posttoday

‘แม่สอดไพรด์’ ขับเคลื่อนเพื่อ LGBTQIA+ ในช่วงสงครามเมียนมา

26 เมษายน 2567

การเปิดรับบริจาค ‘เครื่องสำอาง’ ให้แก่ LGBTQIA+ เมียนมาที่เผชิญชะตากรรมสงครามตามบริเวณชายแดน เป็นการเคลื่อนไหวล่าสุดของกลุ่มแม่สอดไพรด์ ซึ่งลงพื้นที่ขับเคลื่อนไม่เฉพาะแค่ ‘สิทธิ’ ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ขยายขอบเขตไปถึงผลประโยชน์ของชุมชน

อดิศรา ดารากุลรัศมี (เจแปน) คือ นักขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชนและแกนนำกลุ่ม ‘แม่สอดไพรด์’ ได้ออกมากล่าวถึงการเปิดรับบริจาคเครื่องสำอางให้แก่เพื่อน LGBTQIA+ ชาวเมียนมา ซึ่งประสบเหตุจากภาวะสงคราม

 

  • เปิดที่มาของการขับเคลื่อนและเหตุผลว่าทำไมต้องเป็นเครื่องสำอาง

“เราได้ขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศในจังหวัดตากซึ่งมีมานานตั้งแต่ปี 2565 เป็นเวลา 3 ปีมาแล้ว ซึ่งการทำงานของกลุ่มเราจะขับเคลื่อนทุกมิติ โดยเฉพาะการแต่งกายไม่ตรงกับสภาพกำเนิด รวมไปถึงการเกณฑ์ทหาร และการให้ความรู้เกี่ยวกับเพศสภาพซึ่งเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล 16-18 เพศ ณ ตอนนี้ ให้แก่องค์กรต่างๆ ที่ให้ความสำคัญ”

 

สำหรับประเด็นการรับบริจาค ทางอดิศราได้เล่าว่าเกิดจากการประสานงานกับ LGBTQIA+ ฝั่งเมียนมา เนื่องจากเมื่อปีที่แล้วมีการจัดงานแม่สอดไพรด์เป็นครั้งแรกของ อ.แม่สอด จึงได้มีการติดต่อกับ NGO ในพื้นที่ ขณะเดียวกันนั้นเองก็เกิดการสู้รบกันในเมียนมา เพื่อน LGBTQIA+ ทางฝั่งเมียนมาจึงประสานมาและร่วมกันทำแคมเปญบริจาคเครื่องสำอาง ด้วยความเชื่อมั่นที่ว่า บุคคลที่แต่งกายสวยงาม สร้างความมั่นใจและภาพลักษณ์ที่ดีในการดำรงชีวิต แม้จะอยู่ในช่วงที่ภาวะสงครามก็ตาม เป็นการสนับสนุนและซัพพอร์ตความเป็นมนุษย์  และนั่นจึงกลายเป็นครั้งแรกที่แม่สอดไพรด์เปิดรับบริจาคเครื่องสำอาง

 

งานแม่สอดไพรด์ในปีที่ผ่านมา

 

อดิศราเล่าให้ฟังว่าคนทางฝั่งเมียนมามักจะใช้ทานาคา โดยกระบวนการคือต้องนำเปลือกไม้มาฝนและปะแป้งบนใบหน้า ซึ่งคงไม่เหมาะกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การใช้เครื่องสำอางที่เป็นครีมอย่างครีมบำรุง หรือครีมกันแดด ก็สามารถใช้งานได้ง่ายมากขึ้น

 

“ความสวยงามทำให้สภาพจิตใจดีขึ้น การเกิดสงครามต่างๆ ไม่มีใครอยากให้เกิด อยากให้เกิดเสรีภาพในเร็ววัน แต่อย่างน้อยการทำให้หน้าตาของไม่ว่าเพศใดก็ตามมีความเชื่อมั่น มั่นใจในตัวเองมากขึ้น เราก็เชื่อว่าจะเกิดสิ่งดีๆ ตามมาในสังคม ไม่ว่าสงครามจะรุนแรงแค่ไหน แต่ถ้าอย่างน้อยเจอสิ่งสวยงาม สดใส อย่างน้อยคนที่อยู่ในเหตุการณ์ก็อาจจะมีส่วนที่ทำให้สุขภาพจิตในผู้ที่อยู่สถานการณ์ดีขึ้นไม่มากก็น้อย”

 

อดิศราเปิดเผยเพิ่มเติมว่า การเปิดรับบริจาคเครื่องสำอางเป็นความต้องการของเพื่อนเมียนมา เนื่องจากตนเองทำงานด้านสิทธิมนุษยชนด้วยจึงทราบมาว่าเพื่อนๆ LGBTQIA+ ในแนวตะเข็บชายแดน เมื่อเกิดสงครามขึ้นได้เข้ามาอยู่ในจุดพักพิงต่างๆ อย่างเช่น ที่หนองหลวง อ.อุ้มผาง ซึ่งมีผู้อพยพที่เป็น LGBTQIA+  ราว 80 คน

 

