posttoday

"ใหญ่-เก่งแค่ไหน เมื่อถึงแดนประหารก็เหมือนกัน" เปิดใจพระนักเทศน์นักโทษประหาร

30 มิถุนายน 2560

“ไขความลับเส้นแบ่งระหว่างนรกกับสวรรค์ ที่มีเพียงกำแพงวัด กับ กำแพงคุกขวางกั้น ไม่ต้องไปตายก็เห็นได้ในชาตินี้” พระครูศรีนนทวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดบางแพรกใต้

โดย…วิรวินท์ ศรีโหมด

ประหารชีวิต เป็นบทลงโทษสูงสุดของกฎหมาย ในอดีตการกำหนดบทลงโทษที่น่ากลัวนี้ เพื่อต้องการให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษสาสมกับสิ่งที่ทำลงไป และให้เป็นตัวอย่างแก่คนอื่นไม่กล้ากระทำผิด แต่ผลการศึกษาวิจัยพบว่าโทษประหารไม่ช่วยทำให้จำนวนอาชญากรรมเพิ่มหรือลดลง ปัจจุบันหลายประเทศยกเลิกโทษดังกล่าวทั้งทางกฎหมายและปฏิบัติแล้ว แต่ประเทศไทยยังคงบทลงโทษนี้อยู่ แต่ไม่มีการปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 2552

อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสังคมไทย มีการก่อคดีอาชญากรรมสะเทือนขวัญให้เห็นอยู่ตลอด เช่น คดีข่มขืนและฆ่าเยาวชน คดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือคนพิการ ล่าสุดคดีฆ่าหั่นศพ เกือบทุกคดีล้วนเกิดจากฝีมือเยาวชนวัยรุ่นทั้งสิ้น จนเกิดการเรียกร้องขอให้ให้ตัดสินประหารชีวิตคนเหล่านี้ อีกด้านเกิดคำถามว่า เพราะอะไรทำไม่คนสมัยนี้ถึงโหดเหี้ยมมากขึ้น และหากเป็นนักโทษประหารช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตจะรู้สึกอย่างไร

โพสต์ทูเดย์ได้สนทนากับ พระครูศรีนนทวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดบางแพรกใต้ หรือที่รู้จักกันในชื่อ พระนักเทศน์นักโทษประหาร จะมาถ่ายทอดเรื่องราวแง่มุมสะท้อนชีวิตว่า ด้วยอารมณ์ชั่ววูบ ขาดสติเพียงไม่กี่วินาทีอาจทำให้ตนเอง ครอบครัวได้รับความเดือดร้อน แม้จะสำนึกภายหลังแต่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้

จุดเริ่มต้น พระนักเทศน์นักโทษประหาร

วัดบางแพรกใต้ ตั้งอยู่หลังเรือนจำกลางบางขวาง พื้นที่โดยรอบวัดถูกโอบล้อมด้วยกำแพงสูงของเรือนจำ ด้านข้างเป็นคลอง บริเวณหลังวัดอยู่ติดกับกำแพงเรือนจำที่ฝั่งตรงข้ามเป็นแดนประหาร ทุกครั้งหลังการประหาร นักโทษที่ไร้ลมหายใจจะถูกนำออกมาทางประตูสีแดงบานเล็กๆ ทรงคล้ายสี่เหลี่ยมจัตุรัส ถูกล็อคด้วยกุญแจ หรือที่เรียกกันว่า ประตูผี 

เส้นทางการมาเป็นพระนักเทศน์นักโทษประหารของ พระครูศรีนนทวัฒน์ เกิดจากการได้รับความไว้วางใจแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสในปี 2533 ทำหน้าที่ช่วยงานเจ้าอาวาสรูปเก่า ที่ตอนนั้นไม่สามารถปฏิบัติกิจนิมนต์ได้สะดวกเนื่องจากมีอาการอาพาธ สุดท้ายเจ้าอาวาสรูปเก่าได้ลาสิกขา ทำให้พระครูฯ ได้รับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสมาตั้งแต่ปี 2543 มาจนถึงปัจจุบัน  

