posttoday

ฟิน กับ FIN App แอพที่ใช่ ของคนชอบกองทุน

28 พฤษภาคม 2559

ในฐานะนักลงทุนกองทุนรวม แม้จะเป็นนักลงทุนรายกระจิบยิบย่อย แถมผลตอบแทนของกองทุน

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์ [email protected]

ในฐานะนักลงทุนกองทุนรวม แม้จะเป็นนักลงทุนรายกระจิบยิบย่อย แถมผลตอบแทนของกองทุนในพอร์ตอันน้อยนิดยังติดลบเป็นส่วนใหญ่ แต่ต้องบอกเลยว่า 2-3 วันที่ผ่านมามีเรื่องมาให้ “ฟิน” เพราะไปเจอแอพพลิเคชั่นเจ๋งๆ ที่เหมาะมากๆ สำหรับการติดตามข้อมูลและการลงทุนในกองทุนรวม

แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อเต็มๆ ว่า “FIN-App กองทุนรวม Mutual Fund” ซึ่งถูกปล่อยออกมาให้ได้ฟินกันตั้งแต่เดือน มี.ค. 2558 โดยปรับปรุงและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2559 ยิ่งฟินมากขึ้นไปอีก หลังจากผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นอัพเดทเป็น version 3.0

“ถ้าไปดูเวอร์ชั่น 1.0 กับ เวอร์ชั่น 3.0 จะเห็นมีความแตกต่างกันมาก เพราะเวอร์ชั่นแรกจะง่ายมากๆ มีความสามารถไม่กี่อย่าง แต่ก็พยายามหากลุ่มนักลงทุนกองทุนรวมที่ใช้งานจริงๆ มาให้ได้คำแนะนำว่า ต้องการให้แก้ไข หรือเพิ่ม Feature อะไรเข้าไปบ้าง จากนั้นก็พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ” สุทธิวัฒน์ ยังคล้ายผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น FIN กล่าว

นอกจากนี้ เขายังบอกอีกว่า การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในเวอร์ชั่น 3.0 ถือเป็น Milestone ที่สำคัญ แต่ยังต้องพัฒนาอีกพอสมควรกว่าจะไปถึงจุดที่เขาจินตนาการเอาไว้

แม้ สุทธิวัฒน์ จะบอกว่า ยังไม่ถึงจุดที่เขาจินตนาการเอาไว้ แต่หลังจากทดลองใช้ไปแล้ว บอกได้เลยว่า เท่าที่มีอยู่ตอนนี้ก็เกินจินตนาการของนักลงทุนอย่างเราแล้ว

มาดูกันว่าใน FIN App มีอะไรให้ใช้งานกันบ้าง และถ้าลองใช้แล้วยังไม่จุใจ อยากเพิ่มเติมตรงไหนสามารถให้ Feedback ได้ในหน้าแอพเลย ซึ่ง สุทธิวัฒน์ บอกว่า ยินดีต้อนรับทุกความคิดเห็น

Fund Ranking

น่าจะเป็น Feature พื้นฐานสำหรับแอพพลิเคชั่นที่ให้ข้อมูลกองทุนรวม ที่จะต้องมีการจัดลำดับผลตอบแทนของกองทุนรวม เพื่อช่วยบอกว่ากองทุนใดบ้างที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดหรือแย่ที่สุดในแต่ละช่วงเวลา

แต่ใน FIN App จะแยกเปรียบเทียบเฉพาะกลุ่มกองทุน เช่น PRP คือ กองทุนที่มีนโยบายลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือ ENY เป็นกองทุนที่ลงทุนในพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นหุ้นกลุ่มพลังงานหรือลงทุนในน้ำมัน

นอกจากนี้ ยังสามารถเลือกให้แสดงผลเฉพาะบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ก็ได้ จะเลือกจากนโยบายการจ่ายปันผลก็ได้ หรือจะเลือกดูเฉพาะกองทุนก็ได้ เพียงแค่ใส่ชื่อย่อกองทุนลงไป โดยข้อมูล NAV จะอัพเดททุกวันเวลา 18.00 น.

