posttoday

กรมหม่อนไหมเตรียมจัดประกวดลวดลายผ้าไหมรัชกาลที่ 9

17 พฤศจิกายน 2559

กรมหม่อนไหม เชิญชวนประชาชนร่วมกันคิดออกแบบให้ทรงคุณค่าสมกับเป็นผ้าไหมในยุครัชกาลที่9 เผยเคยมีผ้าไหมรัชกาลที่5 มาแล้ว

กรมหม่อนไหม เชิญชวนประชาชนร่วมกันคิดออกแบบให้ทรงคุณค่าสมกับเป็นผ้าไหมในยุครัชกาลที่9 เผยเคยมีผ้าไหมรัชกาลที่5 มาแล้ว
 
เมื่อวันที่ 17 พ.ย.นายพรชัย พรหมมีชัย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสุดารัตน์ วัชรคุปต์ เหล่าวิชยา อธิบดีกรมหม่อนไหม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรฯและสถาบันการศึกษา 6 แห่ง ในโครงการพัฒนาลวดลายผ้าและผลิตภัณฑ์ไหมไทย ตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนารถทรงอนุรักษ์ สืบสานภูมิปัญญาหม่อนไหมไทย ไปสู่คนรุ่นใหม่ ให้รักอาชีพนี้เพื่อเป็นทายาทหม่อนไหมในอนาคต นำบุตรหลานจากเกษตรกร และเยาวชนในระดับมหาวิทยาลัย เข้าเรียนรู้ในกิจกรรมหม่อนไหมเพื่อพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม 8.2  หมื่นกว่าครัวเรือน
 
นายสุดารัตน์ กล่าวว่าทางกรมจะจัดประกวดการออกแบบทอลวดลายผ้าไหมในรัชกาลที่9 เพื่อถวายเทอดพระเกียรติแด่พระองค์  ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีผ้าไหมในรัชกาลที่5 มาแล้ว โดยจะมีการแจกรางวัลให้ผู้ชนะ 3 รางวัลในช่วงเดือนก.ค.ปี60 ช่วงงานผ้าไหมนกยูงพระราชทาน สมเด็จพระเทพฯพระรัตนราชสุดา เสด็จเป็นองค์ประธาน มอบรางวัล ตนเชื่อว่านักศึกษาสถาบันต่างๆไปร่วมกับชาวบ้าน คิดครีเอ็ตลวดลายอย่างมีคุณค่าสมกับเป็นผ้าไหมในยุครัชกาลที่9 และเลข 9 เป็นตัวเลขที่สวยงามมากเหมาะสมกับนำไปออกแบบให้ร่วมสมัย
 
“ขอให้เยาวชน นักศึกษา เกษตรกร ประชาชนทั่วไป ช่วยกันไปคิดลวดลายผ้าไหมในธีมงานถวายความอาลัย สีขาวดำ ไม่จำเป็นต้องใช้ภูมิปัญญาเดิม มาครีเอ็ตกันใหม่ ให้เป็นผ้าไหมอยู่ในรัชกาลที่ 9 เพราะมีลายผ้าไหมในรัชกาลที่5 มีมาแล้ว” อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวและว่าการร่วมมือครั้งนี้จะต่อยอดให้มีการพัฒนาจากลวดลายดั้งเดิมซึ่งจะมีกลุ่มตลาดเดิม หากมีแนวคิดใหม่ทำลวดลายใหม่จะเกิดตลาดใหม่รวมสมัย ซึ่งสามารถเข้าถึงทุกเพศวัย ร่วมรณรงค์สวมใส่ผ้าไหม มีลายใหม่ๆดึงคนกลับมานิยมสวมใส่ 
 
ร.ศ.เกษศินี วิฑูรย์ชาติ รองอธิการบดีม.รังสิต กล่าวว่ายินดีกับกระทรวงเกษตรฯ ที่ริเริ่มร่วมพลังจาก มหาวิทยาลัยต่างๆเปิดโอกาสให้นักศึกษาไปสัมผัสความเป็นจริง ผู้ผลิตชาวบ้านมีปัญหาอย่างไร  ทำให้การเรียนการสอนเข้าไปอยู่ในโลกความเป็นจริง ได้ใช้สร้างสรรค์ความคิดริเริ่ม ไปทำจริงจะรู้ว่าสวยงามอย่างเดียวไม่พอ ต้นทุนถูก ตอบโจทย์ผ้าไหมได้ คือการดูแลรักษายังทำได้ยาก เพื่อก้าวไปสู่ไทยแลนด์4.0 คือการคิดมูลค่าเพิ่ม อุตสาหกรรมผ้าไหม อาจขยายไปร่วมกับ กระทรวงอุตสาหกรรม โรงงานต่างๆ กับชาวบ้าน ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ภาพประกอบข่าว