ความเกี่ยวข้องวัดบางแพรกใต้ กับเรือนจำกลางบางขวางมีมาตั้งแต่อดีต เพราะเมื่อไหร่ที่ข้างเรือนจำมีการจัดพิธีทางศาสนา รวมถึงประหารนักโทษจะนิมนต์พระที่วัดไปทำพิธี ขณะที่การเทศน์นักโทษประหาร ส่วนใหญ่เจ้าอาวาสจะเป็นผู้รับกิจนิมนต์ ซึ่งได้รับทำหน้าที่เทศน์นักโทษประหารตั้งแต่สมัยเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสปี 2539 หลังเทศน์จบก็จะทำหน้าที่รับศพนักโทษด้วย หากมีญาติมารับต้องเก็บศพไว้ในสุสานของวัด ตั้งอยู่ตรงบริเวณประตูแดง หรือประตูผี หลังวัด

เจ้าอาวาสวัดบางแพรกใต้ เล่าว่าเมื่อก่อนขั้นตอนการประหารไม่มีใครรู้ล่วงหน้านาน เหมือนปัจจุบันที่จะมีสื่อโทรทัศน์คอยรายงาน อดีตเมื่อคำสั่งฎีกาตกลงมา ช่วงประมาณ 4 โมงเย็น ผู้คุมจะมาที่วัดพร้อมกับหนังสืออาราธนาหนึ่งใบ หลังจากนั้นเป็นการทราบว่า ต้องรีบห่มจีวรพร้อมกับนำตาลปัตรเดินทางออกจากวัด เพื่อไปให้ทันเวลาประมาณ 5 โมงเย็น เพียงแค่นั้นประชาชนละแวกวัดจะเป็นรู้ว่า วันนี้ต้องมีการประหารนักโทษแน่นอน

“การเทศน์นักโทษประหารครั้งแรกจำได้ว่า เจ้าอาวาสรูปเก่าบอกว่าให้มหา (ตำแหน่งตอนนั้น) ไปเทศน์แทน เพราะป่วยไปไม่ไหว ซึ่งตอนนั้นไม่รู้จะทำอย่างไร พยายามนึกว่าจะทำยังไง เพราะเทศน์โยมข้างนอกกับข้างในไม่เหมือนกัน เจ้าอาวาสรูปเก่าบอกคร่าวๆ ว่า เทศน์อย่างที่เคยทำ แต่ควรทำให้นักโทษทำใจได้ก่อนตายเท่านั้น และอย่าใช้เวลานานมาก เมื่อไปตรงนั้นมีเพียงลูกกรงตาข่ายช่องเล็กๆ พอยื่นบุหรี่หรือปากกาสอดเข้าไปได้เท่านั้น ข้างหลังเป็นนักโทษ หากถามว่าอยากไปไหม ยอมรับว่าไม่อยาก แต่ทำอย่างไรได้มันต้องทำ และทำมาตั้งแต่ปี 39”

"ใหญ่-เก่งแค่ไหน เมื่อถึงแดนประหารก็เหมือนกัน" เปิดใจพระนักเทศน์นักโทษประหาร พระครูศรีนนทวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดบางแพรกใต้

เก่งมาจากไหน เมื่อถึงวาระสุดท้ายก็ปลง

ประเทศไทยอดีตถึงปัจจุบันใช้วิธีการประหาร 3 แบบ คือ บั่นคอ ยิงเป้า ฉีดยาให้ตาย หลังมีการเปลี่ยนวิธีประหารจากบั่นคอมาเป็นยิงเป้าเมื่อปี 2478 จนถึงปี 2552 มีนักโทษถูกประหารชีวิต 319 คน เป็นนักโทษชาย 316 คน นักโทษหญิง 3 คน ข้อมูลล่าสุดเดือนเมษายา 2560 ประเทศไทยยังคงมีผู้ที่ต้องโทษประหารอยู่ทั้งสิ้น 447 คน

เจ้าอาวาสวัดบางแพรกใต้ เล่าว่าแม้จะบวชมานานแต่เมื่อไหร่ต้องเข้าไปเทศน์ให้นักโทษประหารฟัง รู้สึกสงสารทุกครั้งแม้ไม่เคยรู้จักหรือเห็นหน้ากันมาก่อน เพราะเป็นอันรู้กันว่าหากนักโทษเดินทางมาเจอพระเมื่อไหร่ หลังจากนั้นต้องเดินเข้าสู่ห้องประหาร เทศน์เสร็จไว นักโทษก็ตายเร็วมากเท่านั้น 

