posttoday

ลงทุนหลังเกษียณ ไม่จำเป็นต้องสินทรัพย์เสี่ยงต่ำเสมอไป

23 สิงหาคม 2560

โดย...ดร.ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์ ผู้บริหารงานพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล K-Expert ธนาคารกสิกรไทย

โดย...ดร.ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์ ผู้บริหารงานพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล K-Expert ธนาคารกสิกรไทย

แนวคิดวางแผนการเงินแบบดั้งเดิมมองว่าวัยเกษียณแตกต่างจากวัยก่อนเกษียณในเรื่องการสร้างรายได้ กล่าวคือวัยเกษียณเป็นวัยที่ไม่ได้ทำงาน จึงดำรงชีพด้วยดอกผลจากเงินที่เก็บสะสมมา (Financial Capital) แทนรายได้จากทักษะแรงงานของตนเอง (Human Capital) และในเรื่องค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามธรรมชาติของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ต้องพึ่งพาเงินของตนเองหรือลูกหลานแทนสวัสดิการจากนายจ้างที่เคยได้รับในช่วงก่อนเกษียณ

มุมมองเช่นนี้นำไปสู่คำแนะนำการลงทุนแบบอนุรักษนิยม เน้นแบบความเสี่ยงต่ำมากเพื่อไม่ให้เงินต้นสูญหาย ด้วยเหตุว่าจะได้ทยอยถอนแหล่งเงินก้อนสุดท้ายนี้ไปใช้ดำรงชีพยามจำเป็น อย่างไรก็ดีการลงทุนสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำเป็นการลดศักยภาพในการดำรงคุณภาพที่ดีหลังเกษียณ เนื่องจากผลตอบแทนมักน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ  ทำให้เงินที่สะสมมาด้อยมูลค่าลงไปเรื่อยๆ

หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าขอบเขตของอายุหลังเกษียณกินระยะเวลาประมาณ 20-25 ปี (สมมติฐานอายุเกษียณที่ 60 ปี และอายุขัยเฉลี่ยในช่วง 80-85 ปี) ซึ่งนานพอๆ กับช่วงวัยที่กำลังทำงานอยู่ ขณะที่เงินเก็บสะสมมามีจำนวนค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่นของชีวิต ทำให้มี “เงินเย็น” เพื่อการลงทุนระยะยาวเกินกว่า 5 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมกับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นสามัญได้

นอกจากนี้ บางท่านเมื่อเกษียณแล้วก็ยังทำงานอยู่ ด้วยสภาพร่างกายในช่วงเกษียณใหม่ๆ ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับวัยก่อนเกษียณ หรือเมื่อเกษียณไปนานแล้วก็ยังออกไปทำงาน เพราะตนเองจะได้รู้สึกกระฉับกระเฉงได้เข้าสังคม ไม่ใช่เป็นเพราะมีเงินไม่พออย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ โดยรวมแล้ววัยเกษียณจึงไม่ได้พึ่งพาดอกผลจากเงินลงทุนแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

แนวคิดวางแผนการเงินแบบใหม่ จึงแบ่งวัยเกษียณออกเป็นกลุ่มย่อยเรียกว่า Active Retirement หรือเกษียณแล้วแต่ยังทำงานอยู่ และ Passive Retirement หรือเกษียณแล้วไม่ได้ทำงาน ซึ่งมีวิธีการบริหารเงินที่แตกต่างกัน

ช่วง Active Retirement มักเป็นช่วงต้นของวัยเกษียณ ครอบคลุมอายุประมาณ 60-70 ปี คนในวัยนี้ยังมีความสามารถในการทำงานและกิจกรรมต่างๆ ได้เหมือนวัยก่อนเกษียณ บางท่านได้รับการต่ออายุงานหรือรับงานพิเศษ บางท่านก็แปลงงานอดิเรกเป็นธุรกิจ ทำให้ยังคงมีรายได้อยู่พอสมควร และหากดูแลสุขภาพดีก็ไม่ได้จำเป็นต้องใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลเท่าใดนัก

