posttoday

"มีลูกเพื่อชาติ"...อย่าบังคับให้เกิดโดยไร้ "คุณภาพ"

17 กุมภาพันธ์ 2560

วิเคราะห์ปัจจัยที่คนไทยไม่อยากมีลูกกับแนวทางแก้ไขโครงสร้างประชากรที่กำลังจะกลายเป็นปัญหาในอนาคต

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

จากคำขวัญในอดีตที่ว่า “มีลูกมาก จะยากจน” เมื่อปี พ.ศ.2515 วันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวเลขการเกิดเเละการตายที่ใกล้เคียงกัน วัยเเรงงานมีจำนวนลดน้อยลง เเละเคลื่อนตัวไปสู่สังคมผู้สูงอายุเข้าทุกที

ทั้งหมดนี้กำลังเป็นปัญหาที่นำไปสู่ยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ

“มีลูกกวนตัว ไม่อยากมีผัวกวนใจ” ทัศนคติคนไทยพ.ศ.นี้

ข้อมูลจากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นว่า คนไทยมีลูกน้อยลงกว่าสมัยก่อน จาก 6 คนต่อผู้หญิง 1 คนเมื่อ50 ปีที่แล้ว เหลือเพียงแค่ 1-2 คนในปัจจุบัน ขณะที่รายงานสำมะโนประชากรและเคหะที่มีการสำรวจทุกสิบปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2523–2553 พบว่า ชายหญิงชาวไทยมีแนวโน้มไม่สมรสและอยู่เป็นโสดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัทพร สุคนธมาน อาจารย์ประจำวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า จากงานวิจัยชื่อ “Attitude and Perceptions Towards Marriage and Singlehood Among Thai Women” ที่ศึกษาทัศนคติและค่านิยมของหญิงไทยที่มีต่อการสมรส โดยใช้ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณที่สอบถามผู้หญิงกว่า 4,000 คนทั่วประเทศ และเชิงคุณภาพจากผู้หญิงในกรุงเทพฯ จำนวน 30 คน พบว่า เหตุผลที่พวกเธอไม่อยากแต่งงาน เพราะยังไม่เจอคนที่ใช่และคู่ที่เหมาะสม

“งานวิจัยชิ้นนี้ได้สำรวจผู้หญิงที่มีการศึกษาและอาชีพที่ค่อนข้างมั่นคง พบว่า เป็นเรื่องของทัศนคติทั้งต่อตัวเองและครอบครัว พวกเขาคิดว่าการแต่งงานไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตและไม่มีการกดดันจากครอบครัวเหมือนกับในอดีต ขณะที่สถานการณ์ทางสังคมก็เป็นเหตุผลสำคัญเช่นกัน ผู้หญิงหลายคนได้รับการศึกษาสูงมากขึ้น มีความมั่นใจในความสามารถของตัวเอง ต้องการความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน สร้างเนื้อสร้างตัว และมีรายได้เพิ่มขึ้นจนมั่นใจว่าไม่จำเป็นต้องพึ่งพาใคร”

ปัทพรบอกต่อว่า ทัศนคติหนึ่งที่ยังดำรงอยู่ในผู้หญิงส่วนใหญ่แถบเอเชียคือ ถ้าจะแต่งงานต้องแต่งกับผู้ชายที่เหนือกว่า ไม่ว่าจะเป็นด้านรายได้ การศึกษา หรืออย่างน้อยก็ต้องเท่าเทียมกัน กลุ่มที่หาคู่ยากจึงกลายเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาหรือรายได้สูง เช่นกันกับผู้ชายที่มีการศึกษาหรือรายได้ต่ำก็มักจะหาคู่ได้ยาก

อย่างไรก็ตามผู้หญิงยุคใหม่ในแถบเอเชียบางส่วนเริ่มมีทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไป เริ่มมองเห็นความเท่าเทียม ไม่ยึดติดค่านิยมผู้ชายต้องเป็นผู้นำ มีฐานะหรือการศึกษาที่สูงกว่าเสมอไปเหมือนเช่นผู้หญิงในประเทศแถบตะวันตก