Portfolio

หน้า Portfolio ถือเป็นหน้าหลักที่จะต้องเข้ามาจัดการข้อมูลด้วยตัวเอง โดยแตะไปที่เครื่องหมาย + จากนั้นใส่ข้อมูลการซื้อ หรือขาย รวมทั้งสับเปลี่ยนกองทุนลงไป โดยสามารถใส่ข้อมูลการซื้อขายที่ทำไปแล้ว และตั้งรายการซื้อขายล่วงหน้า (โดยไม่ต้องตั้งตัวเลข NAV สิ้นวัน เพราะจะอัพเดทให้อัตโนมัติ) นอกจากนี้ ยังสามารถทำรายการซื้อเป็นประจำ หรือซื้อเฉลี่ยต้นทุน (DCA) ได้

โดยหลังจากที่ตั้งรายการซื้อไว้แล้ว แตะไปที่รูปนาฬิกา หน้าจอจะแสดงรายการซื้อขายหรือขายที่เราตั้งไว้ จากนั้นแตะอีกทีที่เครื่องหมาย + จะมีหน้าจอใหม่ขึ้นมาให้เราเลือกตั้งเป็นการซื้อขายแบบ DCA โดยหลังจากเลือกกองทุน ใส่จำนวนเงิน ให้แตะไปที่ Repeat? และเลือกว่า จะตั้งให้เป็นรายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายปี เริ่มตั้งแต่เมื่อไรไปจนถึงวันไหน

เมื่อใส่ข้อมูลกองทุนที่เรามีอยู่ทั้งหมด รวมทั้งกองทุนที่เราจะซื้อในอนาคตลงไป เพียงเท่านี้เราก็จะมองเห็นพอร์ตทั้งพอร์ตของเรา (แบบที่ไม่เคยมาก่อน) โดยสามารถแสดงผลได้ทั้งข้อมูลแบบย่อๆ ข้อมูลเต็มรูปแบบ และแปลงข้อมูลผลตอบแทนออกมาเป็นกราฟรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ดูง่ายขึ้น โดยแตะไปที่รูปกราฟเส้นที่มุมซ้ายบน

เราจะเห็นทันทีว่า ตอนนี้แต่ละกองทุนผลตอบแทนเป็นอย่างไร บวกหรือลบมากน้อยแค่ไหน และเงินลงทุนที่มีอยู่ทั้งหมดกำไรหรือขาดทุนอยู่ในขณะนี้

“สามารถติดตามกองทุนในพอร์ตของเราได้ เพราะส่วนมากนักลงทุนมักซื้อกองทุนกระจัดกระจายหลาย บลจ. แต่ไม่มีศูนย์กลางข้อมูล ทำให้เราไม่เห็นเงินลงทุนทั้งหมดที่เรามีอยู่ในกองทุน ไม่รู้ว่าผลตอบแทนโดยรวมเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ยังไม่อยากเข้าไปเช็กข้อมูลแต่ละ บลจ.อีก แต่ถ้ามาใส่ข้อมูลใน Portfolio จะเป็นการรวมศูนย์ข้อมูล ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของ FIN App” สุทธิวัฒน์ กล่าว

แต่ที่เด็ดกว่านั้น คือ Rank Binding ที่จะแสดงในข้อมูลแบบเต็มรูปแบบ (แตะไปที่รูปหน้ากระดาษด้านขวาบน) จะเห็นคำว่า Rank Binding ของแต่ละกองทุน จะแสดงว่าผลดำเนินงานของกองทุนนั้นในอันดับที่เท่าไร เมื่อเทียบกับกองทุนประเภทเดียวกัน เช่น ABSC-RMF เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2559 มีผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี อยู่ในอันดับที่ 116 จากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพทั้งหมด 140 กองทุน

