posttoday

สองแควเสนอ 3 แนวทาง เขตเศรษฐกิจใหม่สี่แยกอินโดจีน

27 สิงหาคม 2558

เขตเศรษฐกิจใหม่สี่แยกอินโดจีน

โดย...ชินวัฒน์ สิงหะ

เขตเศรษฐกิจใหม่สี่แยกอินโดจีน พิษณุโลก-การพัฒนาพื้นที่ผังเมืองรวม ศิริ ทิวะพันธุ์ สถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน พิษณุโลก-เขตเศรษฐกิจใหม่ข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน จ.พิษณุโลก เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ที่เรียกว่า พิษณุโลก 2020 เขตเศรษฐกิจใหม่สี่แยกอินโดจีน ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ผังเมืองรวม จ.พิษณุโลก ฉบับใหม่ และนโยบายของรัฐบาลที่จะให้ จ.พิษณุโลก เป็นศูนย์การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ อันเป็นสถานีรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และสถานีขนส่งสินค้ารถไฟทางคู่สายปากน้ำโพ-เด่นชัย

พล.อ.ศิริ ทิวะพันธุ์ ประธานสถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน มีข้อเสนอให้รัฐบาลดำเนินการ 3 แนวทาง เพื่อให้การกระตุ้นทางเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์พิษณุโลก 2020 เขตเศรษฐกิจใหม่สี่แยกอินโดจีน บังเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างรวดเร็ว ทันต่อการเปิดเขตเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี โดยรัฐบาลประกาศนโยบายให้ จ.พิษณุโลก เป็น “เขตเศรษฐกิจใหม่” โดยมีทางเลือกการสนับสนุนสิทธิและประโยชน์ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ดังนี้

ทางเลือกที่ 1 ให้ จ.พิษณุโลก เป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจใหม่ โดยการสนับสนุนด้านสิทธิและประโยชน์เช่นเดียวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลได้ประกาศไปแล้ว และรับผิดชอบในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ตามแผนงานโครงการดังที่กล่าวข้างต้น

ทางเลือกที่ 2 ให้ จ.พิษณุโลก เป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ โดยการให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนในบางรายการ หรือลดระยะเวลาการเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามความเหมาะสม และรับผิดชอบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามแผนงานที่กล่าวข้างต้น

ทางเลือกที่ 3 รัฐบาลประกาศสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็นในการขับเคลื่อนการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน จ.พิษณุโลก ที่มีสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงเป็นพื้นที่ใจกลาง โครงการศูนย์พาณิชยกรรมและโลจิสติกส์บ้านบึงพระให้เป็นศูนย์กระจายสินค้าในระดับภาค และโครงการเขตอุตสาหกรรมนวัตกรรมอาหารและเกษตร จ.พิษณุโลก

พล.อ.ศิริ กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนและองค์กรเครือข่าย จะยื่นข้อเสนอโดยตรงต่อรัฐบาล และเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาตามยุทธศาสตร์พิษณุโลก 2020 เขตเศรษฐกิจใหม่สี่แยกอินโดจีน ในรูปแบบต่างๆ

ทั้งนี้ ภายในเดือน ก.ย.นี้ จะเสนอให้จัดประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจังหวัดพิษณุโลก (กรอ.จังหวัดพิษณุโลก) เพื่อพิจารณายุทธศาสตร์การพัฒนาและแผนงานโครงการ และให้ กรอ.จังหวัดพิษณุโลก นำเสนอแผนงานโครงการต่อคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ หรือ กรอ.กลาง ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อพิจารณาต่อไป

ยิ่งใกล้กำหนดการเข้าสู่เออีซี ยิ่งรัฐเร่งเดินหน้าโครงการพัฒนา ก็ยิ่งเป็นโอกาสที่จังหวัดต่างๆ จะมองหาโอกาสเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับให้กับพื้นที่ของตนเอง ข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้รัฐบาลในฐานะที่ต้องมองภาพรวม เชื่อมโยงทุกพื้นที่ จะมองอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม