posttoday

เทรนด์เอฟไอทีจีนมาแรง แซงทัวร์ศูนย์เหรียญ

17 กุมภาพันธ์ 2560

ภายหลังรัฐบาลเดินหน้าปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญอย่างเต็มกำลังส่งผลให้ตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของการท่องเที่ยวไทยเสียอาการทรงตัว จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงต่อเนื่อง

โดย...พีรดา ปราศรีวงค์

ภายหลังรัฐบาลนำโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เดินหน้าปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญอย่างเต็มกำลังเมื่อเดือน ก.ย.ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของการท่องเที่ยวไทยเสียอาการทรงตัว จากนักท่องเที่ยวเดินทางลดลงต่อเนื่องหลายเดือนติดต่อกัน

ขณะที่รัฐบาลได้เดินสายโรดโชว์สินค้าทางการท่องเที่ยวพร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจถึงนโยบายการปราบปรามดังกล่าวจนเป็นที่เข้าใจในทิศทางเดียวกันทั้งเอกชนทัวร์ไทยและฝั่งจีน ก่อนงัดมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา (วีซ่า) ที่สถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในช่วงแรกตั้งแต่เดือน พ.ย.-28 ก.พ.นี้ และต่อเนื่องรอบสองยาวถึง 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-31 ส.ค.นี้ โดยในช่วงการจัดระเบียบทัวร์ศูนย์เหรียญ นักท่องเที่ยวจีนได้ปรับโครงสร้างการเดินทางท่องเที่ยวมาไทยอย่างเห็นได้ชัด โดยนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (เอฟไอที) มากกว่าการเดินทางผ่านบริษัททัวร์ โดยเฉพาะคนจีนรุ่นใหม่

กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ประเมินว่า การขยายฟรีวีซ่าจะช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติวางแผนเดินทางมาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีนสัดส่วนเอฟไอทีจะเพิ่มเป็น 70% จากเดิม 60% ของ นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยทั้งหมด ซึ่งเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา คนจีนมาไทยเพิ่มขึ้น 5.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน ตลอดปีนี้คาดว่าคนจีนจะมาไทยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน

อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เล่าว่า ปัจจุบันกระแสคนจีนรุ่นใหม่นิยมเดินทางท่องเที่ยวมาไทยแบบเอฟไอทีมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีที่เปิดกว้างทำให้การค้นหาข้อมูลด้านการท่องเที่ยวสะดวกรวดเร็ว ประกอบกับมาตรการยืดระยะเวลาฟรีวีซ่า ยิ่งเอื้อประโยชน์ให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนได้มากขึ้น

ทั้งนี้ บริษัททัวร์ต้องเร่งปรับตัวรูปแบบการให้บริการนักท่องเที่ยวแบบใหม่ เพราะเชื่อว่าการเดินทางแบบเอฟไอที ส่วนหนึ่งต้องพึ่งพาการจองผ่านบริษัททัวร์ ดังนั้นบริษัททัวร์ต้องเร่งพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพการบริการ การดูแลนักท่องเที่ยวแบบ เมด ทู ออร์เดอร์ ยิ่งขึ้น โดยขนาดการเดินทางจะเล็กลง จากเดิม 1 กรุ๊ปทัวร์มีกว่า 30 คน ปัจจุบันการเดินทางแบบเอฟไอที เฉลี่ย 3-6 คน เป็นต้น

"ปัจจุบันคนจีนเดินทางแบบเอฟไอที 60% ผ่านทัวร์ 40% แต่สัดส่วน 60% นั้น กว่า 80% ยังต้องพึ่งพาให้บริษัททัวร์เป็นผู้จัดหาจองการเข้าพักอยู่" อดิษฐ์ กล่าว

นอกจากนี้ต้องปรับแผนการบริหารจัดการ โดยนำเทคโนโลยีการเพิ่มช่องทางการสื่อสารการตลาดกับลูกค้าผ่านออนไลน์ สามารถโต้ตอบลูกค้าได้อย่างทันท่วงที การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รองรับการเดินทางแบบเอฟไอที เพื่อให้สอดคล้องกับการเดินทางที่มีขนาดเล็กลง

ด้านการเตรียมความพร้อมของภาครัฐ ควรหารือร่วมกับเอกชนท่องเที่ยวอย่างใกล้ชิด วางแผนเตรียมความพร้อมในการรองรับเอฟไอทีจีนที่เติบโตมากกว่าการเดินทางผ่านกรุ๊ปทัวร์ขนาดใหญ่เหมือนที่ผ่านมา โดยควรนำโมเดลการดูแลนักท่องเที่ยวของประเทศญี่ปุ่นมาใช้ที่ให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวคนไทย การอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานต่างๆ จึงมีไว้สำหรับคนไทยโดยเฉพาะ เช่น ป้ายบอกทางภาษาไทย เป็นต้น

ด้าน อิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า แนวโน้มคนรุ่นใหม่และวัยทำงานของจีนนิยมเดินทางท่องเที่ยวแบบเอฟไอที ประเทศไทยต้องเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ช่องทางการเข้าถึงแหล่งข้อมูลให้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ เพื่อสร้างความประทับใจในระยะยาว กระตุ้นให้เดินทางมาประเทศไทยแบบซ้ำๆ เพราะกลุ่มนี้เชื่อว่าจะเติบโตสูงอย่างรวดเร็วในอีก 4-5 ปีนับจากนี้

สำหรับภาพรวมการท่องเที่ยวไทยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ.ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 4.55 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.67% สร้างรายได้ 2.40 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.99% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน มาเลเซีย รัสเซีย เกาหลี และญี่ปุ่น
  
รายได้จากนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน รัสเซีย สหรัฐ มาเลเซีย และเกาหลี