posttoday

ไล่บี้ทวงเงิน‘ชินวัตร’ ปิดทาง‘ปรองดอง’

17 มีนาคม 2560

เส้นทาง“ปรองดอง” ส่อเค้าสะดุดอีกรอบ ภายหลังรัฐบาลส่งสัญญาณเอาจริงกับการเรียกเก็บภาษี 1.6 หมื่นล้านบาท จากการขายหุ้นชินคอร์ปของ ทักษิณ ชินวัตร

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เส้นทาง​ “ปรองดอง” ส่อเค้าสะดุดอีกรอบ ภายหลังรัฐบาลส่งสัญญาณเอาจริงกับการเรียกเก็บภาษี 1.6 หมื่นล้านบาท จากการขายหุ้นชินคอร์ปของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่กำลังจะครบกำหนดเส้นตายในวันที่ 31 มี.ค.นี้

นำมาสู่ข้อสรุปซึ่งมอบหมายให้กรมสรรพากรไปดำเนินการจัดเก็บตามกรอบของกฎหมาย ซึ่งเมื่อแจ้งคำประเมินภาษีไปยังทักษิณ ซึ่งจะทำให้อายุความ 10 ปีหยุดลงทันที และเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่ไปอีก 10 ปี ตามกระบวนการปกติในคดีทางแพ่ง ซึ่งทักษิณมีสิทธิอุทธรณ์คำประเมินภาษีได้ภายใน 30 วัน

เรียกได้ว่าเป็น “อภินิหารทางกฎหมาย” หรือ Miracle of Law ตามที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ออกมาชี้แจงในภายหลังว่าเจอช่องทางที่สมควรจะเสี่ยง​ในเรื่องที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้

เรื่องนี้ถือเป็นปมร้อนที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่กล้าผลีผลามทำอะไรที่สุ่มเสี่ยง ได้แต่ปล่อยให้เรื่องคาราคาซังมานานจนเริ่มมีหลายฝ่ายออกมากระทุ้งให้รีบทำอะไรสักอย่างก่อนหมดอายุความ

โดยเฉพาะสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)​ ที่ส่งเรื่องไปยังกรมสรรพากรให้เก็บภาษี ​โดยให้ใช้มาตรา 61 แห่งประมวลรัษฎากร ภายในวันที่ 31 มี.ค. โดยไม่ต้องออกหมายเรียกก่อนประเมินภาษีเหมือนมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งหากแจ้งเตือนแล้วยังไม่ดำเนินการอาจนำไปสู่การเอาผิดได้

แม้อีกด้านจะถูกมองว่านี่เป็นการไล่เช็กบิลตระกูลชินวัตร เพื่อหวังผลทางการเมืองในอนาคต เพราะที่ผ่านมาได้มีการอ้างหนังสือยืนยันไม่​ต้องเสียภาษีในส่วนดังกล่าว ​ซึ่งถูกหยิบยกมาอธิบายสังคมในช่วงเวลาที่ผ่านมาหลังถูกกระทุ้งถามบ่อยครั้ง

แต่อีกด้านการขยับรอบนี้ถูกมองว่าเป็นการทำในสิ่งที่ถูกต้องอ้างอิงตามคำพิพากษาของทั้งศาลภาษีอากรและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ระบุชัดเจน

การปล่อยให้เวลาล่วงเลยมานานจนใกล้จะหมดอายุความ ​ถูกมองว่ามีความพยายามที่จะเกี้ยเซี้ยทางการเมือง หรือใช้เป็นประเด็นต่อรองในกระบวนการปรองดองที่กำลังเดินหน้าหรือไม่

แต่เมื่อกระแสปลุกให้หลายฝ่ายออกมาไล่บี้ทวงเงินภาษีมากขึ้น จนนำมาสู่​การเร่งดำเนินการในโค้งสุดท้าย โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกฯ ต้องออกมาชี้แจงว่าการดำเนินการครั้งนี้ ไม่ใช่การกลั่นแกล้งแต่เป็นการดำเนินการตามกรอบกฎหมาย

ชัดเจนว่าการไล่เก็บภาษีครั้งนี้อาจเป็นชนวนที่จะถูกฝ่ายขั้วอำนาจเก่าหยิบยกไปขยายผลว่าถูกกลั่นแกล้งเล่นงาน รวมไปถึงการเคลื่อนไหวตอกย้ำประเด็นสองมาตรฐานในการบังคับใช้กฎหมาย เหมือนหลายๆ กรณีที่ผ่านๆ มา ซึ่งจะนำไปสู่ความวุ่นวายในอนาคตไม่รู้จบ

ที่สำคัญนี่ย่อมส่งผลกระทบต่อกระบวนการสลายความขัดแย้งและสร้างความปรองดองที่รัฐบาล และ คสช.​กำลังเร่งเดินหน้าทำงานผ่านกลไกต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)

​แถมสุ่มเสี่ยงจะฉุดบรรยากาศการเมืองที่กำลังจะดีขึ้นให้กลับไปสู่วังวนความขัดแย้งเดิมๆ

ดังจะเห็นจากเวลานี้คู่ขัดแย้งต่างๆ พร้อมใจกันร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นของ​คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองที่มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ส่งผลให้บรรยากาศโดยรวมกำลังจะดีขึ้น

การติดตามเก็บภาษีจากการขายหุ้นชินคอร์ปฯ กว่า 1.6 หมื่นล้านบาท ย่อม​ทำให้บรรดาแฟนคลับหรือกลุ่มผู้สนับสนุน อดีตนายกฯ ทักษิณไม่พอใจ ​และเป็นชนวนให้ออกมาเคลื่อนไหวในอนาคต ​​

ทางรัฐบาลและ คสช.​เองเข้าใจถึงปัจจัยเสี่ยงตรงนี้ จึงพยายามหลีกเลี่ยงไม่ใช้กลไกพิเศษอย่างมาตรา 44 เข้ามาเป็นใบเบิกทางเร่งปิดเกมในช่วงเวลาที่เหลืออยู่เพียงแค่ไม่กี่วัน เพราะจะยิ่งตอกย้ำข้อครหาเรื่องกลั่นแกล้ง ​เติมเชื้อความขัดแย้งในกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง

​ซ้ำเติมด้วยปมร้อนในอนาคตกับการไล่บี้เรียกเก็บค่าเสียหายจากยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ 3.5 หมื่นล้านบาท จากโครงการรับจำนำข้าวที่สร้างความเสียหายรวม 1.8 แสนล้านบาท

ที่จะปลุกให้ความขัดแย้งกลับมารุนแรงอีกระลอก เมื่อจะมีบางฝ่ายที่จ้องจะหยิบยกเหตุการณ์นี้ไปเป็นปมเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล คสช.

หลังจากกระบวนการติดตามเรียกค่าเสียหายทางแพ่งในกรณีของ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์​ จากกรณีความเสียหายจากการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐที่เริ่มกระบวนการไปแล้ว

ทั้งหมดนี้จึงเป็นปมร้อนที่จะอาจนำไปสู่ความขัดแย้งและทำให้เส้นทางปรองดองที่กำลังคืบหน้าต้องสะดุดไปอย่างน่าเสียดาย