การมีรายได้อยู่นี้ทำให้พอประยุกต์ใช้หลักวางแผนการเงินแบบเดียวกับก่อนเกษียณได้ กล่าวคือมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินประมาณ 6 เท่าของรายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือน และบวกเพิ่มอีกสักหน่อยเผื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลในยามฉุกเฉิน ส่วนที่บวกเพิ่มนี้แตกต่างจากช่วงวัยก่อนเกษียณ ซึ่งมักจะมีสวัสดิการจากนายจ้างมารองรับ ส่วนเงินที่เหลือจากการกันสำรองแล้วก็สามารถนำไปลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้

เงินสำรองเผื่อฉุกเฉินที่ว่านี้เป็นการออมในเงินฝากออมทรัพย์และการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้นแบบกองทุนเปิดที่สามารถส่งคำสั่งไถ่ถอนได้ทุกวันทำการ ซึ่งมีข้อดีคือมูลค่าเงินต้นไม่สูญหาย โดยเงินฝากออมทรัพย์ได้รับความคุ้มครองจากสถาบันประกันเงินฝาก ส่วนกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นมีมูลค่าหน่วยลงทุนสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้ผลตอบแทนในปัจจุบันประมาณร้อยละ 1 ต่อปี กองทุนเหล่านี้สามารถขาดทุนได้ก็จริง แต่ในทางปฏิบัติพบว่ามีโอกาสเพียงน้อยครั้งและเกิดในระยะเวลาสั้นๆ ใช้เวลาแค่ไม่กี่วันก็ปิดผลขาดทุนได้แล้ว

ช่วง Passive Retirement มักเป็นช่วงหลังของวัยเกษียณ ตั้งแต่อายุประมาณ 70 ปีขึ้นไป ก็ยังมีรายได้อยู่บ้างจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุประมาณ 1,200-1,500บาท/เดือน และบำนาญจากประกันสังคมประมาณ 3,000-5,000 บาท/เดือน แต่ยังไม่เพียงพอที่จะนำไปใช้จ่ายเพื่อการดำรงชีพทั่วไป ซึ่งเฉลี่ยประมาณ 1.1 หมื่นบาท/เดือน (ผลสำรวจค่าครองชีพผู้สูงอายุ โดย K-Expert) ทำให้เป็นระยะที่พึ่งพาเงินสะสมเพื่อการดำรงชีพเป็นหลัก และเริ่มมีค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้นตามระดับสุขภาพของแต่ละท่าน ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่เน้นการลงทุนแบบสินทรัพย์เสี่ยงต่ำให้มากกว่าช่วงเกษียณตอนต้น

เงินสำรองเผื่อฉุกเฉินมีความสำคัญมากในช่วงวัยนี้ และควรปรับจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 12 เท่าของรายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือน บวกกับค่ารักษาพยาบาลที่คาดว่าจำเป็นต้องใช้ ส่วนที่เหลือจึงค่อยพิจารณานำไปลงทุน อย่างไรก็ดี ช่วงหลังนี้ควรเน้นปกป้องเงินต้นให้มากกว่าช่วงแรก การจัดพอร์ตลงทุนควรเป็นแบบผสมระหว่างตราสารหนี้ (พันธบัตร) และตราสารทุน (หุ้น) โดยไม่ควรมีสัดส่วนตราสารทุนเกินครึ่งหนึ่งของพอร์ตลงทุน และทยอยปรับลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น หากไม่ประสงค์ที่จะมาจัดสัดส่วนพอร์ตลงทุนด้วยตนเอง ก็สามารถเลือกกองทุนรวมประเภทที่มีนโยบายปรับลดสัดส่วนการลงทุนอัตโนมัติ หรือทาร์เก็ตเดทฟันด์ (Target Date Fund) ได้

วิธีการนี้จะช่วยให้ผู้ที่เกษียณแล้วบริหารจัดการเงินลงทุนได้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะยังไม่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนทันทีเพื่อให้เงินในวัยเกษียณสามารถสร้างดอกผลอย่างเต็มที่ เพียงแค่เพิ่มการกันเงินสำรองให้มากกว่าเดิมเพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น ขณะที่เมื่อเข้าสู่ช่วง Passive Retirement จึงค่อยเริ่มคำนึงถึงความปลอดภัยของเงินลงทุนเป็นสำคัญ