"มีลูกเพื่อชาติ"...อย่าบังคับให้เกิดโดยไร้ "คุณภาพ"

ในส่วนของการมีลูก ข้อมูลประชากรไทยจากองค์กรหลายแห่งระบุในทิศทางเดียวกันว่า ครัวเรือนไทยมีลูกน้อยลงจากอดีต พูดง่ายๆว่าผู้หญิงหนึ่งคนจะมีบุตรน้อยกว่า 2 คน

นักวิชาการรายนี้ เล่าว่า จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลผู้หญิงในกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2559 พบว่าเหตุผลหลักที่คนไม่อยากลูก คือ “ภาระค่าใช้จ่าย” ขณะที่งานวิจัยระดับเอเชียหลายแห่งระบุเหตุผลในด้านเวลาประกอบกันไปด้วย

“ส่วนใหญ่มองว่าลูกนั้นสร้างภาระค่อนข้างมาก ตั้งแต่เกิด เข้าโรงเรียน รวมถึงเรียนพิเศษ ขณะที่งานวิจัยในระดับเอเชียก็มีเหตุผลด้านเวลาประกอบในแง่ที่ว่าผู้หญิงที่ต้องการความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน รู้สึกว่าการมีลูกต้องใช้เวลาค่อนข้างมากในการดูแล ไม่มีโอกาสทุ่มเทกับงานเต็มที่ ทำให้โอกาสก้าวหน้าในอาชีพลดน้อยลง หรือบางประเทศ พอผู้หญิงท้องและคลอดลูก อาจถูกมองจากที่ทำงานว่า ไม่สามารถทุ่มเทให้กับงานได้มากเช่นเดิม รวมๆ แล้วเป็นเรื่องของการเงินและเวลาเป็นหลัก ขณะเดียวกันบางกลุ่มอาจมีความเชื่อทางศาสนาที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเข้ามาเกี่ยวข้อง”

"มีลูกเพื่อชาติ"...อย่าบังคับให้เกิดโดยไร้ "คุณภาพ"

รับมือความเปลี่ยนแปลงอย่างมีคุณภาพ

โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ประชากรมีอัตราการเกิดน้อยใกล้เคียงกับการตาย ซึ่งหากปล่อยสภาพนี้ต่อไปอีก 10 ปี อัตราเพิ่มขึ้นของประชาชนกรจะเหลือ 0% ทำให้ประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานและเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวในอีกไม่เกิน 20 ปี โดยในเดือน ธ.ค. ปี 2559 สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ไทยมีประชากร 65.7 ล้านคน เป็นประชากรที่มีงานทำ 37.36 ล้านคน

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการฝ่ายการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชี้ว่า การปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ต้องมองอย่างรอบด้านให้ครบทั้ง 3 ขา ได้แก่ ตัวเอง ภาคเอกชน และภาครัฐ

ตัวเอง

ประชาชนต้องมีวินัยทางการเงินมากขึ้นจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มจะโตต่ำลงและมีโอกาสเกิดความเสี่ยงต่างๆ ที่ส่งผลต่อรายได้ในอนาคต ทุกคนต้องศึกษา รู้จักวิธีบริหารจัดการและใช้เครื่องมือทางการเงินไปจนถึงการใช้ระบบประกันสุขภาพต่างๆ

ภาคเอกชน

โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบให้เกิดภาวะขาดแคลนและหาแรงงานฐานรากได้ยากขึ้น โดยเฉพาะในภาคการเกษตรและประมง รวมถึงแรงงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น พนักงานทำความสะอาด พนักงานบริการในร้านอาหาร ถึงแม้จะมีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทดแทน แต่ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะรองรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้ในอนาคต ขณะที่แรงงานด้านบน แม้จะได้รับผลกระทบไม่มากนัก แต่ก็อาจทำให้ธุรกิจที่ดำเนินการอยู่สะดุดลง