อย่างไรก็ตาม Rank Binding ของแต่ละกองทุนจะกำหนดค่าเริ่มต้นจะเป็น N/A ถ้าเราอยากรู้ต้องแตะไปที่ N/A แล้วจึงเข้าไปเลือกกลุ่มกองทุนที่จะเปรียบเทียบ โดยกำหนดได้ทั้ง Type และ SubType แต่หากเลือกกลุ่มไม่ถูกต้องข้อมูลก็จะเป็น N/A

นอกจากนี้ ยังสามารถตั้งเตือนเมื่อกองทุนนั้นอยู่ในอันดับที่ “ควรจับตามองอย่างใกล้ชิด” เช่น ถ้าเรามี ABSC-RMF อยู่ในพอร์ตจะมีแจ้งเตือนมาว่า “มี 1 กองทุนใน Portfolio ของคุณ ที่ควรประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด [ABSC-RMF : Rank 117 of 140]”

สุทธิวัฒน์ บอกว่า Rank Binding น่าจะทำให้นักลงทุนกระตือรือร้นกับ Ranking ทำให้รู้ว่ามูลค่ากองทุนมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รู้ว่ากองทุนที่เราถืออยู่ผลตอบแทนเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับกองทุนอื่นในกลุ่ม โดยไม่ต้องไปดูในหน้า Ranking และอาจจะกลับมาทบทวนอีกครั้งว่าจะตัดสินใจลงทุนต่อไปหรือไม่

Fund Profile

ถ้าเป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับกองทุนรวมแล้วไม่มี “ข้อมูลกองทุน” คงจะไม่ครบถ้วน แต่สำหรับ FIN App น่าจะเรียกว่า “สมบูรณ์แบบ” เพราะนอกจากจะบอกผลตอบแทนของกองทุนในแต่ละช่วงเวลา ทั้งในรูปแบบข้อมูลตัวเลขและกราฟเส้นที่เข้าใจง่าย โดยแตะไปที่ชื่อกองทุน

นอกจากนี้ ยังแสดง 10 อันดับหลักทรัพย์ที่กองทุนลงทุนอยู่ (TOP 10) เดือนล่าสุดในรูปแบบกราฟวงกลม แต่ถ้าต้องการเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าว่า 10 อันดับหลักทรัพย์มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ให้แตะที่ด้านขวาบนที่ระบุข้อมูลเดือนล่าสุด หน้าจอจะเปลี่ยนไปแสดงข้อมูลเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าทันที

หากเป็นกองทุนที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล จะมีข้อมูลการจ่ายเงินปันผลในช่วงที่ผ่านมาด้วย โดยแตะไปที่ Dividend และถ้าแตะไปที่ Info จะมีข้อมูลอื่นๆ ของกองทุนแสดงให้เห็นด้วย เช่น ค่าธรรมเนียมซื้อขาย ค่าธรรมเนียมการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน ค่าธรรมเนียมการจัดการ มูลค่าซื้อขั้นต่ำ รวมทั้ง “ความผันผวนของกองทุน” ได้แก่ ค่า SD ในระยะ 1 ปี 3 ปี และ 5 ปี

และยังบอกไปถึง Investment Strategy ว่า เป็น Active Management หรือ Passive Management โดยข้อมูลอีกอันหนึ่งที่ช่วยบอกให้นักลงทุนรู้ว่า กองทุนนี้ “บู๊” มากแค่ไหน คือ Sum %Top5 Stock หรือ สัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์ 5 อันดับแรกรวมกันคิดเป็นเท่าไรของมูลค่ากองทุน

“Sum %Top5 Stock จะทำให้นักลงทุนเห็นข้อมูลมากขึ้น โดยหากมากกว่า 50% แสดงว่า กองทุนไม่ได้มีการกระจายการลงทุนซึ่งอาจจะทำให้มีความเสี่ยงสูง แต่ถ้าเป็นนักลงทุนที่ชอบความเสี่ยงสูงก็สามารถลงทุนได้” สุทธิวัฒน์ บอก

