านสนามมาเยอะ คนเก่งกว่าผมก็สมควรได้ไปต่อ เราเพียงทำให้เต็มที่ก็พอแล้วครับ”

ภารกิจครั้งที่ 4 ของชาว True South เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. ฝึกกันที่ เดอะ ริงค์ ไอซ์ อารีนา (The Rink Ice Arena) ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ เวิร์กช็อปทักษะสเกตน้ำแข็งเพื่อฝึกเป็นพื้นฐานการเดินบนหิมะ แล้วต่อจากนี้นักผจญภัยยังต้องฝึกทั้งปีนเขา เดินป่า เพื่อเตรียมตัวสำหรับการผจญฤดูร้อน เดือน พ.ย. 2561 ที่ขั้วโลกใต้