posttoday

ผงาด 8 พันธมิตรโลว์คอสต์ เจาะโอกาสเสรีน่านฟ้าอาเซียน

18 พฤษภาคม 2559

สายการบินนกแอร์และอีก 7 สายการบินราคาประหยัด รวมกลุ่มกันจัดตั้ง 8 พันธมิตรการบิน แวลู อลิอันซ์ ซึ่งมีเครื่องบินรวมกันมากถึง 176 ลำ เทียบเท่ากับจำนวนเครื่องบินโลว์คอสต์ขนาดใหญ่อย่างแอร์เอเชีย

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

สายการบินนกแอร์และอีก 7 สายการบินราคาประหยัด (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) ร่วมกลุ่มกันจัดตั้ง 8 พันธมิตรการบิน แวลู อลิอันซ์ ซึ่งมีเครื่องบินรวมกันมากถึง 176 ลำ เทียบเท่ากับจำนวนเครื่องบินโลว์คอสต์ขนาดใหญ่อย่างแอร์เอเชีย ซึ่งสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานกึ่งวิเคราะห์ว่า อาจกลายเป็นการเปิดประตูสู่ยุคการควบรวมกิจการในสายการบิน หลังจากที่พยายามแข่งขันกันเองมาอย่างยาวนาน

ริชาร์ด แลง จากแมงโก อเวียชัน พาร์ทเนอร์ส บริษัทที่ปรึกษาในฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า การจัดตั้งพันธมิตรดังกล่าวอาจจะเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการควบรวมกิจการในเอเชีย หลังจากที่โลว์คอสต์แอร์ไลน์เกิดขึ้นมากมายเพื่อจับตลาดเอเชียแปซิฟิก

การรวมกลุ่มเป็นพันธมิตรเกิดขึ้นท่ามกลางการท่องเที่ยวที่ขยายตัว ส่งผลให้ตลาดสายการบินโลว์คอสต์ขยายตัวตามไปด้วย ซึ่งเอเชียก็มีสายการบินโลว์คอสต์มากถึงราว 12 แห่งที่เปิดตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยจากข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) พบว่าโลว์คอสต์แอร์ไลน์ครองส่วนแบ่งการตลาดถึง 54% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเทียบกับ 26% ของทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม บลูมเบิร์ก ระบุว่า การควบรวมกิจการไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายนักในเอเชีย เนื่องจากหลายประเทศในเอเชียมีสายการบินซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเต็มรูปแบบ นอกจากนี้หลายประเทศยังตั้งกำหนดอัตราที่ชาวต่างชาติสามารถถือหุ้นเอกชนภายในประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ให้ต่างชาติถือได้มากสุด 33% ขณะที่ออสเตรเลียอยู่ที่ 49%

แวลู อลิอันซ์ ทำกำไรช่วงแรกไม่ง่าย

แลง กล่าวว่า พันธมิตรสายการบินโลว์คอสต์จะไม่สามารถทำกำไรได้ในระยะแรก เนื่องจากเครื่องบินของโลว์คอสต์แอร์ไลน์แต่ละลำมักต้องใช้วนในหนึ่งวัน จึงยากที่จะทำรอบเที่ยวบินได้เทียบเท่าสายการบินที่มีศักยภาพการแข่งขันสูงกว่า ในขณะที่สายการบินราคาประหยัดไม่มีความสามารถในการร่วมมือด้านตารางบิน

อย่างไรก็ตาม เบรนแดน โซบี นักวิเคราะห์จาก คาปา-เซ็นเตอร์ ฟอร์ อเวียชัน ศูนย์ข้อมูลการบิน สาขาสิงคโปร์ เปิดเผยว่า การตั้งพันธมิตรเป็นความพยายามของสายการบินราคาประหยัดเพื่อแข่งขันกับสายการบินขนาดใหญ่กว่า โดยแม้ไม่สามารถทำกำไรในช่วงแรกได้ง่าย แต่การเป็นพันธมิตรมีผลดีในแง่ของการสร้างการรับรู้แบรนด์ และได้รอบเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น