ในกรณีที่เป็นกองทุนที่ลงทุนต่างประเทศจะบอกด้วยว่า กองทุนหลักชื่ออะไร รวมทั้งมี Link ไปที่ “สรุปข้อมูลสำคัญ” ของกองทุนได้อีกด้วย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะไปแสดงอยู่ในหน้า Fund Compare ในส่วน Info Table ด้วย

Analytics

Analytics เป็นของเล่นใหม่ล่าสุดที่มาพร้อมกับ version 3.0 ซึ่ง สุทธิวัฒน์ บอกว่า เป็นนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อทำให้การเปรียบเทียบผลดำเนินงานของกองทุนทำได้สะดวก รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งในขณะนี้มีออกมา 3 Feature แต่เขายังมีแผนที่จะพัฒนาและเพิ่ม Feature ที่เป็นประโยชน์ในหมวดนี้ให้มากขึ้นอีก (ซึ่งเราคงต้องติดตามอัพเดทกันต่อไป)

- Watch List

สำหรับคนที่เฝ้าติดตามผลดำเนินงานของกองทุนน่าจะชอบ เพราะเพียงแค่เราเพิ่มรายชื่อกองทุนที่สนใจลงไปใน Watch List ก็ทำให้ไม่พลาดข้อมูลของกองทุนนั้น

การเพิ่มกองทุนเข้าไปใน Watch List ทำได้โดยแตะที่เครื่องหมายบวกในหน้านี้ หรือเมื่อเราเข้าไปดู Fund Profile แต่ละกองทุนจะมีเครื่องหมาย “เป้า” อยู่ที่มุมบนขวา ถ้าแตะและ Confirm กองทุนนั้นจะเข้าไปอยู่ใน Watch List ทันที

และเช่นเดียวกับการดู Portfolio เพราะสามารถแสดงผลตอบแทนในแต่ละช่วงเวลา และข้อมูลกองทุนแบบย่อ และแบบเต็มรูปแบบ โดยสามารถจัดกลุ่มตามประเภทกองทุน หรือแยกแต่ละ บลจ. ซึ่งทำให้การติดตามการเคลื่อนไหวของกองทุนที่เราสนใจทำได้ง่ายขึ้น

“อาจจะเป็นกองทุนที่เราเฝ้าอยู่ แต่ยังไม่ได้ลงทุน ซึ่งหากนำมาใส่ใน Watch List จะช่วยให้ติดตามข้อมูลและตัดสินใจได้ว่าควรจะเข้าไปลงทุนดีหรือไม่ และควรจะเข้าได้เมื่อไร” สุทธิวัฒน์ กล่าว

- Fund Compare

เป็นการเปรียบเทียบข้อมูลกองทุนใน 3 มุมมอง (3D Fund Comparator) ได้แก่ การเปรียบเทียบในแต่ละช่วงเวลา ในรูปแบบกราฟแท่ง การเปรียบเทียบแบบ Shot by Shot ในรูปแบบกราฟเส้น ซึ่งสามารถเปลี่ยนวันที่ต้องการเปรียบเทียบได้เองว่า ต้องการดูในช่วงเวลาใด และตารางข้อมูล ซึ่งเป็นข้อมูลเดียวกันกับ Fund Info

เราสามารถเลือกกองทุนที่จะนำมาเปรียบเทียบได้หลายกองพร้อมๆ กัน (อย่างน้อย 2 กองทุน) โดยอาจจะเลือกจากทุกกองทุนใน Watch List ใน Portfolio หรือจะเลือกเฉพาะบางกองทุนที่ต้องการเปรียบเทียบก็ได้ นอกจากนี้ สามารถเลือกกองทุนอื่นๆ ที่สนใจได้โดยแตะที่ Adhoc และแตะเครื่องหมายบวก และใส่ชื่อย่อกองทุนที่ต้องการลงไป ซึ่งจะเป็นข้อมูลแบบชั่วคราวเท่านั้น ไม่ได้บันทึกไว้เหมือนกับกองทุนใน Watch List และ Portfolio

