posttoday

ธปท.เผยไทยพร้อมรับมือหยวนเป็นเงินสกุลหลักโลก

01 ธันวาคม 2558

ธปท.ชี้ปีหน้าเงินหยวนจะได้รับการยอมรับในวงกว้างมากขึ้น หลังไอเอ็มเอฟให้เป็นเงินสกุลหลักของโลก เผยไทยได้ตกลงแลกเปลี่ยนหยวนไว้รองรับสภาพคล่องล่วงหน้าแล้ว 7 หมื่นล้านหยวน

ธปท.ชี้ปีหน้าเงินหยวนจะได้รับการยอมรับในวงกว้างมากขึ้น หลังไอเอ็มเอฟให้เป็นเงินสกุลหลักของโลก เผยไทยได้ตกลงแลกเปลี่ยนหยวนไว้รองรับสภาพคล่องล่วงหน้าแล้ว 7 หมื่นล้านหยวน

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) พิจารณาเพิ่มเงินสกุลหยวนของจีนเข้าเป็น 1 ใน 5 เงินสกุลหลักของโลกที่จะประกอบขึ้นมาเป็น SDR (Special Drawing Rights) ของ IMF ในเดือนต.ค. 2559 นี้ ว่า ถือเป็นการยืนยันบทบาทของจีนและของเงินหยวนในเวทีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ทำให้มีการใช้อย่างแพร่หลายและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

ทั้งนี้ ในส่วนของ ธปท. ได้เริ่มทยอยลงทุนในพันธบัตรสกุลเงินหยวนมาตั้งแต่ปี 2553 เพื่อประโยชน์ในการกระจายความเสี่ยงของการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้เงินหยวนเป็นทางเลือกในการชำระเงินสำหรับการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและจีนมาอย่างต่อเนื่อง

และล่าสุด ธปท. ได้มีการต่ออายุความตกลง BSA (Bilateral Swap Arrangement) กับจีน ในวงเงิน 7 หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เทียบเท่า ซึ่งจะเพิ่มความมั่นใจในการเข้าถึงสภาพคล่องเงินหยวนหากเป็นที่ต้องการของระบบการเงินไทย

ขณะที่ในส่วนของทางการจีน ได้แต่งตั้งธนาคาร ICBC (Industrial and Commercial Bank of China (Thai)) ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อการชำระดุลเงินหยวน (Clearing Bank) ในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการบริหารสภาพคล่องเงินหยวนอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย

“คาดว่าจากนี้ไป ความสนใจในการใช้เงินหยวนเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ และเพื่อการลงทุน จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามความสะดวกคล่องตัวที่จะเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายการควบคุมด้านเงินทุนของทางการจีนตามลำดับ และความคุ้นเคยของผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ” นายเมธีกล่าว

นายเมธี กล่าวว่า สำหรับผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยอาจจะไม่มากนัก เนื่องจากนักลงทุนมีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว อย่างไรก็ดี นักลงทุนอาจมีการปรับสัดส่วนการลงทุนหรือ การซื้อป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน (Hedge) ตามสกุล SDR แต่คาดว่าจะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป หากมองในภาพรวมต่อเศรษฐกิจไทยนั้น คาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์ในเชิงการค้าและการลงทุนจากการที่จะมีการใช้เงินหยวนอย่างแพร่หลายขึ้นในระยะต่อไป