posttoday

กางแผนซื้อรถไฟดันรายได้

08 สิงหาคม 2560

รฟท.เคาะแผนจัดซื้อรถไฟรองรับ 16 เส้นทางใหม่ หวังเพิ่มรายได้ปีละ 5,400 ล้าน

รฟท.เคาะแผนจัดซื้อรถไฟรองรับ 16 เส้นทางใหม่ หวังเพิ่มรายได้ปีละ 5,400 ล้าน

นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม เปิดเผยในงานโครงการพัฒนาเครือข่ายสถาบันวิชาการระบบขนส่งทางราง (Thailand Rail Aca demy) ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมแผนการลงทุนระยะ 8 ปี (2561-2568) เพื่อรองรับเส้นทางรถไฟทางคู่รวม 16 เส้นทาง ระยะทางรวม 3,169 กิโลเมตร (กม.) โดยจะจัดซื้อรถไฟ 286 คัน ภายในปี 2563 ประกอบด้วย การจัดซื้อรถไฟดีเซลจำนวน 186 คัน การจัดซื้อรถจักรเพิ่มขึ้น 75% จำนวน 100 คัน จากเดิมที่มี 130 คัน ตลอดจนการเช่าและซ่อมบำรุงรถจักรอีก 50 คัน

ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายภายในปี 2568 จะสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับ รฟท.ไม่ต่ำกว่า 5,453 ล้านบาท จากความสามารถการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 6 ล้านคน/ปี และสินค้า 20.9 ล้านตัน/ปี ประกอบด้วย รายได้จากการขนส่งคอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้น 1,500 ล้านบาท รายได้จากการขนแร่เหล็กเพิ่มขึ้น 1,309 ล้านบาท รายได้จากการขนส่งถ่านหินเพิ่มขึ้น 1,325 ล้านบาท รายได้จากการขนสินค้าแร่โปแตสเพิ่มขึ้น 825 ล้านบาท รายได้การขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 493 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมต้องการส่งเสริมให้เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งมาใช้ระบบรางมากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนเพียง 1.42% เป็นการแก้ปัญหาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ โดยตั้งเป้าลดต้นทุนขนส่ง 100% จากปัจจุบันมีอัตราเฉลี่ย 2.12 บาท/ตัน/กม. ในระบบถนน ให้เหลือเพียง 0.95 บาท/ตัน/กม. บนระบบราง เบื้องต้นคาดว่าภายในปี 2565 ระบบรางของไทยจะพร้อม

นายพิชิต กล่าวปาฐกถาเรื่อง "โอกาสของการยกระดับศักยภาพของบุคลากรไทยผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทางราง" ว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมทางรางของชาติต้องเร่งผลิตบุคลากรขึ้นมา เพื่อรองรับทั้งโครงการรถไฟฟ้าเมืองหลวงและภูมิภาค โครงการรถไฟทางคู่ รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง ดังนั้น ในอีก 5 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะต้องการเพิ่มบุคลากรทางรางอีก 3 หมื่นคน จากปัจจุบันมีจำนวนอยู่ที่ 1 หมื่นคน ประกอบกับปัจจุบันสถาบันที่ผลิตบุคลากรกลุ่มนี้ มีไม่กี่แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยหอการค้า มหาวิทยาลัยรังสิต และสถาบันอาชีวศึกษา 12 แห่ง รวมแล้วผลิตบุคลากรได้ปีละประมาณ 1,000 คน

สำหรับแนวทางการถ่ายทอดเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมทางรางเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขในสัญญาโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย โดย เบื้องต้นรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนจะร่วมลงทุนจัดตั้งบริษัทเดินรถและซ่อมบำรุง การจะพัฒนาหรือสร้างบุคลากรทางระบบรางให้มีคุณภาพนั้น องค์ความรู้ต่างๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ อาทิ การสร้างระบบราง ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบการควบคุมสถานี การควบคุมรถ เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องร่วมกันคิดว่าจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบรางอย่างไรที่จะทำให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะการผลิตบุคลากรแต่ละประเภทต้องลงทุน ทั้งอุปกรณ์ และเครื่องมือในการเรียนรู้ วิจัย และพัฒนา ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูงดังนั้นสถาบันการศึกษาแห่งเดียวคงไม่สามารถทำได้ จึงต้องกำหนดว่าสถาบันใดจะรับผิดชอบผลิตบุคลากรในด้านใดบ้าง

ภาพประกอบข่าว