posttoday

ย้อนอดีตพรบ.สงฆ์ ส่องอำนาจตั้งสังฆราช

29 ธันวาคม 2559

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที เมื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติฯร่วมลงรายชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ในมาตรา 7 การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที เมื่อ พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์และสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) 84 คน ร่วมลงรายชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ในมาตรา 7 มาตราเดียว โดยสาระสำคัญของการแก้ไขอยู่ในส่วนของการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชเพื่อแก้ปัญหาในอดีต

ทั้งนี้ หนึ่งในเหตุผลของ สนช.ผู้เสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.สงฆ์ ระบุว่าเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชที่ผ่านมา รวมถึงกลับไปใช้ความเดิมตามโบราณราชประเพณีที่เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช จากปัจจุบันที่การแต่งตั้งต้องผ่านขั้นตอนการให้ความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม (มส.)
 
เมื่อมีความเคลื่อนไหวเสนอแก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมขึ้นทันที โดยพระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ออกมาตั้งข้อสังเกตความผิดปกติของการเข้ามาล้วงลูก

"อาตมาบอกได้เลยว่า ถ้า พล.ต.อ. พิชิต และคณะมวลสมาชิกบางท่านใน สนช.จะฉวยโอกาสในช่วงชุลมุนวุ่นวายฝุ่นตลบนี้เสนอแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ท่านจะต้องพบต้องเจอกับองค์กรพุทธและพระสงฆ์อีกจำนวนมากมายทั่วประเทศที่ไม่เห็นด้วย" พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าว

จากหลักการและเหตุผลประกอบการเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ ระบุว่า "ตามโบราณราชประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านานนั้น เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งต่อมาได้เริ่มมีบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 เป็นต้นมา สมควรบัญญัติกฎหมายให้สอดคล้องเพื่อเป็น การสืบทอดและธำรงรักษาไว้ ซึ่งโบราณราชประเพณีดังกล่าว โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ"

จะเห็นว่าแก้ไขครั้งนี้จึงเป็นการแก้ไขให้การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชกลับไปเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เหมือนเดิม

ทั้งนี้ หากย้อนดูความป็นมาของกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ : การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช จากการสืบค้นความเป็นมาเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ พบว่ามีการบัญญัติเรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชขึ้นครั้งแรกใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484

พ.ร.บ.ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ รัตนโกสินทรศก 121  ไม่ได้กำหนด เรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชไว้ในกฎหมาย คงยึดตามราชประเพณี (ร.ศ. 121 หรือ พ.ศ. 2445) อยู่ใน รัชสมัย ร.5

พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484  มาตรา 5 พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช (พ.ศ. 2484 อยู่ในรัชสมัย ร.8)

พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505  มาตรา7 พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จ พระสังฆราช (พ.ศ. 2505 อยู่ในรัชสมัย ร.9)

ต่อมา พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2535 มีการแก้ไขมาตรา 7 เป็น "พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรวงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับและสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช" (พ.ศ. 2505 อยู่ในรัชสมัย ร.9)

ทั้งนี้ 84 สนช.ได้เสนอแก้ไขเนื้อหาโดยให้ยกเลิกเนื้อหาในมาตรา 7 และเปลี่ยนเป็น "มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่งและให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ"

ด้าน สมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เปิดเผยว่า การเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์จะไม่ทำให้เกิดความวุ่นวาย หรือวิกฤตในวงการสงฆ์ เพราะเป็นเรื่องทาง โลก และเชื่อว่าส่วนใหญ่เห็นด้วย อาจจะมีเพียงบางส่วนที่ออกมาคัดค้าน แต่คงไม่ถึงกับออกมาเคลื่อนไหว เพราะหากเคลื่อนไหวก็ไม่ต่างอะไรกับการชุมนุมทางการเมือง และเกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อวงการศาสนา จึงมั่นใจว่าจะไม่บานปลาย

ภาพประกอบข่าว