posttoday

อดีตนั้นเสนาบดีทำหน้าที่สังฆราช (1)

15 มกราคม 2560

มีคำถามว่า พระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ไทย มีพัฒนาการอย่างไร แต่ละฉบับมีหลักการและเหตุผลอย่างไร

โดย...ส.คนจริง

มีคำถามว่า พระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ไทย มีพัฒนาการอย่างไร แต่ละฉบับมีหลักการและเหตุผลอย่างไร จนกระทั่ง มีฉบับที่ 3 สดๆ ร้อนๆ คำถามนี้ต้องตอบอย่างน้อย 2-3 ตอน เพราะเรื่องยาว แต่ว่าโดยหลักการแล้ว สมัยพุทธกาล สมัยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปกครองโดยใช้หลักธรรมและวินัยเท่านั้น

ประเทศไทย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยรับพระพุทธศาสนาเข้ามาเป็นแบบแผนในชีวิตประจำวัน มีรัตนไตรเป็นที่พึ่ง ก็นำแบบอย่างปกครองสงฆ์สมัยพุทธกาล ที่ถ่ายทอดผ่านเถรวาทที่รุ่งเรืองในลังกาเข้ามาในไทย โดยมีหลักเกณฑ์ทางบ้านเมืองเข้ามาปกครอง นอกจากหลักธรรม-วินัย

ราชอาณาจักรสมัยสุโขทัย ปกครองแบบครอบครัวคือ พ่อปกครองลูก ส่วนการปกครองคณะสงฆ์ไม่มีพ่อไม่มีแม่ แต่มีครู อาจารย์ แบ่งกันปกครองตามคณะ ที่อยู่ในป่าเรียกอรัญญาวาสี ที่อยู่ใกล้บ้านก็เรียกคามวาสี ทั้งสองฝ่ายมีหัวหน้าคุมเรียกว่า ปู่ครู

การจะเป็นปู่ครูได้ ต้องแตกฉานในธรรม-วินัย

เมื่อสุโขทัยโรยรา อาณาจักรอยุธยากลืนกิน การปกครองสงฆ์ก็พัฒนา อีกขั้นหนึ่งคือ คามวาสีมีชื่อเพิ่ม หรือตำแหน่งเพิ่มเป็นคามวาสีฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ส่วนอรัญวาสีเหมือนเดิม ทั้งหมดมีพระสังฆราช ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ ปกครองสูงสุด

ถึงสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น การปกครองสงฆ์ไม่แตกต่างจากสมัยกรุงศรีอยุธยา หากแต่เปลี่ยนชื่อเป็นหนเหนือ หนใต้ หนกลาง และอรัญวาสี ในขณะที่สมัยรัชกาลที่ 1 ทรงตราพระราชบัญญัติ (หรือประกาศ) การปกครองคณะสงฆ์ออกมา 10 ฉบับ เพื่อบังคับให้พระสงฆ์อยู่ในระเบียบวินัย ไม่ทำตัวตลกคะนอง ใครละเมิดคำสั่งลงโทษรุนแรงมาก ไม่เฉพาะพระสงฆ์ หากรวมถึงผู้ให้การสนับสนุนด้วย เช่น ห้ามพระซื้อแพรพรรณจากร้านค้า จับได้ลงโทษทั้งพระและร้านค้านั้นด้วย

 เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 3 เข้าสู่รัชสมัยรัชกาลที่ 4 ก็เห็นวิวัฒนาการขึ้นไปอีก เมื่อเกิดคณะธรรมยุติกนิกาย ที่ก่อตั้งขึ้นวชิรญาณภิกขุ และรัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานพรพิเศษแก่คณะธรรมยุต คือให้ปกครองกันเองได้ แปลว่าไม่ต้องขึ้นกับหนต่างๆ ที่เคยปกครองมาแต่ก่อน ทำให้เห็นการปกครองสงฆ์ปัจจุบันแบ่งเป็นธรรมยุติและมหานิกายในภาคปฏิบัติ แต่ในชั้นสังฆราช ไม่แบ่ง สังฆราชจึงปกครองทั้งสองนิกาย (แต่ความจริงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

ส่วนตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้น รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อสมเด็จสังฆราชพระองค์นั้นนิพพานก็ไม่ทรงตั้งรูปอื่นจนถึงเสด็จสวรรคต

สมัยรัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช 2 พระองค์ 1 คือ สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อสิ้นพระชนม์ก็สถาปนาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สมเด็จพระสังฆราชสา) วัดราชประดิษฐ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อสมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์ ก็ไม่ทรงสถาปนารูปใดจนสิ้นรัชกาล

เมื่อไม่มี พระสังฆราช การบัญชาการ หรือบริหารคณะสงฆ์ ทำอย่างไร สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงอธิบายไว้ในหนังสือการคณะสงฆ์ว่า สมเด็จเจ้าคณะใหญ่บัญชาการเป็นอิสระแผนกหนึ่ง เหมือนในรัชกาลที่ 4

ส่วนอำนาจบัญชาการอันรวมกัน มาตกอยู่ที่เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ถ้าเป็นการตามธรรมเนียม เสนาบดีบัญชาการเองตามลำพัง ถ้าเป็นการพิเศษ เสนาบดีกราบบังคมทูลพระกรุณาเรียนพระราชปฏิบัติ แล้วรับบรมราชโองการ ออกคำสั่ง

กล่าวอีกโวหารหนึ่ง เสนาบดีรั้งตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช

อำนาจเสนาบดี ในฐานะผู้รั้งตำแหน่งสังฆราชเห็นชัดเจน เมื่อมีพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทาน

ตาม พ.ร.บ.นั้น พระมหากษัตริย์ทรงทำหน้าที่เหมือนสมเด็จพระสังฆราช โดยมีเสนาบดีกระทรวงธรรมการทำหน้าที่แทนพระมหากษัตริย์

ส่วนกรรมการมหาเถรสมาคม ที่ตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ปกครอง ต้องทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาพระมหากษัตริย์ด้วย

 ส่วนเหตุผลที่ให้ตรา พ.ร.บ.ลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 สรุปว่าทุกวันนี้การปกครองฝ่ายราชอาณาจักร เจริญขึ้น จึงมีพระราชประสงค์ให้สังฆมณฑลให้เจริญมั่นคงสืบไปจึงทรงพระกรุณาให้ตราเป็นพระราชบัญญัติไว้สืบไป