posttoday

ฝีปากสามเณรธรรมาสน์ทอง

17 กันยายน 2560

โครงการ "เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ" สร้างความฮือฮาให้กับสมาชิกหลายร้อยชีวิต

โครงการ "เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ" สร้างความฮือฮาให้กับสมาชิกหลายร้อยชีวิต เมื่อนิมนต์สามเณรที่ได้แชมป์ธรรมาสน์ทองมาแสดงธรรมที่ตึกซีพี เมื่อวันศุกร์ที่ 25 ส.ค. 2560 เพื่อแสดงฝีปากด้านธรรมให้ฟังกันทั่วๆ รัวๆ หัวใจทีเดียว

สามเณรสุรชัย ศรีกล่ำ จากวัดศรีโพธิ์ จ.สุโขทัย 3 แชมป์เณรธรรมาสน์ทอง เมื่อ พ.ศ. 2559 ก็ไม่ได้ทำให้แฟนซีพีผิดหวัง สามารถแสดงธรรมได้จับใจญาติโยมตามหัวข้อธรรมที่สามเณรหยิบยกมาวิสัชนา คือ สุจริตธรรมกถา ประพฤติดีง่ายๆ ทำได้ 24 ชั่วโมง

สามเณรในวัย 19 ปี กล่าวว่า ทุกคนบนโลกใบนี้ล้วนมีหนึ่งชีวิตเท่ากัน มีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันสิ่งนั้น คือ ดวงจิต แต่ละคนมีความสะอาด ความบริสุทธิ์ของจิตใจไม่เท่ากัน บางคนมีจิตใจดี เข้าวัดทำบุญสร้างแต่กุศล บางคนกลับทำแต่บาป ยิงนก ตกปลา เบียดเบียน คดโกงผู้อื่น

ด้วยความที่มนุษย์มีความหลากหลายทางดวงจิต สิ่งที่จะทำให้สังคมเจริญก้าวหน้า คือ ความสุจริตธรรม

พร้อมทั้งอรรถาธิบายว่า ความเป็นมนุษย์เมื่อก่อกำเนิดเกิดขึ้นในสังขารของเราจะมีพ่อแม่เป็นที่ตั้ง

แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งใด คือ ดวงจิตที่ถือเป็นตัวกำหนดชีวิตของคนเรา การมีจิตที่สะอาด จิตใจบริสุทธิ์จะทำให้เรากระทำแต่กรรมดี คือ การเข้าวัดฟังธรรม หมั่นสร้างบุญสร้างกุศล

ผิดกับคนที่จิตไม่ได้รับการขัดเกลาด้วยธรรมะ ทำแต่กรรมไม่ดี ตามสำนวนชาวบ้านพูดกันว่า "วัดไม่เข้า เหล้าไม่ขาด บาตรไม่ใส่" คนประเภทนี้มีกิเลสหนา อยากได้อยากมี อยากจะเป็น จนเกิดเป็นความโลภ โกรธ หลง ตัวอย่างที่มีให้เห็นในชีวิตเราเป็นประจำ เช่น การคดโกง การคอร์รัปชั่นทั้งหลาย ที่กระจายทั่วทุกระดับ

สามเณรได้อธิบายความหมายของคำว่า สุจริต อย่างแยบคาย โดยบอกที่มาว่า สุ แปลว่า ดี งาม ง่าย จริต แปลว่า ประพฤติ เมื่อรวมกันแล้วจะหมายความว่า การประพฤติที่ดี มี 3 คือ สุจริตทางใจ คือ การซื่อสัตย์ต่อใจตัวเอง เช่น การมาทำงานตรงต่อเวลา มีวินัยควบคุมใจตัวเอง สุจริตทางกาย คือ การซื่อสัตย์ต่อคนรอบข้างจากการประพฤติตัวของเรา เช่น การทำงานตรงตามคำสั่ง ทำงานบรรลุเป้าหมาย และสุจริตทางวาจา คือ การซื่อสัตย์ต่อคำพูดของเรา เช่นรับฟังสิ่งใด เมื่อจะบอกผู้อื่นจะต้องเป็นตามที่ได้ยินไม่บิดเบือนคำพูด

ในการดำเนินชีวิตจะต้องมี 3 สุจริตธรรม ควบคู่ไปกับ 2 ธรรมะ คือ หิริโอตตัปปะ หิริ คือ ความละอายต่อบาป โอตตัปปะ คือ ความเกรง ความกลัวต่อบาป หากเรามีธรรมะ 2 ข้อนี้ประกอบ จะทำให้ชีวิตเราและสังคมเกิดความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น น้อยคนที่จะมีหิริโอตตัปปะ เพราะเป็นธรรมที่ทำยากและเห็นผลช้า แต่ถ้าทำได้ชีวิตเราจะมีภูมิคุ้มกันต่อบาปหรือสิ่งที่ไม่ดี ไม่ให้เข้ามาในชีวิตของเราได้

สามเณรได้ให้ความรู้ทิ้งท้ายไว้ว่า ชีวิตคนเราไม่สามารถรู้ได้ว่าเราจะหมดลมหายใจเมื่อไร คนทุกคนจะมี 5 สิ่งที่ไม่สามารถล่วงรู้ได้ในชีวิต 1.ชีวิตะ เราไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่บนโลกนี้นานแค่ไหน จะอยู่ได้อีกกี่ปี 2.โรคะ เราไม่รู้ว่าจะจากไปแบบไหน ด้วยโรคอะไร 3.กาลเวลา เราไม่รู้ว่าจะจากโลกนี้ไปเวลาไหน ทั้งๆ ที่โลกนี้มี 7 วัน 24 ชั่วโมง เราเลือกเวลาไม่ได้ 4.เทหนิกเขปนะ เราไม่รู้ว่าเราจะไปทอดกายทิ้งไว้ที่ไหน จะตายอยู่สถานที่ใด 5.คติ เราไม่รู้ว่าเมื่อเราตายไปแล้วเราจะไปไหน เป็นอย่างไร ไม่มีใครกลับมาบอกเราได้

เมื่อเราไม่รู้เวลาจาก เราควรที่จะ ทำเวลาอยู่ให้ดี อย่ามัวรอเวลาที่จะปฏิบัติดี รอให้มีสุจริตธรรมเอง แต่เราจะต้องเป็นคนลงมือสร้างขึ้นมา เพื่อที่เมื่อตายไปแล้วจะได้ไม่เสียเวลาที่มีชีวิตอยู่ว่า ทำไมเราถึงไม่ทำความดี จึงขอให้หมั่นสร้างบุญ สร้างกุศล อย่าทำตนเป็นคนไม่ได้ขัดเกลาจิตใจ ซึ่งสามเณรกล่าวเป็นภาษิตทิ้งท้ายว่า "คนที่ไม่ทำบุญเสมือนกอหญ้าที่ถูกเหยียบ จะหม่นหมอง ไม่มีโอกาสที่จะได้เติบโต แข็งแกร่ง ได้เป็นเพียงกอหญ้าที่รอวันเหี่ยวตาย"