“นักโทษประหารทุกคนไม่ว่าเก่งแสนเก่งมาจากไหน เป็นมือปืน นักฆ่า นักค้ายาเสพติด พอมาถึงพระและเตรียมเข้าสู่การประหาร จะรู้กันว่านั่นคือวาระสุดท้ายของชีวิต ทุกคนจะยอม ปลงกับชีวิต บางคนหน้าถอดสี บางรายแรงยกมือจุดธุปเทียนยังทำไม่ได้ แต่หน้าที่ของพระต้องพยายามทำให้เขามีสติ”

พระครูศรีนนทวัฒน์ เล่าว่า นักโทษระหว่างถูกคุมขังเพื่อรอกระบวนการประหารจะได้รับการศึกษาฝึกฝนกรรมฐาน เดินจงกรม สนทนาธรรมเป็นกิจวัตรประจำวัน เพราะแต่ละวันนักโทษประหารจะไม่ได้ทำอะไรมาก ดังนั้นการเทศน์จึงต้องพยายามเตือนสติและดึงสิ่งที่นักโทษเคยปฏิบัติกรรมฐานออกมาให้มากที่สุด  

เจ้าอาวาสวัดบางแพรกใต้ เล่าประสบการณ์วินาทีแรกและเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้เจอกับนักโทษประหารว่า ทุกรายที่เจอเมื่อมาถึงพระจะไม่มีอาการโวยวาย แม้ก่อนหน้านั้นมีบ้าง จำได้ว่ามีนักโทษอยู่คนหนึ่งเมื่อเดินเข้ามาสามารถรับรู้ได้ว่า เขาเดินเข้ามาด้วยท่าทางเหมือนการฝึกเดินจงกรม เมื่อมาถึงตรงหน้าก็กล่าวรับศีลเอง โดยน้ำเสียงที่เปล่งออกมา เป็นเสียงคนที่ฝึกกรรมฐาน

ระหว่างเทศน์เขาก็นั่งสงบนิ่งหลับตา ไม่ได้พูด จนอาตมาหยุดเทศน์และถามว่าโยมได้ยินที่พูดหรือไม่ นักโทษคนนั้นพูดออกมาเพียงแค่คำว่า “ได้ยิน” ซึ่งคำนั้นแสดงถึงคนที่กำลังฝึกลมหายใจ  หรือบางคนก็บอกว่าถ้าหากไม่ได้ติดคุก คงไม่ได้สวดมนต์ไหว้พระ เจริญกรรมฐานเพราะอยู่ข้างนอกไม่มีเวลา

อีกรายเป็นนักโทษผู้หญิง จำได้ว่าวันนั้นมีการประหารหลายคน และคนสุดท้ายที่เดินเข้ามาเป็นนักโทษหญิง ขณะที่ก้าวเท้าเดินข้ามประตูเข้ามา นักโทษหญิงคนนั้นกำลังสูบบุหรี่ แต่เมื่อเห็นพระนั่งคอยอยู่ เขาพยายามทิ้งบุหรี่แม้ผู้คุมบอกว่าไม่เป็นไร แต่เขาก็ทิ้งและมานั่งต่อหน้าพระ ตลอดระยะเวลาที่นั่งฟังเทศน์ นักโทษหญิงคนนั้นมองหน้าพระตลอดเวลา เหมือนพยายามมองเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อให้ภาพติดตา แม้ไม่ได้พูดกันเลย

อีกรายเป็นนักโทษคนเดียวที่รู้สึกว่าปลงได้จริงๆ จำได้ว่าตอนเดินเข้ามาแดนประหารก็พูดคุยกับผู้คุมตลอดเวลา รู้สึกเหมือนกำลังจะพากันไปเที่ยวหรือไปศาล และเมื่อมานั่งต่อหน้าพระก็ถามขึ้นว่า หลวงพ่ออยู่วัดบางแพรกใต้ใช่หรือไม่ และเขาก็บอกว่า “ผมปลงแล้ว ยอมรับในสิ่งที่ได้เคยทำและก่อกรรมไว้ ขอฝากศพให้หลวงพ่อช่วยเผาผมด้วยนะ เพราะเขาไม่ต้องการนำศพกลับบ้าน” จากนั้นพอพูดคุยจบ ต่างคนก็แยกย้ายกันไป