เหตุผลดังกล่าวทำให้ภาคเอกชนจึงเริ่มปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต หันมาใช้เครื่องจักรหรือเทคโนโลยีที่เข้มข้นมากขึ้นเพื่อทดแทนแรงงานและเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานให้สูงขึ้น โดยเฉพาะแรงงานไทย พร้อมกับขยายอายุการทำงาน ตลอดจนพิจารณาการใช้ระบบโค้ชชิ่ง ซึ่งเป็นโมเดลจากประเทศเยอรมัน โดยรายงานวิจัยระดับโลกพบว่า ช่วงอายุ 35-55 ปี เป็นช่วงการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด แรงงานมีส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างกำลังและประสบการณ์ แต่หลังจากอายุ 55 ปีขึ้นไป แรงงานจำนวนไม่น้อยจะเริ่มหย่อนประสิทธิภาพ บางงานวิจัยระบุว่าเกิดขึ้นตั้งแต่อายุ 50 ปีเลยด้วยซ้ำ

“เมื่อแรงงานหย่อนประสิทธิภาพ ขณะที่ค่าแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆตามอายุ ปัญหาคือ ธุรกิจไม่สามารถจ้างคนพวกนี้ไว้ได้ สิ่งที่ประเทศเยอรมันทำก็คือ ระบบโค้ชชิ่ง โดยแรงงานกลุ่มที่มีประสิทธิภาพต่ำลง จะถูกลดเงินเดือนและปรับตำแหน่ง คอยทำหน้าที่ถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับคนรุ่นใหม่ ถ้าไทยสามารถสร้างตำแหน่งและวัฒนธรรมนี้ขึ้นมาได้ คนกลุ่มนี้จะไม่ใช่ภาระของบริษัทอีกต่อไป”

"มีลูกเพื่อชาติ"...อย่าบังคับให้เกิดโดยไร้ "คุณภาพ"

ภาครัฐ

นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ ชี้ว่า บทบาทของภาครัฐต้องเริ่มตั้งแต่เกิดยันตายหรือจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

วัยแรกเกิด - เมื่ออัตราการเกิดลดลง รัฐควรมีมาตรการรองรับ สนับสนุนให้การมีลูกไม่เป็นภาระทางเศรษฐกิจมากเกินไปสำหรับพ่อแม่ เช่น ขยายเวลาการลาคลอดโดยได้รับเงินทดแทน แรงจูงใจทางด้านภาษีและระบบอุดหนุน ไล่ตั้งแต่ช่วงก่อนวัยเรียน โดยอาจมีการฝึกอบรมการเลี้ยงลูก เพื่อให้ครอบครัวมีความพร้อม อย่างไรก็ตามนโยบายเหล่านี้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะสิ่งสำคัญคือ การเกิดมาพร้อมกับคุณภาพ ไม่ใช่การถูกบังคับให้เกิดมา

วัยเรียน - งานวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์ พบว่าแนวทางหนึ่งในการคัดง้างกับผลกระทบจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมสูงวัย คือการพัฒนาระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึง คุณภาพในการเรียนรู้  ความเหลื่อมล้ำระหว่างสถานศึกษา ตลอดจนความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน

วัยทำงาน - ภาครัฐต้องแก้ไขปัญหาในตลาดแรงงาน เร่งพัฒนาศักยภาพและผลิตภาพของแรงงาน ส่งเสริมให้คนทำงานได้ยาวนานขึ้น มีระบบโค้ชชิ่ง ตลอดจนมีการเชื่อมโยงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันปัญหาที่พบคือ แรงงานมีทักษะไม่สอดคล้องกับงานที่ทำ บางกลุ่มเป็นการว่างงานแฝง ลักษณะการใช้วุฒิเกินตำแหน่ง เช่น งานบางงานควรใช้วุฒิเพียงแค่ ปวช. แต่ปรากฎว่า จ้างคนระดับปริญญาตรีมาทำ นอกจากนั้นยังต้องวางแผนเรื่องแรงงานข้ามชาติอย่างรอบด้านด้วย

