posttoday

เปิดพิมพ์เขียว นิรโทษกรรม (ไม่สุดซอย)

20 กรกฎาคม 2558

การกำหนดประเภทคดีที่จะได้รับนิรโทษ ไม่รวมถึงความผิดอาญาโดยเนื้อแท้-การทุจริตคอร์รัปชั่น-ม.112-การละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง ​ที่มีเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน พิจารณาสรุปผลการดำเนินการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง  เตรียมนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันที่ 21 ก.ค.นี้

หนึ่งในประเด็นที่ถูกจับตามากที่สุด คือ นิรโทษกรรม ซึ่งกรรมการฯ มีข้อเสนอหากรัฐบาลมีความประสงค์จะนำ “การนิรโทษกรรม” มาใช้ในการเสริมสร้างความปรองดอง ควรดำเนินการหลายระดับและให้ความสำคัญกับการแสวงหาข้อตกลงระหว่างคู่ขัดแย้ง ทั้งในระดับแกนนำและผู้สนับสนุน รวมทั้งสร้างให้เกิดบรรยากาศที่พร้อมรองรับการปรองดองและมีความเข้าใจในขอบเขตของการนิรโทษกรรมระดับสังคมในวงกว้าง

ในชั้นเริ่มต้นเป็นการนิรโทษกรรมสำหรับ “คดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง” ซึ่งหมายความถึงบรรดาการกระทำต่างๆ ของประชาชนที่ได้กระทำไปเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดทางการเมือง หรือมีการกระทำความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับ
เหตุการณ์ทางการเมือง

ทั้งนี้ ขอบเขตในการกำหนดประเภทคดีที่จะได้รับการนิรโทษดังกล่าวข้างต้น ไม่รวมถึงการกระทำความผิดอาญาโดยเนื้อแท้ ความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชั่น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

การนิรโทษกรรมสำหรับคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองนี้ สามารถดำเนินการได้โดยอาศัยกลไกตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันดังที่ได้เสนอไว้ตามภารกิจที่ 3  การวางยุทธศาสตร์ในการนำทั้งกลไกตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน และการตรากฎหมายพิเศษ เพื่อนำกระบวนการยุติธรรมมาใช้เพื่อการสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ โดยนำคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงระยะเวลานับแต่ปี  2548-2557 ทั้งฝ่ายรัฐและประชาชนถูกกล่าวหามาแยกแยะจัดกลุ่มประเภทคดี

1.ในกรณีที่คดียังอยู่ในชั้นสืบสวนสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ  ให้เร่งรัดกระบวนการดังกล่าวเพื่อให้ได้ข้อสรุปสำนวน โดยพิจารณาจำแนกถึงมูลเหตุแห่งการกระทำผิดว่า 1.1.เป็นความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมือง  1.2 .เป็นความผิดอาญาโดยเนื้อแท้ หรือ 1.3.เป็นความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมืองแต่มีฐานความผิดอื่นประกอบ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษอาจใช้ในการทำความเห็นต่อประเด็นสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง เสนอต่ออัยการเพื่อพิจารณาต่อไป

2.ในกรณีที่คดีอยู่ในชั้นพิจารณาของพนักงานอัยการก่อนฟ้องศาลยุติธรรมให้พนักงานอัยการพิจารณาว่าการฟ้องคดีอาญาใด ที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศหรือไม่ เพื่อเสนอต่ออัยการสูงสุดพิจารณาสั่งไม่ฟ้องตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ 2553 มาตรา 21 และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศปี  2554 เฉพาะในกรณีที่มีความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมืองเท่านั้น

ในกรณีที่ฐานความผิดทางอาญาโดยเนื้อแท้ หรือเป็นความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมืองแต่มีฐานความผิดอื่นประกอบ อาทิ ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย  ก่อการร้าย ยาเสพติดให้โทษ ลักทรัพย์ หรือการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  ให้ดำเนินการพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรมโดยปกติ โดยคำนึงถึงเกณฑ์การประกันตัว ปล่อยตัวชั่วคราว และการจัดหาทนาย

3.ในกรณีคดีอยู่ในกระบวนการของศาลยุติธรรม ให้พนักงานอัยการอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553  มาตรา 21 และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ ต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ​ พ.ศ. 2554 พิจารณาไม่ยื่นคำร้องไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ถอนฟ้อง ถอนคำร้อง ถอนฎีกาต่อคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือไม่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมืองเท่านั้น

4.ในกรณีที่ศาลได้พิจารณาคดีเสร็จสิ้นเด็ดขาดแล้ว ให้คำนึงถึงเกณฑ์การขอพระราชทานอภัยโทษตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

ในกรณีที่จำเป็นต้องตรากฎหมายพิเศษให้นำหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านอันเป็นหลักความยุติธรรม ในระยะที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่พยายามทำความเข้าใจผู้้ที่ตกเป็นเหยื่อ และกระบวนทัศน์แบบความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่ให้ความสำคัญกับผู้เสียหายเป็นอันดับแรกมาใช้ดำเนินการ เพื่ออำนวยความยุติธรรม และเอื้อให้เกิดการสำนึกผิดและการให้อภัย

ทั้งนี้ หากจะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมทั้งในเริ่มต้นและขั้นต่อไป ควรกำหนดเงื่อนไข 4 ประการที่ต้องพิจารณา ได้แก่ 1.การยอมรับของเหยื่อ/ผู้ถูกกระทำ 2.การแสดงความสำนึกรับผิดต่อสาธารณะของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง  3.การให้อภัยของเหยื่อ/ผู้ถูกกระทำ  และ 4.การเปิดเผยความจริง การให้ข้อมูลที่เป็นจริงของผู้กระทำในเหตุการณ์