พระครูศรีนนทวัฒน์ เล่าว่าตลอดระยะเวลาที่พบเจอนักโทษประหารมาเกือบ 100 ราย สัมผัสได้ว่าทุกคนเมื่อมาถึงจุดนั้นจะปลง เพราะทุกคนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตในเรือนจำมาไม่ต่ำกว่า 4 ปี ตลอดระยะเวลาได้เรียนรู้ ฝึกธรรมะ จะทำให้มีสมาธิไม่มีเลยที่มาถึงจุดนั้นจะมีอาการตะโกนโวยวายเรื่องคดีว่า ผิดหรือไม่ผิด

"ใหญ่-เก่งแค่ไหน เมื่อถึงแดนประหารก็เหมือนกัน" เปิดใจพระนักเทศน์นักโทษประหาร

 

 

สติ คือทางยุติความ โลภ-โกรธ-หลง

เจ้าอาวาสวัดบางแพรกใต้ สะท้อนว่าการที่คนในสังคมขณะนี้ใช้ชีวิตประมาท ชะล่าใจ ขาดสตินั้น อยากให้ทุกคนตระหนักเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่าความลับไม่มีในโลก อย่าประมาทและคิดว่าเมื่อเขาไม่รู้จะสามารถหลบหนีได้ จึงกล้าทำผิด บางเรื่องอาจไม่ถึงโทษประหาร แต่ถ้าก้าวเดินทางผิดจนเกิดเป็นคดีความ นอกจากทำให้ตัวเองเดือดร้อนแล้วยังทำให้ครอบครัวเป็นทุกข์ไปด้วย

นอกจากนี้ขอให้เชื่อกฎแห่งกรรมว่า ไม่ช้าวันใดกรรมต้องกลับมาตามสนองอยู่ดีหากทำชั่ว การที่บางคนทำเรื่องไม่ดีและยังไม่เป็นอะไร เพราะบางครั้งกรรมชั่วอาจยังมาไม่ถึง และความดีกำลังทำงานอยู่เลยไม่มีใครรู้ แต่ซักวันเมื่อกรรมดีหมด ความชั่วจะเห็นผล และหากมาสำนึกผิดกับสิ่งที่ทำลงไปภายหลัง อาจแก้ไขไม่ได้ไม่ว่าจะมีอำนาจหรือยิ่งใหญ่แค่ไหน

“ขอให้นึกไว้ว่าทุกอย่างที่ทำผิดลงไป ไม่ใช่เพียงทำให้ตัวเองเดือดร้อน แต่ยังทำให้ครอบครัวเดือดร้อนด้วย หลายคนสงสารพ่อแม่ ลูก เมีย ต้องมานั่งร้องไห้ โดยไม่สามารถออกมาช่วยได้ ทำได้เพียงเกาะลูกกรงดูความทุกข์ของคนเหล่านั้น จากความผิดที่ตนได้ก่อลงไป ดังนั้นอยู่ที่เราจะพา พ่อ แม่ เมีย ลูก เข้าวัดหรือเข้าคุก ขอให้คิดให้ดีๆ”

พระครูศรีนนทวัฒน์ สอนว่าสาเหตุการทำผิดของมนุษย์เกิดจากกิเลส 3 กอง คือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือ โลภ โกรธ หลง การที่จะยุติกิเลส 3 กองได้มีเพียงคำเดียวคือ สติ เพราะหากมีสติจะไม่หลงผิด แต่สาเหตุที่ทำให้คนมักเลือกเดินทางผิดเกิดมาจากความมัวเมา ไม่ว่าจะเป็นเมาเหล้า เมายา เมาเพราะง่วง ดังนั้นหากมี สติ คำเดียวจะไม่ทำให้ตกลงไปในความชั่ว และไม่ทำให้ตนเอง ครอบครัวต้องเดือดร้อน

“อาตมาอยู่วัดบางแพรกใต้ ซึ่งเหมือนเขตแบ่งระหว่างนรกกับสวรรค์ มีเพียงกำแพงวัดกับกำแพงคุกขวางกั้นเท่านั้น ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ที่เรียกกันว่า สวรรค์อยู่ในอก-นรกอยู่ในใจ ไม่ต้องไปตายก็ได้เห็นในชาตินี้”

"ใหญ่-เก่งแค่ไหน เมื่อถึงแดนประหารก็เหมือนกัน" เปิดใจพระนักเทศน์นักโทษประหาร

"ใหญ่-เก่งแค่ไหน เมื่อถึงแดนประหารก็เหมือนกัน" เปิดใจพระนักเทศน์นักโทษประหาร ประตูแดง