posttoday

'facebook : โลกอันซ้อนกันอยู่' ชาติ กอบจิตติ

01 พฤษภาคม 2559

ปรากฏการณ์ในวงการหนังสือที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา ถ้าไม่พูดถึงหนังสือเล่มที่หนากว่า 700 หน้า

โดย...พริบพันดาว ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์

ปรากฏการณ์ในวงการหนังสือที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา ถ้าไม่พูดถึงหนังสือเล่มที่หนากว่า 700 หน้า ของ ชาติ กอบจิตติ คงไม่ได้แล้ว เพราะหนังสือเล่มนี้ถือเป็นหมุดหมายที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของวงการหนังสือเมืองไทยอีกด้วยเช่นกัน

“facebook : โลกอันซ้อนกันอยู่” เป็นชื่อของหนังสือเล่มนี้ โดยศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี 2547 และนักเขียนดับเบิ้ลซีไรต์ ซึ่งเป็นคนเขียนและมีเพื่อนในเฟซบุ๊กของเขาจำนวนเต็มอัตราศึก 5,000 คน เป็นผู้อ่าน และส่วนหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นในต่างเวลาต่างกรรมต่างวาระ และถูกคัดมาไว้ในหนังสือจำนวน 604 คน และให้คำจำกัดความว่า เป็นงานทดลองเชิงพื้นที่

“ทำงานเหมือนบรรณาธิการต้องมานั่งตัดต่อ เหนื่อย...ใช้เวลา 4-5 เดือน ถ้าเป็นนวนิยาย เราเขียนเสร็จแล้วให้เขาเรียงพิมพ์ก็จบ” ชาติได้พูดบนเวทีเสวนางานทรีอินวัน พันธุ์หมาบ้า ซึ่งเป็นงานเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ เปิดนิทรรศการภาพถ่ายขาวดำของเขา กับภาพวาดลายเส้นแรเงาของ ครองศักดิ์ จุฬามรกต และเปิดร้านพันธุ์หมาบ้า ชุมทางสยามยิปซี บางซ่อน อย่างเป็นทางการ

เขาเล่าต่อในการเสวนาถึงกระบวนการทำงานในหนังสือเล่มนี้ โดยมีจุดเริ่มต้นที่สื่อโซเชียลอย่างเฟซบุ๊ก เพราะเห็นว่าเฟซบุ๊กเป็นพื้นที่ของการทำงานได้

“หมายถึงงานเขียน พอผมแน่ใจว่าผมจะทำอย่างไร ผมก็เปิดเฟซบุ๊กของตัวเอง ก็มีการคิดโครงว่าจะทำอะไร มันเป็นการทดลองและคิดว่าน่าจะได้ ถ้าเราควบคุมเอามันให้อยู่ ก็เป็นการวางแผนงานเท่านั้นเอง ผมมองว่าเป็นพื้นที่การทำงานการเขียนที่สดและไม่มีสื่อชนิดไหนที่จะพิเศษเท่าตรงนี้ นั่นคือการโต้ตอบที่ฉับไวระหว่างคนอ่านกับคนเขียน”

ชาติได้มองเฟซบุ๊กอย่างแยบคายถึงภาวะในโลกยุคปัจจุบัน การใช้โซเชียลมีเดียของคนยุคนี้ก็เหมือนกับเป็นโลกที่ซ้อนกันอยู่

'facebook : โลกอันซ้อนกันอยู่' ชาติ กอบจิตติ

 

“บางคนบอกว่าเฟซบุ๊กไม่ใช่เรื่องของความเป็นจริง หมายความว่าใช้นามปากกา ใช้ชื่ออะไรก็ได้ เป็นโลกเสมือนที่ซ้อนกันอยู่ พอทำๆ ไป...โลกที่ซ้อนกันอยู่นั่นล่ะคือโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งมันเป็นโลกของคุณแท้ๆ จะพิจารณาตัวคุณได้ เป็นโลกแห่งความจริง เป็นโลกของตัวคุณเอง เฟซบุ๊กจะบอกตัวจริงซึ่งเป็นตัวตนของคุณว่า คุณเป็นคนอย่างไร”

