posttoday

จัดพอร์ตหุ้นรับมือ ความเสี่ยงปี 2560

17 มีนาคม 2560

โดย...ณัฐพัช กิตติปวณิชย์ กองทุนบัวหลวง

โดย...ณัฐพัช กิตติปวณิชย์  กองทุนบัวหลวง

หากย้อนเวลากลับไปในช่วงปี 2559 จะสังเกตว่า ประเด็นการเมืองโลกตกเป็นพาดหัวข่าวหลายครั้งหลายครา ตั้งแต่การลงมติอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) ครั้งประวัติศาสตร์ ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ ไปจนถึงการลงประชามติคัดค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญอิตาลี ซึ่งล้วนแต่มีผลสวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้โดยสิ้นเชิง ไม่น่าแปลกที่คณะกรรมการของบริษัทจดทะเบียนถึง 25% ในรายงานผลสำรวจ “What Directors Think” ของตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) จะเห็นพ้องต้องกันว่า ความไม่แน่นอนเชิงการเมืองในปี 2559 นั้น เป็นสิ่งท้าทายต่อบริษัทเป็นอันดับต้นเลยทีเดียว

ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายเวทีที่จะได้ลุ้นกันต่อในปี 2560 เพราะนอกจากประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส และไทยจะก้าวสู่สังเวียนการเลือกตั้งครั้งสำคัญแล้ว ยังจะเห็นบทสรุปที่ค่อยๆ คลี่คลายจากผลโหวตของสหราชอาณาจักร สหรัฐ และอิตาลีด้วย นอกจากนั้นแล้ว ฐานเสียงของกลุ่มที่เริ่มเบื่อหน่ายการเมืองแบบเดิม (Anti-establishment) มีความแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้ช่องว่างของกฎระเบียบควบคุมบริษัทจดทะเบียนรูปแบบเก่าถูกเปิดโปง

ผู้ลงทุนจึงควรปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เหล่านี้ โดยเราเชื่อว่า การทุ่มเทกับหลักการลงทุนในบริษัทที่มีธรรมาภิบาลสูง จะเป็นฉนวนจำกัดความเสี่ยงในการถือครองสินทรัพย์ได้เป็นอย่างดี

แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่ว่ากำลังเกิดขึ้นในแทบทุกมุมโลก ในสหรัฐ กรณีทุจริตของพนักงานธนาคาร Wells Fargo กว่า 5,000 คน ได้จุดประกายส่งแรงกดดันให้คณะกรรมการบริษัทต่างๆ ทั้งในและนอกภาคการเงิน หันมาพิจารณาแยกแยะตำแหน่งหน้าที่ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ให้พ้นจากประธานบริษัท และเพิ่มความรับผิดชอบของคณะกรรมการให้สูงขึ้น หากเกิดการกระทำผิด ส่วนด้านสหภาพยุโรปก็เกิดกระแสธรรมาภิบาลให้เห็นอยู่ตลอดเช่นกัน โดยคณะกรรมาธิการยุโรปกำลังพยายามแก้ไขแนวทางสิทธิของผู้ถือหุ้นในปี 2560 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทรวมทั้งสหภาพมีสิทธิออกความเห็นเกี่ยวกับค่าตอบแทนของกลุ่มผู้บริหาร หรือที่เรียกว่า “Say on Pay” ด้วย

นอกจากบริษัทที่มีโครงสร้างองค์กรยั่งยืนและโปร่งใส จะควบคุมความเสี่ยงทางกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว บริษัทเหล่านี้ยังจะปลอดภัยจากภัยคุกคามทางชื่อเสียง ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า คาดเดาถึงพฤติกรรมอันเที่ยงตรงของผู้นำในสมัยนี้ได้ยากกว่าผู้บริหารในอดีต โดยประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ เคยกล่าวว่า อาจใช้วิธี “Name and Shame” เพื่อสร้างความอับอายให้บริษัทที่มองว่า ได้ผลประโยชน์จากพันธสัญญาทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม

อีกทั้งสมัยนี้เป็นยุคที่คนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ความเสียหายต่อชื่อเสียงจึงอาจย้อนกลับมากระทบต่อบริษัทและผู้ลงทุนในแทบจะทันที ยกตัวอย่างเช่น ในเดือน ต.ค. 2559 เบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกสหรัฐ ทวิตข้อความวิจารณ์การค้ากำไรเกินควรของบริษัท Ariad Pharmaceuticals ที่ปรับเพิ่มค่ายารักษาลูคีเมีย ส่งผลให้ในระหว่างวันนั้นเอง ราคาหุ้นบริษัทร่วงลงถึง 15% กระทบกับผู้ลงทุนเป็นเงินราว 387 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

ประเด็นดังกล่าวเป็นสาเหตุให้เกิดแนวคิดการลงทุนในบริษัท ที่ต้องทั้งดีและเก่ง ซึ่งมิใช่แค่ข้อเรียกร้องให้ผู้ลงทุนควรสนับสนุนตามหลักศีลธรรมเท่านั้น แต่นี่คือการปรับยุทธวิธีการจัดการความเสี่ยงให้เข้ากับสถานการณ์โลกในปัจจุบันอีกด้วย