- Stock Impact

มาถึงข้อมูลเด็ด นั่นคือ Stock Impact ซึ่ง สุทธิวัฒน์ บอกว่า น่าจะช่วยให้นักลงทุนกองทุนรวมประเมินได้ว่า หุ้นไทยตัวไหนมีผลต่อกองทุนใดบ้าง ในขณะเดียวกันนักลงทุนหุ้นก็สามารถใช้ข้อมูลนี้ได้ เพราะช่วยบอกว่า หุ้นตัวไหนได้รับความนิยมจากผู้จัดการกองทุน

ข้อมูล Stock Impact จะประมวลข้อมูลมาจาก TOP10 ของแต่ละกองทุน ที่เปิดเผยใน Fund Factsheet ในแต่ละเดือน โดยจะแสดงหุ้นที่กองทุนลงทุนมากที่สุด 30 ตัวแรก หรือนักลงทุนจะใส่รายชื่อหุ้นที่สนใจลงไปก็ได้ โดยจะแสดงผลทั้งจำนวนกองทุนที่ลงทุนในตัวนั้น และจำนวน บลจ.ที่ลงทุนอยู่

เช่น ข้อมูลในเดือน เม.ย. 2559 หุ้นที่มีกองทุนลงทุนอยู่มากที่สุด คือ PTT มีอยู่ทั้งหมด 250 กองทุน จาก 16 บลจ. ตามมาด้วยหุ้น SCC มีกองทุนถืออยู่ 245 กองทุน จาก 17 บลจ. และเมื่อแตะไปที่ชื่อหุ้น จะเห็นเลยว่ามีกองทุนใดบ้างที่ลงทุนอยู่ และถืออยู่มากน้อยแค่ไหน

สุทธิวัฒน์ บอกว่า แม้ว่าข้อมูลการถือหุ้นของกองทุนจะล่าช้าไปบ้าง เพราะต้องรอข้อมูลจาก Factsheet แต่เชื่อว่าน่าจะช่วยนักลงทุนได้บ้าง

แต่ถ้าเป็นข้อมูลอื่นๆ ของกองทุนรวมสุทธิวัฒน์ มั่นใจว่า “เชื่อถือได้” ซึ่งเขาไม่ได้ซื้อหาข้อมูลจากไหน แต่เป็นการใช้ Data Mining ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญของเขาเอง

“ตอนแรกก็ไม่ชัวร์ว่าข้อมูลจะตรงกับ บลจ.หรือไม่ แต่หลังจากผู้ใช้งาน Feedback ก็มั่นใจว่า ข้อมูล Perfect อย่างไรก็ตาม ยังคงแนะนำให้นักลงทุนตรวจสอบข้อมูลกับ บลจ.อีกครั้งหนึ่ง” สุทธิวัฒน์ กล่าว

ของดีและยังฟรี

ไม่ว่าจะพัฒนาไปกี่เวอร์ชั่น FIN Appยังคงเป็นบริการดีและฟรีเช่นเดียวกับเวอร์ชั่นแรก เพราะฉะนั้นสามารถไปดาวน์โหลดหรืออัพเดทได้ที่ App Store (แต่ความฟินนี้มีไว้เฉพาะผู้ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS เท่านั้น)

เพราะ สุทธิวัฒน์ บอกว่า ตอนนี้เขายังไม่ได้คิดเรื่องหารายได้จาก FIN App เพราะเริ่มต้นจากความพยายามในการแก้ปัญหาให้ตัวเอง แม้ว่าจะมีต้นทุนในการทำงานอยู่พอสมควร

“สิ่งที่สร้างต้องมีประโยชน์ต่อผู้ใช้งานจริง ถ้าของยังไม่ดีก็ไม่กล้าไปขอ Sponsor ตอนนี้ขอแค่ให้ FIN App มีคุณค่าที่จับต้องได้จริง และทำให้ผู้ใช้งานรัก App นี้ ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว” สุทธิวัฒน์ กล่าว