สำหรับการเข้าใจหนังสือเล่มนี้ เบื้องหลังกระบวนการทำงานได้ถูกถ่ายทอดเป็นตอนๆ บนเฟซบุ๊กในเพจที่ชื่อ โลกอันซ้อนกันอยู่ by Chart Korbjitti ซึ่งเขียนมาถึงตอนที่ 11 (ยังมีเป็นตอนๆ ออกมาเรื่อยๆ) ในการเล่าเบื้องหลังของวิธีคิดและการทำงานในกระบวนการต่างๆ ของหนังสือเล่มนี้ ตั้งแต่ลอยในอากาศจนกลายเป็นรูปเล่มนำมาแจกผู้ร่วมเขียนไปแล้วถึง 604 คน รวมถึงฉบับพิมพ์ครั้งแรกก็กำลังจะหมดลง เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ที่ตามออกมา และมีการเปลี่ยนโทนสีของปกจากสีน้ำตาลแดงเป็นสีคราม

โดยในพื้นที่ตรงนี้ ชาติเล่าเบื้องหลังว่า ใช้เวลา 8 วัน ในการที่มีสมาชิกมาแอดเป็นเพื่อนครบ 5,000 คน เข้ามาในหน้าเฟซบุ๊กของเขา

“ผมวางรูปโครงในหน้าของผมไว้คร่าวๆ ว่า เหมือนบ้านหลังหนึ่งที่คนที่นิสัยคล้ายๆ กัน รักชอบสิ่งที่คล้ายๆ กัน รสนิยมที่ใกล้เคียงกัน มาอยู่รวมกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน โดยอาศัยรูปแบบของนิตยสารให้คนในบ้านได้อ่าน นอกจากเรื่องหลักที่วางไว้แต่ต้นแล้วในนิตยสารเล่มนี้ (หน้าเฟซของผม) จะมีงานศิลปะ เพลง หนังสั้น กับแกล้ม (อาหาร) หนังสือ คิดในใจว่า คนที่เข้ามาในเฟซผม ทุกคนต้องติด ถึงเวลาโพสต์ต้องเปิดดู (ผมใช้ช่วงเวลาตอนสองทุ่มถึงสามทุ่ม เพราะคิดว่าตอนนั้นคงหายยุ่งแล้ว) พวกเราในบ้านที่ตามอ่านกันมา คงรู้กับใจ ว่าถึงตอนนั้นเข้ามาเปิดดูไหม?”

หลักใหญ่ใจความสำคัญของหนังสือ “facebook : โลกอันซ้อนกันอยู่” ชาติเล่าเบื้องหลังอย่างน่าสนใจว่า

“ผมจะพูดอะไรกับคนหนุ่มสาวได้เล่า ผมแก่แล้ว ผมเพียงแต่อยากจะบอกถึงชีวิตที่ผ่านมาของผมเท่านั้น ชีวิตที่รอดปลอดภัยมาถึงวันนี้ มีที่อยู่ที่ยืน เจอหน้าใครสบตาจ้องตาได้ ไม่ต้องก้มหลบ ผมไม่ได้พูดถึงความสำเร็จของชีวิต เพราะเรื่องนี้วัดกันไม่ได้ เราจะวัดกันตรงไหน ผมพูดถึงชีวิตผม ผมบอกคุณว่า ผมผ่านอะไรมา เวลาเจอปัญหา ผมมองมันอย่างไร ผมแก้มันหรือจัดการด้วยวิธีไหน เวลาผมไม่มีใคร ผมปลอบตัวเองอย่างไร ผมปลุกเร้าตัวเองอย่างไร ให้สู้ ผมมองเวลาที่ผ่านไปอย่างไร

