posttoday

สัญญาประชาคม ไม่ช่วยปรองดอง

19 มิถุนายน 2560

การเมืองสัปดาห์นี้มีเรื่องร้อนและสำคัญต้องจับตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการสร้างความปรองดองของ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การเมืองสัปดาห์นี้มีเรื่องร้อนและสำคัญต้องจับตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการสร้างความปรองดองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อความสามัคคีปรองดอง เตรียมเสนอร่างสัญญาประชาคมให้กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ลงนามให้ความเห็นชอบ

สำหรับกรอบร่างสัญญาประชาคมเวอร์ชั่นที่ “บิ๊กเจี๊ยบ” ดำเนินการนั้นมีหัวข้อสำคัญ 7 ข้อ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1.ประชาชนคนไทยทุกคนพึงร่วมมือกันสร้างบรรยากาศความสามัคคีปรองดอง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2.ประชาชนคนไทยทุกคนพึงน้อมนำศาสตร์พระราชา โดยเฉพาะหลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับการดำรงชีวิต

3.ประชาชนคนไทยพึงยึดมั่นในหลักจริยธรรม คุณธรรม และศีลธรรมในการดำเนินชีวิต ไม่สนับสนุนการทุจริต การประพฤติมิชอบ

4.ประชาชนคนไทยทุกคนพึงร่วมมือกันสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

5.ประชาชนคนไทยทุกคนพึงใช้ความรอบคอบในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อต่างๆ และร่วมกันสอดส่องดูแลไม่ให้มีการบิดเบือนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม

6.ประชาชนคนไทยทุกคนพึงให้การสนับสนุนส่งเสริมคุณภาพชีวิตรวมทั้งการให้การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงเท่าเทียม

7.ประชาชนคนไทยทุกคนพึงสนับสนุนและส่งเสริมกระบวนการยุติธรรม โดยทุกฝ่ายจะต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมเพื่อความเรียบร้อยของสังคม

ตามขั้นตอนหาก พล.อ.ประวิตร เห็นด้วยกับร่างสัญญาประชาคมที่ พล.อ.สิทธชัย เสนอ ก็จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ชุดใหญ่เพื่อแจกจ่ายงานให้กับแม่น้ำ 5 สายต่อไป

การเดินเกมสร้างความปรองดองของรัฐบาลครั้งนี้มีความแตกต่างจากการพยายามหลายครั้งที่ผ่านมาอย่างชัดเจน

กล่าวคือ ก่อนหน้านี้จะเป็นหน้าที่ของแม่น้ำสายใดสายหนึ่งในแม่น้ำ 5 สายที่ดำเนินการเป็นเจ้าภาพ ซึ่งปรากฏให้เห็นชัดเจนสองถึงสามครั้ง

เช่น การนำแนวทางการสร้างความปรองดองไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ แต่ต้องล่มไม่เป็นท่าภายหลังสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว จึงทำให้การสร้างความปรองดองตามแผนที่วางไว้ต้องยุติไว้ชั่วคราว

หรือจะเป็นกรณีที่ สปช.ตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง โดยมีข้อเสนอให้รัฐบาลใช้กฎหมายที่มีอยู่ทำการสร้างความปรองดอง แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า เมื่อรัฐบาลได้รับข้อเสนอแต่กลับยังไร้ซึ่งการนำไปปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ ยังไม่นับกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ได้พยายามเสนอตัวเองเป็นเจ้าภาพเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง แต่ทั้งหมดก็ถูก คสช.สั่งเบรกเอาไว้ จนกระทั่ง คสช.ลงมาเป็นเจ้าภาพเองด้วยการตั้ง ป.ย.ป. ซึ่งอุดมไปด้วยคณะบุคคลและคณะกรรมการย่อยๆ อีกหลายชุด

มาถึงการพยายามสร้างความปรองดองครั้งล่าสุดที่ดึงเอาทหารอย่างบิ๊กเจี๊ยบเข้ามาเป็นกลไกในการขับเคลื่อน

ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าด้วยบุคลิกที่ดูเรียบง่าย ไม่มุทะลุดุดันเหมือนกับผู้นำเหล่าทัพหลายคนในอดีต ช่วยให้บรรยากาศของการสร้างความสมานฉันท์เป็นไปได้ด้วยดีมาตลอด โดยเฉพาะการได้รับความร่วมมือจากผู้นำพรรคการเมืองจากหลายพรรคในการเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ ย่อมมองได้ประการหนึ่งว่าเริ่มเห็นแสงสว่างแห่งการสร้างความปรองดองที่ปลายอุโมงค์

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคำถามว่าการสร้างความปรองดองด้วยการใช้วิธีการทำสัญญาประชาคม จะเป็นไปได้หรือไม่

โดยสิ่งที่เห็นเด่นชัดที่สุด คือ การใช้อำนาจทางกฎหมายเพื่อปิดกั้นแสดงความคิดเห็นของฝ่ายตรงข้าม

ดังจะเห็นได้จากการไม่เปิดโอกาสให้องค์กรภาคประชาสังคมจัดกิจกรรมเพื่อแสดงความคิดเห็นที่มีต่อนโยบายสาธารณะของรัฐบาลได้อย่างเต็มที่ ทั้งๆ ที่ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ผ่านการทำประชามติแล้ว

เหนืออื่นใด การพยายามใช้มาตรา 44 ของหัวหน้า คสช.ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ยังคงสร้างความหวาดระแวงและเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความไว้วางใจอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่มีหลักประกันใดๆ จาก คสช.การใช้มาตรา 44 อันเป็นอำนาจที่ไร้ขีดจำกัดจะเป็นไปภายใต้หลักการที่ถูกต้อง

จากเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคเหล่านี้ ย่อมเป็นปัจจัยฉุดรั้งให้ร่างสัญญาประชาคมที่มีเนื้อหาสวยหรูที่หวังจะสร้างแนวร่วมจากประชาชน ย่อมไม่อาจเดินไปถึงเป้าหมายตามที่ คสช.ตั้งใจไว้ได้

ดังนั้น อาจถึงเวลาที่การสร้างความปรองดองจะต้องเริ่มจากการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน โดยเริ่มจาก คสช.ในฐานะพี่เบิ้มของทุกคนด้วยการสร้างบรรยากาศแห่งความไว้วางใจ มิเช่นนั้น ความปรองดองที่หวังกันไว้ก็จะเป็นเพียง “สวยแต่รูป จูบไม่หอม”