posttoday

พสล.มอบทุนพระนักศึกษานานาชาติ

24 กรกฎาคม 2559

พ.ส.ล.มอบทุนพระนักศึกษาต่างชาติวันที่ 10 ก.ค. 2559 สำนักงานใหญ่องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก

พ.ส.ล.มอบทุนพระนักศึกษาต่างชาติวันที่ 10 ก.ค. 2559 สำนักงานใหญ่องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) จัดพิธีถวายทุนศึกษาเล่าเรียนแก่พระภิกษุสามเณรต่างชาติ ที่มาศึกษาในประเทศไทย จำนวน 225 ทุน ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปีก่อนช่วงเข้าพรรษา

การถวายทุนแก่พระภิกษุและสามเณรต่างชาติ ต่างภาษา ที่มาศึกษาเล่าเรียนในประเทศไทย โดย พ.ส.ล.เป็นพระดำริของ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล อดีตประธาน พ.ส.ล. ซึ่งจัดถวายมาตั้งแต่ พ.ศ. 2515 ดังที่ พล.ร.ต.อิสระ ยิ้มพานิชย์ ผู้ช่วยเลขาธิการกิตติมศักดิ์ และเลขานุการมูลนิธิอุปถัมภ์สงฆ์ของ พ.ส.ล. ได้กล่าวในรายงานในพิธีมอบอนุโมทนาบัตรแก่ผู้บริจาคร่วมงานบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชา วันที่ 10 ก.ค. 2559 ณ สำนักงาน พ.ส.ล. ว่า ม.จ.พูนพิศมัย ทรงตั้งมูลนิธินี้ โดยทรงเห็นว่าพระภิกษุสามเณรอยู่ห่างไกลจากบิดามารดา ญาติพี่น้อง ควรได้มีที่พึ่งพาอาศัย

ในการนี้มีผู้ศรัทธาบริจาคเงินตั้งเป็นกองทุนถาวร (ทุนประเภท ก.) อยู่ในมูลนิธิ 1,433 ราย เป็นเงินรวม 7.7 ล้านบาท และได้ให้ทุนเพื่อช่วยเหลือพระภิกษุสามเณรต่างชาติที่มาศึกษาในประเทศไทย รวม 781 รูป จาก 17 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ จีน รัสเซีย ทิเบต มองโกเลีย เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย เนปาล บังกลาเทศ ศรีลังกา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม

นับแต่ พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา ดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ลดลง ส่งผลต่อจำนวนเงินเงินที่จะมอบทุน คณะกรรมการมูลนิธิ จึงมีมติขอรับบริจาคเพื่อถวายทุนโดยตรง (ทุนประเภท ข.) รูปละ 400 บาท/เดือน หรือปีละ 4,800 บาท มีผู้บริจาคทุนโดยตรงเมื่อสิ้น พ.ศ. 2558 รวมจำนวน 114 ราย รวม 225 ทุน รวมทั้งสิ้น 1 ล้านบาท

พสล.มอบทุนพระนักศึกษานานาชาติ

 

การมีทุนโดยตรง ทำให้มูลนิธิสามารถถวายทุนการศึกษาต่อไปได้โดยไม่ต้องลดจำนวนพระภิกษุสามเณรที่จะรับการถวายทุนแต่ละปี

ก่อนมีพิธีมอบอนุโมทนาบัตรแก่ผู้ตั้งทุนถวายพระภิกษาสามเณร พระมหาบุญถึง ชุตินฺธโร เจ้าอาวาสวัดตะล่อม กล่าวอนุโมทนา และเล่าว่า ก่อนที่วัดตะล่อมจะเป็นที่รู้จักนั้น ขณะที่ท่านเป็นรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต นักศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) นั้น ได้มีการตกลงระหว่างวัด 3 วัดว่าจะรับพระต่างประเทศที่มาศึกษาในประเทศไทยให้เข้าพักอาศัย วัดที่ตกลงตอนนั้นเหลือแต่เพียงวัดตะล่อมเท่านั้นในขณะนี้ และเป็นที่รู้จักของพระที่ตั้งใจมาศึกษาที่ มจร หรือมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) ดังจะเห็นว่าพระทั้งหลายเมื่อลงเครื่องบินที่สุวรรณภูมิ หรือดอนเมือง จะบอกกับรถแท็กซี่ให้มาส่งที่วัดตะล่อม เท่านั้น

พระมหาบุญถึง กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจที่ พ.ส.ล.เห็นความสำคัญ ได้เมตตามอบทุนถวายแก่พระภิกษุสามเณรที่ศึกษาในไทย แม้เพียงเดือนละ 400 บาท ปีละ 4,800 บาท หากปีหนึ่งมารับก็เป็นเงินมากพอที่จะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ ในขณะที่ มจร ก็มีทุนให้พระนิสิตชาวต่างชาติเช่นกัน หากตรงตามกฎเกณฑ์

พระต่างประเทศที่มาศึกษาในไทย เป็นส่วนหนึ่งของการเผยแผ่วัฒนธรรมไทย เขาเรียนจบกลับประเทศของเขาก็นึกถึงประเทศไทยไม่เคยลืม

ดังนั้น ตัวท่านจึงภูมิใจ พ.ส.ล.และยังรู้สึกทึ่งที่ประธานองค์การโลกแห่งนี้ มีอายุเกือบ 100 ปี แต่ยังสามารถทำงานได้ดี ซึ่งตัวท่านมหาบุญถึง ซึ่งมีอายุ 70 ปีแล้วก็อยากเห็น พ.ส.ล.รุ่งเรือง เพราะประเทศไทยนั้นได้รับการยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลกที่นับถือพระพุทธศาสนาให้เป็นที่ตั้งสำนักงานถาวรของค์การระดับโลกแห่งนี้ ทั้งนี้เพราะไทยเป็น Buddha’s Country หรือ Buddha’s Land พร้อมรับพระสงฆ์ที่มาจาก 4 ทิศ

สุดท้ายพระมหาบุญถึง ในนามพระชาวต่างประเทศที่มาศึกษาในไทย ได้อวยพรให้ผู้บริหารองค์การ พ.ส.ล.จงมีสุขภาพแข็งแรง แคล้วคลาดจากภัยพิบัติทั้งปวง