“ในขณะเดียวกัน ผมเป็นคนชอบทำการค้า ไม่มีใครเคยรู้ ผมมาบอกพวกเขาในหน้าเฟซว่า การทำการค้าทำอย่างไร มารยาทของการค้า ชั้นเชิงของการทำการค้า ผมทำอย่างไร เผื่อว่าวันหนึ่งข้างหน้าอาจมีประโยชน์กับเขา อยากจะบอกเขาว่า มีแต่การทำงานเท่านั้น ที่จะทำให้ชีวิตคุณยืนอยู่ได้อย่างมีค่า อยากจะบอกเขาว่า มืออาชีพจริงๆ ในทุกอาชีพนั้น หัวใจของมันคืออะไร ผมจะบอกวิธีคิดของผม บอกทรรศนะของผม ฯลฯ อยากจะบอกสิ่งที่พวกเขาอาจยังไม่เคยรู้ ด้วยวัยยังไปไม่ถึง ผมบอกทำไม ผมบอกเพราะคิดว่ามันน่าจะมีประโยชน์กับคนหนุ่มสาว อย่างน้อยเขาจะได้มีข้อคิดในการดำเนินชีวิตข้างหน้าของเขา อีกไม่นานผมคงจะไป และถึงเวลานั้น เรื่องเหล่านี้ไม่ได้มีประโยชน์ต่อผมเลยแม้แต่น้อย”

ชาติ บอกถึงการเข้ามาทำงานในการทดลองเชิงพื้นที่ในเฟซบุ๊กของเขา สำหรับคนทั่วไปอาจจะมองว่า คนดังระดับที่เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ไม่น่าจะจำเป็นที่ต้องมาใช้เครื่องมือโซเชียลมีเดียเหล่านี้ และก็ได้รับความกระจ่างที่ลึกซึ้ง

“ทำไมจึงต้องเป็นเฟซบุ๊กด้วย เขียนเป็นหนังสือเลยก็ได้ไม่ใช่หรือ? ก็ใช่ แต่ถามกลับว่า ผมเขียนหนังสือออกเป็นเล่ม สมมติว่าชื่อ ‘คู่มือหนุ่มสาว’ ใครจะสนใจมาอ่าน แฟนหนังสือของผมคงไม่อ่าน เพราะต่างเลยวัยนั้นกันมานานโขแล้ว คนหนุ่มสาวก็ยิ่งไม่อ่าน เพราะไม่รู้จักผม เผลอๆ อาจจะแซวกลับด้วยว่า ลุงไปเขียนหนังสือธรรมะเถอะ แก่แล้วอย่ามายุ่งกับหนูเลย สรุปสั้นๆ คือพื้นที่ตรงนั้น (เขียนหนังสือออกมาเป็นเล่ม) ไม่เหมาะที่จะทำอย่างนั้น แต่พื้นที่ในเฟซบุ๊กเหมาะที่จะทำเรื่องนี้ เพราะเป็นพื้นที่ของวัยรุ่น เป็นแหล่งรวมของคนหนุ่มสาว ผมจึงใช้เนื้อที่ตรงนี้มาพูดกับพวกเขา พูดให้สั้นคือ ผมลงมาหาเขา ไม่ใช่ให้เขาปีนขึ้นไปหาผม ผมใช้พื้นที่ของพวกเขาพูดกับพวกเขาในสิ่งที่ผมอยากจะบอก ผมจึงใช้พื้นที่ของเฟซบุ๊กมาแก้ปัญหาของโจทย์นี้”

เพราะฉะนั้น หนังสือเล่มนี้คือคู่มือของคนหนุ่มสาวที่ ชาติ กอบจิตติ ทำงานเขียนแบบทดลองเชิงพื้นที่เพื่อให้ไหลลื่นและเหมาะกับไลฟ์สไตล์หรือวิถีชีวิตการอ่านของคนในทุกวันนี้ และในวันที่ 15 พ.ค. 2559 ที่จะถึงนี้ จะมีการเปิดตัว (อีกครั้ง) หนังสือ “facebook : โลกอันซ้อนกันอยู่” ที่ร้านพันธุ์หมาบ้า เชียงใหม่ ซึ่งเป็นกำหนดการเฉพาะวัน ส่วนรายละเอียดเรื่องเวลาและกิจกรรมต่างๆ โปรดติดตามในเฟซบุ๊กที่เชื่อมเครือข่ายกันอยู่ได้ เพราะเป็นโลกที่ซ้อนกันอยู่