วัยเกษียณ – เมื่อคนไทยมีอายุยาวนานขึ้นส่งผลให้มีประชากรสูงอายุมากขึ้น รัฐควรส่งเสริมให้ผู้สูงอายุ มีความพร้อมในด้านหลักประกันรายได้ และเตรียมการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว เพื่อไม่ให้เป็นปัญหากับระบบสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล รวมทั้งควรจัดหางานให้กับผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี ที่ยังต้องการทำงาน 

“ทั้งหมด 3 ขา ตัวเอง เอกชน และภาครัฐ ต้องเดินไปพร้อมกัน เพื่อรองรับและทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปอย่างมีคุณภาพ”  ดร.นณริฏ กล่าวย้ำอย่างหนักแน่น

"มีลูกเพื่อชาติ"...อย่าบังคับให้เกิดโดยไร้ "คุณภาพ"

เพิ่มจำนวนประชากร...ทุ่มเงินอย่างเดียวไม่เพียงพอ

การพัฒนาระบบเพื่อรองรับปัญหาโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ละประเทศนั้นมีรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยวิธีการเพิ่มประชากรนั้น รัฐบาลมักเลือกเพิ่มสิ่งจูงใจทางเศรษฐกิจ อย่างสิงคโปร์  มีการให้เงินโบนัสพิเศษแก่ทารก โดยแจกเงินหลักแสนตั้งแต่แรกเกิด มีการอุดหนุนเงินฝากเพื่อพัฒนาเด็ก มอบเซ็ตของขวัญสำหรับเด็กอ่อนตั้งแต่วันแรกเกิด ขณะที่พ่อแม่ก็ได้รับสิทธิการลาคลอด สามารถดูแลลูกได้อย่างเต็มที่โดยได้รับเงินเดือนเต็มจำนวนเช่นเดิม

ดร.นณริฏ กล่าวว่า ยังไม่มีประเทศใดประสบความสำเร็จในการเพิ่มประชากร เนื่องจากบางครั้งสิ่งจูงใจทางเศรษฐกิจไม่สามารถเอาชนะแรงผลักดันทางสังคมที่ซับซ้อนและส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจมีลูกของครอบครัวได้

“ถึงแม้สิงคโปร์จะสนับสนุนให้คนเป็นแฟนกัน ให้เงินอุดหนุน พยายามเอื้อให้คนสร้างครอบครัวและมีลูก แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เช่นกันกับอีกหลายประเทศ ที่มีมาตรการใกล้เคียงกัน ให้น้ำหนักกับกลไลทางด้านเศรษฐกิจ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะคนเราไม่ได้ดูเพียงแค่ด้านการเงิน แต่ยังคำนึงถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย ทั้งสังคม การศึกษา ทุกภาคส่วนจึงต้องสนับสนุนทั้งวงจร ให้คนรู้สึกว่า ฉันอยากมีลูก มีลูกแล้วไม่เป็นภาระและกำลังเติบโตในสังคมที่ดี”  

กล่าวโดยสรุปก็คือ ความสำเร็จของการส่งเสริมการเกิดนั้นประกอบไปด้วยปัจจัยหลายอย่าง ไม่ใช่เฉพาะแค่ภาครัฐอย่างเดียว ประชาชนในสังคมและภาคเอกชนเองก็มีส่วนสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันที่จะทำให้คนในชาติรู้สึกว่า “อยากมีลูก” มีแล้วไม่เป็นภาระแต่เป็นทรัพย์สินที่มีคุณภาพ.