posttoday

ดาวเคราะห์ชุมนุม

11 ตุลาคม 2558

ครึ่งหลังของเดือน ต.ค. 2558 หากท้องฟ้าเปิดไม่มีเมฆปกคลุมท้องฟ้ามากนักในเวลาเช้ามืด

โดย...วรเชษฐ์ บุญปลอด

ครึ่งหลังของเดือน ต.ค. 2558 หากท้องฟ้าเปิดไม่มีเมฆปกคลุมท้องฟ้ามากนักในเวลาเช้ามืด เป็นช่วงเวลาที่เราสามารถมองเห็นดาวเคราะห์สว่างได้ถึง 4 ดวง อยู่บนท้องฟ้าทิศตะวันออก ดาวเคราะห์ทั้งสี่ประกอบด้วย ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร และดาวพฤหัสบดี ดาวเคราะห์สามดวงหลังเกาะกลุ่มกัน เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่าดาวเคราะห์ชุมนุม

ดาวเคราะห์ชุมนุมหมายถึงปรากฏการณ์ที่ผู้สังเกตมองเห็นดาวเคราะห์อย่างน้อย 3 ดวง มาอยู่ใกล้กันบนท้องฟ้า ส่วนใหญ่สนใจเฉพาะดาวเคราะห์ที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ ปรากฏการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย เพราะดาวเคราะห์ต่างๆ เคลื่อนที่ไปรอบดวงอาทิตย์ แต่แนวการเคลื่อนที่เกือบอยู่ในระนาบเดียวกันที่เราเรียกว่าระนาบสุริยวิถี ซึ่งเป็นระนาบหรือเส้นทางที่เราเห็นดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ไปบนท้องฟ้า กลุ่มดาวจักรราศีคือกลุ่มดาวที่อยู่ตามแนวระนาบนี้

ดาวเคราะห์ชุมนุมที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ต.ค. 2558 เกิดขึ้นระหว่างดาวศุกร์ ดาวอังคาร และดาวพฤหัสบดี ดาวเคราะห์ทั้งสามอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต มีดาวหัวใจสิงห์หรือดาวเรกูลัส (Regulus) เป็นดาวฤกษ์สว่างที่สุดในกลุ่ม มองเห็นได้บนท้องฟ้าทิศตะวันออกตั้งแต่เวลาประมาณตี 4 ถึงรุ่งสาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันที่ 23-29 ต.ค. ซึ่งดาวเคราะห์ทั้งสามอยู่ใกล้กันภายในระยะ 5 องศา หากเรากำมือแล้วเหยียดแขนออกไปข้างหน้าให้สุด กำปั้นของเรามีขนาดเชิงมุมประมาณ 10 องศา ดาวเคราะห์ชุมนุมครั้งนี้จึงเห็นดาวเคราะห์สามดวงอยู่ใกล้กันภายในขนาดประมาณครึ่งกำปั้น

การสังเกตดาวเคราะห์ชุมนุมทำได้ตั้งแต่เวลาประมาณตี 4 หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย แต่เวลานั้นดาวเคราะห์ทั้งสามยังอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้า เมื่อเวลาผ่านไปจะเคลื่อนสูงขึ้นตามการหมุนรอบตัวเองของโลก สังเกตได้จนกระทั่งแสงอรุณสว่างกลบแสงดาวไปหมดเมื่อรุ่งเช้า

ดาวศุกร์สว่างที่สุดในสามดวงนี้ ดาวพฤหัสบดีสว่างรองลงมา ดาวอังคารสว่างน้อยที่สุด ก่อนการเข้าใกล้กันของดาวเคราะห์สามดวง เราจะเห็นดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดีอยู่ใกล้กันที่สุดในเช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 18 ต.ค. ดาวอังคารปรากฏอยู่ทางซ้ายมือของดาวพฤหัสบดีที่ระยะห่าง 0.4 องศา โดยมีดาวศุกร์อยู่สูงกว่าและห่างจากดาวทั้งสองประมาณ 6.4 องศา หลังจากวันนี้ดาวอังคารและดาวศุกร์จะเคลื่อนต่ำลงเมื่อเทียบกับดาวพฤหัสบดีเช้ามืดวันที่ 19-25 ต.ค. เราจะเห็นดาวพฤหัสบดีอยู่ระหว่างดาวอังคารกับดาวศุกร์

เช้ามืดวันจันทร์ที่ 26 ต.ค. ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีเข้าใกล้กันที่สุด โดยดาวพฤหัสบดีปรากฏอยู่ทางซ้ายมือของดาวศุกร์ห่างกันที่ระยะ 1.0 องศา เป็นวันที่ดาวศุกร์ทำมุมห่างจากดวงอาทิตย์ที่สุดด้วย เช้าวันนั้นดาวอังคารอยู่ต่ำกว่าดาวเคราะห์ทั้งสองประมาณ 3.5 องศา นับเป็นวันที่ดาวเคราะห์ทั้งสามเข้าใกล้กันที่สุด

วันที่ 27 ต.ค.-2 พ.ย. ดาวศุกร์อยู่ระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์เคลื่อนเข้าใกล้ดาวอังคารที่สุดในเช้ามืดวันอังคารที่ 3 พ.ย. โดยดาวอังคารอยู่ทางซ้ายมือของดาวศุกร์ที่ระยะห่าง 0.7 องศา และดาวพฤหัสบดีอยู่สูงกว่าดาวทั้งสองประมาณ 7 องศา

