posttoday

พาณิชย์คุมเข้มป้องกันกักตุนอาหารในพื้นที้ประสบภัยน้ำท่วม

24 สิงหาคม 2559

"อภิรดี" สั่งพาณิชย์จังหวัด 11 พื้นที่อุทกภัยดูแลป้องกันไม่ให้มีการกักตุนจนสินค้าขาดแคลน พร้อมออกมาตรการดูแล 2 ช่วงช่วยเหลือประชาชน-ผู้ประกอบการ

"อภิรดี" สั่งพาณิชย์จังหวัด 11 พื้นที่อุทกภัยดูแลป้องกันไม่ให้มีการกักตุนจนสินค้าขาดแคลน พร้อมออกมาตรการดูแล 2 ช่วงช่วยเหลือประชาชน-ผู้ประกอบการ

นางอภิรดี  ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือประสบกับภาวะอุทกภัย ซึ่งศูนย์ข้อมูลช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมระบุว่า พื้นที่ในจังหวัดภาคเหนือที่ประสบอุทกภัยมีจำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา ลำพูน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ น่าน แพร่ และลำปาง จึงสั่งการให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดในเขตพื้นที่ดังกล่าวดำเนินการดูแลไม่ให้เกิดการกักตุน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลนสินค้า

ทั้งนี้ ได้รับรายงานว่าราคาจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพในพื้นที่ประสบอุทกภัยยังคงทรงตัว ปริมาณสินค้ามีเพียงพอ ไม่มีการฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค และไม่พบการกักตุนสินค้า แต่หากมีการจำหน่ายสินค้าในราคาสูงกว่าสมควร กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินการตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 อย่างเข้มงวด ซึ่งมีโทษทางอาญาจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งหากพบการฉวยโอกาสสามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1569 ได้ทันที

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ได้แบ่งมาตรการดูแลสถานการณ์สินค้าและราคาในช่วงเกิดสาธารณภัยไว้ 2 ช่วง คือ ช่วงภาวะสาธารณภัยและช่วงหลังสาธารณภัย โดยช่วงภาวะสาธารณภัยกำหนดแผนการช่วยเหลือประชาชน อาทิ จัดหาสินค้าที่จำเป็นลงพื้นที่ ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าอาหารที่จำเป็นเพื่อการยังชีพ ได้แก่ ข้าวสาร อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง น้ำดื่มบรรจุขวด เป็นต้น กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ที่จำเป็น ได้แก่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน กระดาษชำระ ผ้าอนามัย เป็นต้น และกลุ่มสินค้าวัสดุก่อสร้าง ได้แก่  ปูนซีเมนต์ ทราย กระสอบทราย อิฐบล็อก เหล็ก ไม้ และแผ่นสังกะสี เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังจัดรถจำหน่ายสินค้าเคลื่อนที่ (โมบาย ยูนิต) โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำดื่มบรรจุขวด นมสดพร้อมดื่ม และไข่ไก่ เป็นต้น และจัดจุดจำหน่ายสินค้า ในพื้นที่เกิดอุทกภัยให้มากที่สุด รวมถึงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัย พร้อมทั้งกำหนดจัดตั้งศูนย์ประสานงานการกระจายสินค้าเพื่อผู้บริโภคเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และจัดสายตรวจพิเศษกำกับดูแลการจำหน่ายสินค้าไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค ตลอดจนประสานให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในการกระจายสินค้าที่ตกค้างอยู่ในศูนย์กระจายสินค้าต่างๆ เพื่อจัดส่งไปยังร้านค้าปลีกท้องถิ่นได้อย่างทั่วถึง

สำหรับช่วงหลังการเกิดสาธารณภัย ได้กำหนดแผนให้ความช่วยเหลือประชาชน อาทิ จัดงานธงฟ้าเพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชนในพื้นที่ประสบภัยหลังจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง รวมทั้งประสานขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้จำหน่ายสินค้าที่จำเป็นในการฟื้นฟูหลังเกิดสาธารณภัย เช่น สินค้าวัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้า และยารักษาโรค เป็นต้น อีกทั้งประสานขอความร่วมมือผู้ประกอบธุรกิจ สถาบันการศึกษา ให้บริการตรวจเช็คและซ่อมแซมที่พักอาศัย เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ ในราคาถูกพิเศษ เช่น สมาคมก่อสร้างไทย สมาคมบ้านจัดสรร ศูนย์บริการรถยนต์ตราต่างๆ อู่ซ่อมรถ วิทยาลัยอาชีวศึกษา ผู้ประกอบการสินค้าวัสดุก่อสร้างรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

“ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย กระทรวงฯจะให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ อาทิ สนับสนุนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลาดสด และตลาดกลางสินค้าเกษตรในความส่งเสริม เช่น การจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการดำเนินธุรกิจและการจำหน่าย เป็นต้น รวมทั้งเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกรรายย่อยและสินค้าของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เช่น การจำหน่ายสินค้าในงานธงฟ้าของกรมการค้าภายใน และขอความร่วมมือให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจัดหาสถานที่จำหน่ายสินค้าเป็นกรณีพิเศษ” นางอภิรดี กล่าว