posttoday

ตั้งกบช.โยกบิ๊กขรก. ป้องการเมืองแทรกแซง

15 มีนาคม 2559

การโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงในช่วงที่ผ่านมามีข้อครหามากมายทั้งเรื่องการวิ่งเต้น ซื้อขายตำแหน่งรวมถึงเครือญาติพี่น้อง ทำให้ระบบราชการที่ผ่านมาไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

การโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงในช่วงที่ผ่านมามีข้อครหามากมาย ทั้งเรื่องการวิ่งเต้น ซื้อขายตำแหน่งรวมถึงเครือญาติพี่น้อง ทำให้ระบบราชการที่ผ่านมาไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ปมปัญหาดังกล่าวคณะกรรมาธิการ (กมธ.) บริหารราชการแผ่นดิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จึงได้จัดเวทีสัมมนาเรื่อง “ข้อเสนอการคัดเลือกและแต่งตั้งปลัดกระทรวงและอธิบดี” ที่อาคารรัฐสภา เพื่อระดมความเห็นในการปฏิรูปเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ คณะอนุ กมธ. การปกครองการบริหารราชการแผ่นดินและการพัฒนาระบบราชการ ได้มีการเสนอให้ตั้งคณะกรรมการคัดเลือกนักบริหารแห่งชาติ (ก.บ.ช.) เป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคล เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ซึ่งมีสาระดังนี้

มนุชญ์ วัฒนโกเมร ประธานอนุ กมธ. การปกครองการบริหารราชการแผ่นดินและการพัฒนาระบบราชการ ระบุว่า ตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดี และผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ถือเป็นตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบสูงทั้งในด้านงบประมาณ รวมถึงมีความเชื่อมโยงระหว่างฝ่ายการเมืองกับข้าราชการประจำในการนำนโยบายปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยผู้ดำรงตำแหน่งนี้ต้องเป็นคนเก่ง คนดี ผนวกกับต้องมีความสามารถและเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย

ทั้งนี้ คณะอนุ กมธ.เห็นว่าเรื่องนี้ต้องอยู่บนพื้นฐาน 4 ประการ คือ 1.หลักระบบเปิดภายในระบบราชการ 2.หลักการได้มาซึ่งคนดีและคนเก่ง 3.หลักการบริหารจัดการเป็นเฉพาะตามลักษณะงานของตำแหน่ง และ 4.หลักความสมดุลระหว่างฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ

ขณะเดียวกันให้มีการจัดตั้ง ก.บ.ช. เป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคล เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง โดยมีคณะกรรมการ 3-5 คน ดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว เพื่อคัดสรรผู้ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง โดยคณะกรรมการดังกล่าวจะมาจากกรรมการ ก.พ. ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาคัดเลือก ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

นนทิกร กาญจนะจิตรา อดีตเลขาธิการ ก.พ. มองว่า กมธ.ได้ทำการศึกษาครอบคลุมในหลายประเด็น ซึ่ง ก.พ.ก็ได้ศึกษาร่างนี้มาตั้งแต่ปี 2551 แต่ยังไม่ได้ออก เพราะติดขัดเรื่องการเลือกปลัดกระทรวงที่รัฐบาลไม่เห็นด้วย และค้างมาทุกวันนี้

อย่างไรก็ดี ก.พ.มีข้อพิจารณากันมาก โดยเฉพาะระบบเปิด ถ้าทำจริงอาจยาก เนื่องด้วยพฤติกรรมการเติบโตสายงานตัวเอง ซึ่งระบบนี้ดีแต่ต้องมีระบบหมุนเวียน อาจจะเป็นระดับกระทรวงสายงานใกล้เคียงกัน เช่น การเงิน ทรัพยากรบุคคล หรือหน่วยงานใช้ความรู้อย่างเดียวกัน เริ่มตั้งแต่ระดับล่าง เพราะระดับบนอาจเกิดปัญหา

ทั้งนี้ อำนาจ ก.บ.ช.กว้างมากตามที่ กมธ.เสนอ เกรงว่าอาจทำไม่ไหว ดังนั้นควรโฟกัสไปงานด้านเดียว ส่วนที่มา ก.บ.ช. การสรรหากรรมการ ทุกฝ่ายอยากได้กรรมการดีและเก่ง แต่ไม่ง่าย และการกำหนดอายุคนเข้ามาทำหน้าที่ ก.บ.ช. เกรงว่าจะได้กรรมการเป็นข้าราชการเก่า

ส่วนความเป็นกลางของกรรมการ ส่วนตัวเชื่อว่าระบบราชการเป็นกลางหายาก ตราบใดที่ผู้บริหารระดับสูงหรือคนชั้นนำ ข้าราชการมีคอนเนกชั่น ซึ่งเป็นรากเหง้าปัญหาข้าราชการไทย แก้ได้หรือไม่ยังไม่เห็นทาง แต่ต้องเปลี่ยนความเคยชิน นอกจากนี้ เกรงความไม่มั่นคง เพราะมีการรวมศูนย์อำนาจ และหากการเมืองเข้มแข็งเข้ามาแทรกแซง ก.บ.ช.ที่เดียวทุกอย่างก็จบ หากกระจายไปตามกระทรวงคงแทรกแซงได้ยากขึ้น

