posttoday

"อุบัติเหตุชนซ้ำ" โศกนาฎกรรม(ที่ไม่ควรเกิด)บนท้องถนน

12 เมษายน 2559

หลักปฏิบัติที่ควรทำเมื่อรถเสีย-ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุบนท้องถนน "ป้องกันอุบัติเหตุซ้ำ"

โดย...ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน (ศวปถ.)

โศกนาฎกรรมอันน่าสลดใจกรณีที่รถตู้คณะแพทย์เสร็จจากภารกิจผ่าตัดคนไข้ที่พัทยา ขณะเดินทางกลับ รถเกิดเสียจึงลงมายืนด้านหน้ารถเพื่อรอรถยกบนทางด่วนบูรพาวิถี จู่ๆมีรถบรรทุกวิ่งมาชนท้ายอย่างแรง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 ศพ หรือเหตุการณ์รถแท็กซี่ชนพลเมืองดีเสียชีวิตระหว่างช่วยรถจอดเสียบนสะพานข้ามแยกตากสิน รวมทั้งข่าวพลทหารจ.ลพบุรีเข้าช่วยรถที่ประสบอุบัติเหตุ แล้วถูกรถเก๋งพุ่งชนจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้า

"อุบัติเหตุชนซ้ำ"ที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง

คำถามตามมาคือ แล้วเราจะมีวิธีปฏิบัติตนอย่างไรหากต้องจอดรถฉุกเฉินบนท้องถนน ?

ต้นตอ"อุบัติเหตุชนซ้ำ"

นพ.ธนะพงษ์ จินวงศ์ ผอ.ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน (ศวปถ.) อธิบายว่า อุบัติเหตุชนซ้ำบนท้องถนนมีแบบแผนของความเสี่ยงที่สำคัญ คือ ตำแหน่งเกิดเหตุและสภาพแวดล้อม ทำให้รถคันอื่นๆที่ขับตามมามองไม่เห็น หรือต้องหยุดในระยะกระชั้นชิด

ลักษณะของจุดเกิดเหตุที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ สำหรับพลเมืองดีที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ คือ 1.ตำแหน่งเกิดเหตุ เป็นทางขึ้นลงเนิน เช่น ขึ้น-ลงสะพาน , ขึ้น-ลงภูเขา 2.ตำแหน่งเกิดเหตุ จุดทางโค้ง ทางแยก และ 3.ช่วงเวลากลางคืน , พลบค่ำ/เช้ามืด , ช่วงฝนตก หรือชั่วโมงเร่งด่วนมีรถติด ซึ่งรถจะนิยมแซงบนไหล่ทาง

"ลักษณะเหล่านี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่จะออกไปช่วยเหลือ เพราะคนขับรถคันอื่นมองไม่เห็น นอกจากนี้รถที่วิ่งด้วยความเร็ว 60 กม.ต่อชม. จะต้องใช้ระยะหยุดหลังจากมองเห็นการแจ้งเตือนถึง 35 เมตร ขณะที่จุดเกิดเหตุบนถนนทางหลวง รถที่ขับ 80 กม.ต่อชม. จะต้องใช้ระยะหยุดถึง 57 เมตร ดังนั้นการเตือนให้คนขับรถคันอื่นทราบเนิ่นๆ และเพียงพอกับระยะหยุด จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

"อุบัติเหตุชนซ้ำ" โศกนาฎกรรม(ที่ไม่ควรเกิด)บนท้องถนน

"รถจอดเสีย-ลงไปช่วยคน"อย่างไรให้ปลอดภัย

นักวิชาการด้านความปลอดภัยบนท้องถนนรายนี้ กล่าวว่า กรณีรถจอดเสีย สิ่งที่เจ้าของรถควรทำคือ เคลื่อนย้ายออกจากจุดอันตราย หรือพ้นเขตไหล่ทาง ระหว่างการช่วยเหลือ ไม่ควรยืนรอ ในจุดที่จะถูกเฉี่ยวชน และไม่ควรรออยู่ในรถที่จอดเสีย

