posttoday

ความสุขที่คุณกินได้

27 กันยายน 2558

การเลือกรับประทานอาหารอย่างถูกต้องและเหมาะสม สามารถสร้างรอยยิ้มเสริมความสุขให้กับทุกคน

โดย...ชะรอยนวล ภาพ AP

การเลือกรับประทานอาหารอย่างถูกต้องและเหมาะสม สามารถสร้างรอยยิ้มเสริมความสุขให้กับทุกคน ทั้งยังลดความเสี่ยงโรคหัวใจและมะเร็งได้อีกต่างหาก

ผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์สเปน ระบุว่า อาหารเมดิเตอร์เรเนียนมีผลกับดีทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้รับประทาน อาหารประเภทที่ว่าประกอบด้วย ผลไม้ ผัก ปลา ถั่ว และน้ำมันมะกอกเป็นหลัก ทั้งยังหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์หรืออาหารที่ผ่านการแปรรูปด้วย การศึกษากับคนจำนวนมากกว่า 1.5 หมื่นคน พบว่า การรับประทานอาหารเหล่านี้สม่ำเสมอทำให้ผู้คนห่างไกลจากภาวะซึมเศร้า

นักโภชนาการ ลินดา ฟอสเตอร์ กล่าวว่า “มีการวิจัยหลายชิ้นมากที่ระบุว่า อาหารมีอิทธิพลต่อทางเคมีในสมอง และการศึกษาครั้งล่าสุดนี้ยิ่งไปเพิ่มน้ำหนักให้กับความคิดที่ว่า คนเราสามารถกินเพื่อให้ตัวเองมีความสุขได้จริงๆ ถ้ากินอาหารที่เหมาะสมควบคู่ไปกับการออกกำลังกายเป็นประจำ ทำให้เราห่างไกลจากอาการซึมเศร้า”

มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่า การเปลี่ยนแปลงอาหารเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในสมองของเรา อาหารที่ดีทำให้ฮอร์โมนซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมอารมณ์คือ เซโรโทนิน หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ แฮปปี้ ฮอร์โมน นั้นถูกผลิตออกมา

อาหารที่ช่วยทำให้อารมณ์ดีคือ กล้วย ขณะที่อาหารขยะและแอลกอฮอล์ทำให้ระดับของความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าเพิ่มสูงขึ้น ผลการศึกษายังระบุอีกว่า การพยายามที่จะลดน้ำหนักโดยควบคุมอาหารและจำกัดแคลอรีมากเกินไป ก็มีผลกระทบต่ออารมณ์ได้ เพราะความหิวกับความโกรธเกรี้ยวโมโหนั้นเชื่อมโยงกัน ยิ่งอดอาหารมากเท่าไหร่จะทำให้อารมณ์เสียมากขึ้นเท่านั้น

“เมื่อคุณกินไม่พอ ระดับน้ำตาลในเลือดของคุณก็จะต่ำมาก ทำให้อะดรีนาลินถูกปล่อยออกมา อะดรีนาลินก็จะปล่อยกลูโคสจากกล้ามเนื้อและตับเพื่อใช้เป็นพลังงานฉุกเฉิน ซึ่งทำให้มีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์คือ ความรู้สึกกังวลและเครียดตามมา” ลินดา บอก

การรับประทานอาหารเพื่อช่วยปรับอารมณ์นั้น นักโภชนาการเน้นว่า ต้องลดละอาหารที่ทำให้อารมณ์ไม่ดีควบคู่กันไปด้วย ควรลดละแอลกอฮอล์และกาแฟ ที่ทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนความสุขน้อยลง ทำให้รู้สึกกังวล และรบกวนการนอนหลับ ซึ่งเชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้า และต้องดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ

ควรรับประทานอาหารครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้งขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดจะได้คงที่ เพราะการที่น้ำตาลขึ้นๆ ลงๆ ไม่แน่นอนนั้น เป็นสาเหตุของภาวะซึมเศร้าอีกทางหนึ่ง อาหารที่ต้องหลีกเลี่ยงอีกอย่างคือ น้ำตาล ส่วนแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตนั้นรับประทานได้ แต่ต้องเลือกโฮลเกรนหรือธัญพืชเต็มเมล็ด ไม่ใช่แป้งขัดขาว พวกอาหารขยะที่อุดมด้วยไขมัน รวมทั้งอาหารที่ผ่านการแปรรูปและขนมหวานก็ต้องเลี่ยง ไขมันดีจากปลา ถั่ว เมล็ดพืช หรืออโวคาโด รับประทานได้ การออกกำลังการอย่างน้อย 45 นาที 3-4 ครั้ง/สัปดาห์ จะช่วยเพิ่มเอนดอร์ฟินซึ่งเป็นเหมือนยาต้านอาการซึมเศร้า

เน้นอีกครั้งว่า รับประทานผลไม้ ผัก ปลา ถั่ว น้ำมันมะกอก (น้ำมันดี) เป็นหลัก และหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์หรืออาหารที่ผ่านการแปรรูป จะได้อารมณ์ดีและมีความสุข