ส่วนวาระการดำรงตำแหน่ง ก.บ.ช. มองว่าสั้นเกินไป ควรมีอายุการดำรงตำแหน่ง 6 ปี แต่แค่วาระเดียว สำหรับเรื่องคุณสมบัติจริยธรรม มองว่าเป็นนามธรรมจับต้องได้ยาก ทำได้เพียงการระบุข้อห้ามที่เห็นได้ชัด ไม่ถูกกล่าวหาทุจริตหรือชู้สาว

“ส่วนตัวเห็นด้วยในหลักการปรับปรุงระบบแต่งตั้งข้าราชการทุกระดับให้เป็นไปอย่างโปร่งใส ได้คนดี คนเก่ง ซึ่งข้อเสนอของ กมธ.ในเรื่องหลักการเห็นด้วย แต่มีบางข้อเสนอที่ยังน่าเป็นห่วง”

ด้าน ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในฐานะกรรมการ ก.พ. และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ถ้าทำจริงต้องพัฒนาตั้งแต่ต้น ให้ข้าราชการสามารถย้ายได้ก่อนมากกว่าหนึ่งกรม หรือย้ายข้ามกระทรวง ไม่เช่นนั้นจะไม่สร้างความเข้าใจได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวในภาคเอกชนถือเป็นธรรมดา แต่ถ้าจะใช้ความพร้อมมีหรือยัง แต่ได้คนเป็นที่ยอมรับมาก

ส่วนความสมดุลการเมืองและราชการ การแต่งตั้งเป็นหน้าที่รัฐมนตรีรวมถึงถอดถอน ซึ่งมีปัญหาถ้ามีรัฐมนตรีไม่ดี ดังนั้นจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง แต่การมีสมดุลทางการเมืองจำเป็นต้องดู เมื่อแต่งตั้งได้ก็ต้องถอดถอนได้ ถ้าข้าราชการไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ทว่าไม่ใช่ตัดสินเพียงคนเดียว ต้องมีคณะกรรมการ

“ประมนต์” มองอีกว่า  การตั้ง ก.บ.ช. แม้จะเป็นเรื่องดี แต่กรรมการไม่สามารถรู้จักคนสมัครได้ทั้งหมด ดังนั้นจำเป็นที่ควรมีผู้แทนในกระทรวงนั้นๆ บ้าง เพราะถ้าปล่อยให้ ก.บ.ช.แต่งตั้งแบบนี้ก็คือคนนอกอาจไม่รู้จัก เพื่อความสมดุล

“คนเก่ง คนดี กระบวนการที่ทำเป็นการวัดที่ไม่สะท้อนความรู้ ความสามารถแท้จริงทั้งหมด การรู้จักคน หรือ ก.บ.ช. ต้องรู้จักพฤติกรรม ยกตัวอย่างภาคเอกชนมีการประชุมเพื่อวิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้เกิดการรู้จักกัน แต่ถ้าทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องมีกระบวนการคุยกันได้ เปิดเผย เพื่อทำความรู้จัก ระบบ ก.พ.ร.ของไทยไม่เวิร์ก ต้องทำให้เข้มแข็งก่อน และเป็นประเด็นสำคัญ ระบบต้องแก้ไขก่อนมีกรรมการ”

ขณะที่ ทศพร ศิริสัมพันธ์ ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และในฐานะอดีตเลขาธิการ ก.พ.ร. อธิบายว่า การจะทำให้ระบบราชการปลอดการแทรกแซง รวมถึงเป็นอิสระ แต่ปัญหาจะทำงานอย่างไรให้ประชาชนไว้ใจ ระบบราชการเองเข้าไปมีอิทธิพลเพื่อรักษาฐานอำนาจตัวเองแทนประโยชน์สุขของประชาชน

ขณะเดียวกัน จำเป็นต้องมีการออกแบบควบคุม คือ ฝ่ายการเมือง ออกนโยบายการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง ซึ่งนานาประเทศการแต่งตั้งเป็นเรื่องทางการเมืองทั้งสิ้น เพราะผู้บริหารระดับสูงต้องมีสัมพันธภาพ ก็มีหลายประเทศคิดเหมือนไทย จึงมีการใช้ระบบ Hybrid System คือ คุณธรรมควบคู่การเมือง และอำนาจทางการเมืองไม่เข้ามายุ่งการแต่งตั้งคงเป็นไปไม่ได้ เพราะในฐานะตัวแทนปวงชนชาวไทยเพื่อควบคุม

ทั้งหมดจะเป็นจริงหรือไม่ กาลเวลาจะพิสูจน์