ดาวเคราะห์ชุมนุมแบบ 3 ดวง ซึ่งดาวเคราะห์ทั้งสามอยู่ใกล้กันภายในระยะ 5 องศา จะเกิดขึ้นอีกครั้งในปลายเดือน ม.ค. 2564 ระหว่างดาวพุธ ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ เมื่อมองจากประเทศไทยเข้าใกล้กันที่สุดในเวลาหัวค่ำของวันที่ 10-11 ม.ค. 2564 แต่อยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้าในกลุ่มดาวแพะทะเล แม้ท้องฟ้าปลอดโปร่งในฤดูหนาวก็อาจสังเกตได้ยาก ดาวเคราะห์ชุมนุมในวันที่ 13 ก.พ. 2564 ระหว่างดาวพุธ ดาวศุกร์ และดาวพฤหัสบดี ก็เกิดในช่วงที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ ทำให้สังเกตได้ยากเช่นกัน

ดาวเคราะห์ชุมนุมที่น่าจะสังเกตได้ดีอีกครั้งหลังจากปีนี้เป็นดาวเคราะห์ชุมนุมในเช้ามืดวันที่ 20-21 เม.ย. 2569 ระหว่างดาวพุธ ดาวอังคาร และดาวเสาร์ ห่างกันไม่เกิน 2 องศา โดยปรากฏอยู่ในพื้นที่ของกลุ่มดาวซีตัส ตามการแบ่งพื้นที่กลุ่มดาวสากล กลุ่มดาวนี้อยู่ติดกับกลุ่มดาวปลา ไม่ใช่กลุ่มดาวจักรราศีก็จริง แต่ดาวเคราะห์และดวงจันทร์สามารถผ่านเข้าไปในกลุ่มดาวนี้ได้ หลังจากนั้นอีกสองปี ดาวพุธ ดาวศุกร์ และดาวอังคาร จะเกาะกลุ่มกันภายในระยะ 5 องศา ในเช้ามืดวันที่ 17 มิ.ย. 2571 ในกลุ่มดาววัว

จะเห็นได้ว่าดาวเคราะห์ชุมนุมแบบ 3 ดวง เกิดขึ้นได้ไม่บ่อย และบางครั้งก็ปรากฏใกล้ดวงอาทิตย์จนสังเกตไม่ได้ หรือสังเกตได้ยาก ดาวเคราะห์ชุมนุมแบบ 4 ดวง ยิ่งหาได้ยาก ที่น่าจะสังเกตได้ดีอีกครั้งเป็นการชุมนุมกันระหว่างดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร และดาวเสาร์ ในเวลาเช้ามืดกลางเดือน ก.ค. 2297 (พ.ศ. 2840) โดยมีดาวพฤหัสบดีอยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก

ดาวเคราะห์ชุมนุมแบบ 5 ดวง ภายในระยะ 5 องศา แทบเป็นไปไม่ได้ และหากขยายขอบเขตออกไปเป็น 10 องศา มีเหตุการณ์ลักษณะนี้เพียง 5 ครั้ง ตลอดช่วง 5,000 ปี นับจากเริ่มต้นคริสตศักราช โดยเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 332, 710, 1186, 2040 และ 4959 ครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 8 ก.ย. 2583 ค่ำวันเดียวกันนั้นผู้สังเกตในประเทศไทยจะเห็นดวงจันทร์เสี้ยวอยู่ท่ามกลางดาวเคราะห์สว่างทั้ง 5 ดวง ในกลุ่มดาวหญิงสาว

ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (11-18 ต.ค.)

ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์สว่างดวงเดียวที่เห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่าบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ ดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง เข้าสู่กลุ่มดาวแมงป่องในสัปดาห์นี้ เริ่มเห็นดาวเสาร์ได้เมื่อท้องฟ้าเริ่มมืด ขณะนั้นอยู่สูงเหนือขอบฟ้าไม่เกิน 30 องศา จากนั้นเคลื่อนต่ำลง ตกลับขอบฟ้าราว 2 ทุ่มครึ่ง ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร และดาวพฤหัสบดี เป็นดาวเคราะห์สว่าง 4 ดวง ที่อยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดดาวพุธอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้ามากที่สุด ทำมุมห่างดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 16 ต.ค. อีกสามดวงอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต เช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 18 ต.ค. ดาวอังคารเข้าใกล้ดาวพฤหัสบดีที่ระยะ 0.4 องศา

เช้ามืดวันจันทร์ที่ 12 ต.ค. หากท้องฟ้าเปิดอาจมีโอกาสเห็นจันทร์เสี้ยวบางๆ อยู่ใกล้ขอบฟ้าท่ามกลางแสงอรุณในเวลาเช้ามืด (ต้องทราบตำแหน่งที่แน่นอน) หลังจันทร์ดับในวันที่ 13 ต.ค. จะเข้าสู่ข้างขึ้น ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำของทุกวัน วันศุกร์ที่ 16 ต.ค. จันทร์เสี้ยวอยู่ทางขวามือของดาวเสาร์ที่ระยะ 3 องศา สัปดาห์นี้ดาวยูเรนัสอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และใกล้โลกที่สุดในรอบปี ปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวปลา สว่างพอจะเห็นได้จางๆ ด้วยตาเปล่า แต่สังเกตได้ดีกว่าด้วยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ โดยต้องทราบตำแหน่งที่แน่นอนจากแผนที่ดาว