แคมป์เบลล์ วิลสัน ประธานบริหารของสายการบินสกู๊ต ในสิงคโปร์ เปิดเผยกับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีว่า ภายใต้ข้อตกลงของแวลู อลิอันซ์ ลูกค้าสามารถจองเที่ยวบินผ่านสายการบินใดก็ได้ รวมถึงยังสามารถเข้าเส้นทางการบินและตัวเลือกเส้นทางการบินที่เพิ่มมากขึ้นได้อีกด้วย

“พันธมิตรนี้ตระหนักว่า ทั้ง 8 สายการบินต่างมีความแข็งแกร่งภายในประเทศของตัวเอง แต่ตราสินค้ากลับไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้างอย่างที่ควรเป็น ดังนั้น หากทำงานร่วมกัน พวกเราจะสามารถเพิ่มอิทธิพลในแต่ละประเทศ และเพิ่มความเชื่อถือได้” วิลสัน กล่าว

เปิดเสรีน่านฟ้าอาเซียนโอกาสโตโลว์คอสต์

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า สายการบินราคาประหยัดและผู้ผลิตเครื่องบินขนาดเล็ก เช่น เอ็มเบรเออร์ ผู้ผลิตเครื่องบินสัญชาติบราซิลขนาด 70-130 ที่นั่ง หรือบอมบาร์ดิเอร์ ของแคนาดา จะได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีน่านฟ้าของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในขณะที่หลายสายการบิน เช่น แอร์เอเชีย ไลออนแอร์ รวมถึงเซบู แปซิฟิก ก็มีแผนเจาะตลาดอาเซียน

ไออาตา ประเมินว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการบินในอาเซียน จะช่วยสร้างงานได้เกือบ 25 ล้านอัตรา เมื่อเทียบกับ 11.6 ล้านอัตราในปี 2014 และสร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจได้ 2.98 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 10 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2035 เมื่อเทียบกับ 1.44 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5 ล้านล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์ส ระบุว่า ความสามารถในการรองรับจำนวนเที่ยวบินในอาเซียนยังคงเป็นปัจจัยกดดัน โดยสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ สนามบินนานาชาตินินอย อาคิโน ของฟิลิปปินส์ และสนามบินนานาชาติซูการ์โน-ฮัตตา ของอินโด นีเซีย ถึงขีดจำกัดแล้ว และมีปัญหาเที่ยวบินดีเลย์จนต้องแบ่งเที่ยวบินไปยังสนามบินที่เล็กกว่า

ผงาด 8 พันธมิตรโลว์คอสต์ เจาะโอกาสเสรีน่านฟ้าอาเซียน

สหรัฐ-ยุโรปเจอสถานการณ์ต่าง

บลูมเบิร์ก ระบุว่า สหรัฐซึ่งเผชิญกับการควบรวมกิจการตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้อุตสาหกรรมการบินเหลือแต่สายการบินใหญ่อย่างอเมริกันแอร์ไลน์ส เดลตา แอร์ไลน์ส ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส และคอนติเนนตัล แอร์ไลน์ส รวมถึงเซาท์เวสต์ แอร์ไลน์ส เป็นผู้ครองตลาดเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สายการบินราคาประหยัด เช่น สปิริต แอร์ไลน์ส กำลังขยายตลาดมางัดข้อกับสายการบินรายใหญ่ จนเกิดสงครามราคาขึ้นในช่วงปี 2015 ที่ผ่านมา

ด้านสายการบินในยุโรป ศักยภาพของสายการบินราคาประหยัดขยายตัวมากกว่าขนาดเศรษฐกิจถึง 4 เท่า ในขณะที่สายการบินเต็มรูปแบบควบรวมกิจการจนเหลือเป็นสายการบินขนาดใหญ่เพียง 3 แห่ง ได้แก่ ดอยช์ ลุฟต์ฮันซา แอร์ฟรานซ์ และบริติช แอร์เวย์ส เท่านั้น