“เราทำในส่วนของ LGBTQIA+ ตอนแรกคิดว่าสถานการณ์จะไม่ได้รุนแรงขนาดนี้ เพราะเครื่องสำอางไม่ใช่เรื่องปัจจุบันทันด่วน แต่ทั้งนี้เราก็ขับเคลื่อนเรื่องการยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีด้วย ตอนนี้เราจึงเปิดรับบริจาคของที่จำเป็น อาทิ ผ้าอนามัยซึ่งจำเป็นอย่างยิ่ง น้ำดื่ม หน้ากากอนามัยและยาสามัญประจำบ้านต่างๆ ด้วยค่ะ”

 

กิจกรรมของกลุ่มความหลากหลายทางเพศในแม่สอด

 

  • บริบท LGBTQIA+ ในเมียนมาปัจจุบัน

“ สำหรับบริบทของ LGBTQIA+ ในเมียนมาจะคล้ายๆ กับไทยใน 40-50 ปี ที่แล้ว อย่างที่เราเห็นชัดเจนคือถ้าเป็น LGBTQIA+ ที่เป็นทรานส์ หรือสาวข้ามเพศ ก็จะเข้ามามีบทบาทในภาคของเมคอัพอาร์ติส หรือโปรดิวเซอร์ในวงการบันเทิง หรือเป็นทอม ก็จะเข้ามามีบทบาทในภาคเอกชนหรือภาครัฐ แล้วก็มีการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับ LGBTQIA+ ซึ่งคนกลุ่มนี้บางส่วนอาศัยอยู่กรุงเทพมหานครและเคลื่อนไหวจากประเทศไทย ซึ่งการเคลื่อนไหวก็จะเป็นการเคลื่อนไหวทางด้านการเมือง เนื่องจากในช่วงของรัฐบาลทหารเขาจะโดนกดขี่มาแตกต่างจากตอนที่อองซาน ซูจีขึ้นมาเป็นผู้นำ ซึ่งเป็นยุคที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าเสรีมากในเรื่องของศิลปะ หัตถกรรม รวมไปถึงสื่อ และการแสดงออกของ LGBTQIA+ ด้วย

 

อดิศราเล่าให้ฟังถึงการแสดงออกทางสิทธิเสรีภาพที่จำกัดของเมียนมาด้วยว่า แต่ก่อนจะเห็น LGBTQIA+ น้อยมากที่แสดงออก เพราะแค่จะย้อมผมยังทำไม่ได้ จึงแทบไม่เห็นว่ามีกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศใส่ผ้าซิ่น เพราะที่เมียนมาจะแยกออกชัดเจนว่าผู้ชายใส่โสร่ง ผู้หญิงใส่ผ้าซิ่น

 

“ เราข้ามไปเราไม่เห็นเลยว่าจะมี LGBTQIA+ ใส่ผ้าซิ่น จะเห็นบ้างที่ใส่โสร่งแล้วเดินตุ้งติ้งก็เท่านั้น ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกรอบของสังคม ไม่ได้มีบทบัญญัติอะไรเลยที่มาห้าม แต่เป็นกรอบของสังคมว่าเป็น LGBTQIA+ ไม่ได้นะ ต้องเป็นผู้ชาย ”

 

เพราะฉะนั้น LGBTQIA+ ในเมียนมาจึงแสดงออกได้เต็มที่เลยคือ การย้อมผมเป็นสี  หรือแม้ถ้าพวกเขาข้ามมาฝั่งแม่สอด คนที่จะกล้าที่แต่งตัวหญิงเลยร้อยคน ไม่เกิน 5 คนเท่านั้น .. 

 

‘แม่สอดไพรด์’ ขับเคลื่อนเพื่อ LGBTQIA+ ในช่วงสงครามเมียนมา

 

อดิศราทิ้งท้ายว่าไม่ใช่แค่ประเด็นการขับเคลื่อนเพื่อกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่กลุ่มแม่สอดไพรด์ยังขับเคลื่อนอีกประเด็นที่สำคัญและกระทบกับคนในพื้นที่ อาทิ ประเด็นราคาตั๋วเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ถึงแม่สอดที่มีราคาแพง ทะลุไปเกินเที่ยวละ 5,000 บาท ในบางเวลา  จึงเกิดการตั้งคำถามและขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวด้วยเช่นกัน ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญเพราะเส้นทางจากแม่สอดมาตากใช้เวลานาน และไม่มีเรือ ไม่มีรถไฟผ่าน จึงไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในท้องที่ได้ นอกจากนี้ทางกลุ่มยังขับเคลื่อนและเก็บข้อมูลเรื่องของส่วยที่ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามเมียนมาที่เกิดขึ้น

 

และนี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นถึงพลังของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งสามารถขับเคลื่อนความเท่าเทียมและสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนที่ไม่จำกัดแค่เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง.

 

 

สำหรับใครที่ต้องการบริจาค

‘แม่สอดไพรด์’ ขับเคลื่อนเพื่อ LGBTQIA+ ในช่วงสงครามเมียนมา

หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อดิศรา ดารากุลรัศมี โทร 099-2323393

หมายเหตุ สามารถบริจาค เครื่องสำอางทุกประเภท เวชภัณฑ์ยา ผ้าอ้อมและผ้าอนามัย