posttoday

9 ข้อควรพิจารณาหลังรถไฟฟ้าสายสีม่วงขาดทุน

10 พฤศจิกายน 2559

นักวิชาการด้านขนส่งเสนอ 9 ข้อควรพิจารณา หลังการขาดทุนของรถไฟฟ้าสายมีส่วง

นักวิชาการด้านขนส่งเสนอ 9 ข้อควรพิจารณา หลังการขาดทุนของรถไฟฟ้าสายมีส่วง

ผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และอดีตรองผู้อำนวยการ สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอข้อควรพิจารณากรณีการขาดทุนของรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) ผ่านเฟซบุ๊ก Pramual Suteecharuwat โดยมีเนื้อหาดังนี้ 

1. ผมไม่ปฏิเสธการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับสังคม ตรงกันข้าม การพัฒนาคุณภาพชีวิตคือเป้าหมายหลักของการพิจารณาดำเนินโครงการใดๆ หากการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ รัฐก็ควรเร่งดำเนินการ

2. แต่การเร่งดำเนินการ ต้องไม่ใช้เพียงปัจจัยเวลามาเป็นตัวพิจารณารัฐบาลต้องพิจารณาให้รอบด้าน ครอบคลุมแนวเส้นทาง ผังเมือง การพัฒนาเมือง วิถีชีวิต การลงทุน ผลตอบแทน รูปแบบธุรกิจ การให้บริการ การจัดหา การบริหารเทคโนโลยี ความเข้ากันได้กับระบบรวม การซ่อมบำรุง การจัดหาอะไหล่ การพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาบุคคลากร (ทั้งเพื่อ operations & maintenance การผลิต และการวิจัยพัฒนา)

ซึ่งภารกิจในลักษณะนี้ ต้องผ่านการบูรณาการข้ามกระทรวง มิใช่เพียงภารกิจของกระทรวงคมนาคม และต้องเป็นแบบ top-down ไม่ใช่ bottom-up รอให้ใครเสนองานวิจัยบูรณาการอะไรให้รัฐ

3. ต้องเปลี่ยนชุดความคิดจากการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าแยกเป็นเส้นทาง เป็นการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนเรื่องนี้ฟังผ่านๆ ดูเหมือนง่าย ภาษาสวย แต่นี่เป็นอีกเรื่องที่อาจจะเข้าใจผิดกันเยอะมาก

4. จากข้อ 3. ในระยะสั้นการพัฒนาตามแนวเส้นทางอาจจะทำให้การตัดสินใจเลือกแนวเส้นทางเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นการกำหนดชัยภูมิตั้งต้นระบบขนส่งมวลชน และอาจถือเป็นจุดตั้งต้นของ town center ในมิติของระบบโครงข่าย

แต่ในระยะยาว เมื่อโครงข่ายกระจายครอบคลุมไปทั่วเมือง แนวเส้นทางจะกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญลดลงๆ ในที่สุดความสำคัญจะอยูที่ “จุดต้นทาง” กับ “จุดปลายทาง” ว่าอยู่ตำแหน่งไหนในโครงข่าย

5. ระบบขนส่งมวลชนที่ดี ต้องสนับสนุนการทำกิจกรรม การดำรงชีวิตของผู้คนที่อาศัยหรือประกอบอาชีพอยู่ในบริเวณที่มีการพัฒนาระบบขนส่งฯ ต้องทำให้ผู้คนใช้ระบบขนส่งฯ ไปๆ มาๆ อยู่ตลอดทั้งวัน (ไม่ใช่เพียงเช้าไปรอบหนึ่ง เย็นกลับรอบหนึ่ง)

6. จากข้อ 5. การจัดลำดับการลงทุนพัฒนาระบบขนส่งฯ ว่าท่อนไหน (ในโครงข่าย) ควรลงทุนก่อน ท่อนไหนควรลงทุนทีหลัง เพื่อให้สอดรับกับการพัฒนาเมือง (การเติบโตของเมือง) เพื่อเอื้อให้เกิดการใช้ประโยชน์เต็มที่ ไม่กลายเป็นรถไฟฟ้าว่างๆ ที่มีคนขึ้นน้อย นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องถูกพิจารณาแบบเข้มข้นมากกว่าการเลือกลงทุนตามแนวเส้นทาง ด้วยเงื่อนไขอื่นๆ เช่น อย่างที่มีการพูดกันว่าบริเวณไหนเวนคืนพื้นที่ง่ายกว่าก็ทำไปก่อน ซึ่งอาจเป็นบริเวณที่การเติบโตของเมืองไม่สัมพันธ์กับการเติบโตของระบบขนส่งมวลชน เป็นต้น

7. กรณีสายสีม่วง มิใช่เป็นปัญหาของแนวเส้นทาง หากแต่เป็นปัญหาของการจัดลำดับการพัฒนา และมาผนวกกับการขาดแผนรองรับการใช้งานที่ดี สังเกตได้ว่าการตัดสินใจลดค่าโดยสารนำไปสู่สภาวะขาดทุนมากกว่าเดิม และกำลังคาดหวังกันว่าการเชื่อมต่อระบบบริเวณบางซื่อ-เตาปูน จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นความเข้าใจผิด (ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ดีขึ้น แต่จะไม่เพิ่มขึ้นแบบพรวดพราด หรือแก้ปัญหาหลักได้ทันที)

8. ถ้ารัฐบาล (ไม่ได้หมายถึงกระทรวงคมนาคมเพียงกระทรวงเดียวนะครับ) ยังพัฒนาระบบโครงข่ายแบบไม่มององค์รวม ระบบใหม่ๆ ที่จะถูกลงทุนเพิ่มเติมเข้าไปในโครงข่ายจะยิ่งสร้างปัญหาใหม่ๆ พอกพูนใส่เข้าไปในระบบแทนที่จะแก้ปัญหา ยิ่งทำยิ่งยุ่ง พันกันเหมือนลิงแก้แห

9. ณ เวลานี้ ทุกอย่างยังสามารถแตะเบรคเพื่อปรับแผนให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ แต่หากเร่งจะทำโครงการด้วยเหตุผลว่าเดี๋ยวจะล่าช้า ต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ผมเกรงว่านี่จะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่สำหรับคนในอนาคตครับ