"สำหรับข้อแนะนำกรณีต้องการลงไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ หรือรถจอดเสีย คือ 1.รีบแจ้ง 1669 กรณีมีผู้บาดเจ็บ หรือตำรวจและเจ้าของเส้นทาง เช่น กรมทางหลวง กรณีช่วยเหลือรถจอดเสีย 2.หาวิธีเตือนผู้ขับขี่ที่ขับตามมา ให้ทราบว่า มีอุบัติเหตุ หรือ รถจอดเสีย ในระยะที่เพียงพอ  โดยเตือนระยะไม่น้อยกว่า 100-150 เมตร ถ้าอยู่บนทางหลวงสายหลัก เตือนระยะไม่น้อยกว่า 50 เมตร เมื่ออยู่ในเขตเมือง หรือรถใช้ความเร็วไม่เกิน 50 กม.ต่อชม.

เน้นการเตือนด้วยไฟวับวาบ เพราะมีระยะมองเห็นได้ไกล กรณีที่มีอุปกรณ์ หรือ รถกู้ชีพกู้ภัยมาช่วยเหลือ ถ้าไม่มี ใช้รถที่ขับมาจอดก่อนหน้าคันที่เสียอย่างน้อย 30-50 เมตร พร้อมเปิดไฟกระพริบ และเปิดฝากระโปรงท้าย ถ้ามีป้ายเตือนสะท้อนแสง หรือกรวยสะท้อนแสง

ส่วนการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ก่อนจะมีหน่วยกู้ชีพมาถึง ถ้าไม่บาดเจ็บรุนแรง รู้ตัวดี เคลื่อนไหวได้ ให้ย้ายไปอยู่ในจุดปลอดภัย ห่างออกจากไหล่ทาง แต่ถ้าไม่มีสติหรือประเมินไม่ได้ ควรรอให้หน่วยกู้ชีพมาดูแล ระหว่างนี้เน้นการเตือนให้รถที่ขับตามมา ทราบว่ามีเหตุการณ์ฉุกเฉิน"

"อุบัติเหตุชนซ้ำ" โศกนาฎกรรม(ที่ไม่ควรเกิด)บนท้องถนน นพ.ธนะพงษ์ จินวงศ์

4 ข้อเสนอแนะระยะกลาง-ระยะยาว

สุดท้าย นพ.ธนะพงษ์ เสนอแนะเรื่องการแก้ไขอุบัติเหตุชนซ้ำในระยะกลาง-ระยะยาว ดังนี้

1.หน่วยงานที่ดูแลทาง จัดทำระบบการเตือนอุบัติเหตุหรือรถจอดเสียบนถนน เช่น ป้ายสัญญลักษณ์เตือน เพื่อให้รถคันอื่นๆ ได้ชะลอความเร็ว โดยเฉพาะในเส้นทางที่ใช้ความเร็วสูง หรือ เส้นทางอันตราย (ทางลาดชัน)

2.รณรงค์ "พฤติกรรมขับขี่" ให้ลดความเร็ว เมื่อเห็นสัญญาณเตือน รวมทั้ง การขับรถโดยไม่จึ้ติดคันท้าย เพราะเมื่อมีเหตุฉุกเฉินจะหยุดรถไม่ทัน

3.กำหนดให้ ผู้สอบใบอนุญาตขับขี่ ต้องเรียนรู้วิธีการจัดการความเสี่ยงขั้นพื้นฐาน สำหรับกรณีมีรถจอดเสีย หรือ มีผู้ประสบเหตุบนถนน    

4.ส่งเสริมให้มีจุดพักรถฉุกเฉินให้เพียงพอ เช่น ทุกๆ 5-10 กม. ในเส้นทางสายหลัก เพื่อให้รถที่จอดเสีย ได้เคลื่อนย้ายไปตำแหน่งที่ปลอดภัย 

ต้องไม่ลืมว่า บนถนนที่รถวิ่งผ่านไปมาด้วยความเร็วสูง การจอดรถฉุกเฉิน หรือลงจากรถ ถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำทั้งหมดข้างต้นน่าจะช่วยลดอุบัติเหตุซ้ำซากได้ไม่มากก็น้อย