posttoday

"ฟิลิป" 34ปีบนเส้นทางมายากล เสกความสุขให้ชีวิต

04 กันยายน 2559

เปิดอกคุยกับ"ฟิลิป" จากครูสอนลีลาศสู่ตำนานนักมายากลเมืองไทย

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล / ภาพ...กิจจา อภิชนรจเลข

จบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง...

หลังอดีตนักมายากลเด็กชื่อดัง "สำลี สังวาลย์" ออกมาร่ำไห้ผ่านสื่อว่า ชีวิตตกอับถึงขีดสุด ไม่มีงานทำ ซ้ำยังต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูลูกเมีย โดยพาดพิงถึง "ฟิลิป" ยอดนักมายากล ผู้ปลุกปั้นจนโด่งดังว่าปฏิเสธให้ความช่วยเหลืออย่างไร้เยื่้อใย จนเกิดวิวาทะตามมา ท้ายที่สุดตัดสินใจขอขมาพ่อบุญธรรมเพื่อยุติปัญหาทั้งหมด

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน ไม่มีใครไม่รู้จักคณะมายากลอันประกอบด้วยฟิลิป ลิซ่า และสำลี ภาพนักมายากลสุดเท่ในชุดทักซิโด้ สาวสวยเซ็กซี่ เด็กน้อยผู้เปี่ยมอารมณ์ขัน กลายเป็นสูตรสำเร็จ ส่งผลให้รายการโทรทัศน์ คาเฟ่ ห้างสรรพสินค้า ยันงานเลี้ยงสังสรรค์ ขาดความบันเทิงที่ได้รับความนิยมสูงสุดในยุคนั้นอย่างมายากลไปไม่ได้เลย

ชีวิตย่อมมีขึ้นลงตามวัฎจักร จากชื่อเสียงขจรขจายคับฟ้า งานทองไหลมาเทมา วันหนึ่งกระแสมายากลเข้าสู่ช่วงขาลง คณะฟิลิปห่างหายจากหน้าจอโทรทัศน์ กระทั่งวันนี้ชื่อของฟิลิปถูกลากเข้ามาในแสงสปอร์ตไลท์โดยบังเอิญ

ความทรงจำครั้งเก่าถูกปัดฝุ่นอีกครั้ง ภาพชายในชุดทักซิโด้กับลีลาความสามารถในการเสกมายากลอันน่าทึ่งพลันกลับมากระจ่างแจ่มแจ้งอยู่ในหัวสมอง

เมื่อครูสอนลีลาศถูก"เดวิด คอปเปอร์ฟิล"ร่ายมนต์ใส่

ชื่อจริงของฟิลิปคือ เฉลิมสวรรค์ ไพบูลย์พันธ์ เป็นชาวพัทลุง เติบโตท่ามกลางชนบทปักษ์ใต้ แรกเห็นโชว์มายากลเป็นครั้งแรกก็ประทับใจทันที

"สมัยเด็กๆ เวลามีงานรื่นเริงก็มักจะมีมายากลกลางแปลงมาแสดง ก็ไปยืนมุงดูตามประสาเด็กๆ พออายุ 18 เข้ากรุงเทพฯ ก็ได้เห็นมายากลกลางแปลงอีกครั้ง คราวนี้อลังการกว่าที่บ้านนอกเยอะ ทั้งคลุมผ้าปิดตาถามคำถาม 'อับดุลเอ๊ยๆๆ' แล้วทายถูกหมด มีงูเห่าไฟในกระป๋อง โชว์ตัดคอเด็ก เราก็ฮือฮามาก"

ชีวิตในเมืองหลวงต้องต่อสู้ดิ้นรน กลางวันทำงานที่บริษัทแผ่นเหล็ก กลางคืนไปเรียนหนังสือที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา เฉลิมสวรรค์รู้สึกเบื่อที่ต้องทำงานงกๆอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม จึงลาออกไปสมัครเป็นครูสอนลีลาศ

"วันหนึ่งเจอประกาศในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐรับสมัครครูสอนลีลาศแถวประตูน้ำ เจ้าของโรงเรียนสอนลีลาศเห็นว่าหน้าตาคมสัน หน่วยก้านดี แกรับทันที แถมสอนให้ฟรีด้วย แต่ตกลงกันว่าสอนเสร็จแล้วให้มาเป็นครูสอนลีลาศที่โรงเรียนเป็นการชดเชย ผมก็เอาสิ แหม สอนฟรี แถมได้งานทำ มีแต่ได้กับได้ ช่วงเป็นครูสอนลีลาศ เที่ยวทุกคืน สอนเสร็จนักเรียนมาชวนแล้ว ครูไปเที่ยวไหม สมัยนั้นไนท์คลับเฟื่องฟู ไม่ได้ไปกินเหล้าเมามาย แต่ชอบเต้น ยังคิดไว้ว่าอยากจะเปิดโรงเรียนสอนลีลาศเล็กๆของตัวเอง"

จุดเปลี่ยนของชีวิตเกิดขึ้นในปีพ.ศ.2524 เฉลิมสวรรค์ได้ดูภาพยนต์เรื่อง ปีศาจรถไฟ (terror train) เรื่องราวเกี่ยวกับฆาตกรสวมหน้ากากไล่ฆ่าคนบนขบวนรถไฟ

"ฉากหนึ่งที่จำได้ไม่ลืมเป็นฉากที่เด็กหนุ่มนักมายากลคนหนึ่งเล่นกลเสกไพ่ออกมาจากมือ โอ้โห ลีลาเท่มาก นักมายากลคนนี้ยังมีบุคลิกพิเศษ หน้าตาหล่อเหลา มีเสน่ห์ ตอนโชว์กลนี่มันกระชากวิญญาณเราออกมาเลย เดินออกจากโรงหนังพูดกับตัวเองเลยว่า จะเป็นนักมายากลแบบไอ้หนุ่มคนนี้่ให้ได้ และจะมีชื่อเสียงด้วย กระทั่งหลายปีต่อมา ถึงได้รู้ว่าเด็กหนุ่มนักมายากลคนนั้นคือ เดวิด คอปเปอร์ฟิล ยอดนักมายากลชื่อดังของโลก"

"ฟิลิป" 34ปีบนเส้นทางมายากล เสกความสุขให้ชีวิต ถ่ายรูปกับเดวิด คอปเปอร์ฟิล ยอดนักมายากลระดับโลก ผู้เปรียบเสมือนแรงบันดาลใจ

ซ้อม ซ้อม แล้วก็ซ้อม ... 6 ชั่วโมงต่อวัน

หลังออกจากโรงภาพยนต์ในวันนั้น ชีวิตของเฉลิมสวรรค์ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เขาขวนขวายทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เรียนวิชามายากล

"ไปเดินแถวสำเพ็ง ดูพวกร้านขายอุปกรณ์เล่นมายากล เห็นของเล่นแปลกๆเต็มไปหมด ด้วยความที่ขี้อาย ผมทำทีไปซื้อของแล้วเลียบๆเคียงๆถามเจ้าของร้านว่า ไอ้ที่เสกไพ่ออกจากมือน่ะ ทำยังไง เขาก็ใจดีแนะนำว่าทำแบบนั้นสิแบบนี้สิ เราก็กลับไปฝึกต่อ ปีถัดมาไปเจอประกาศแข่งประกวดมายากล โดยชมรมสยามเมจิกคลับ ผมคิดอยู่ 3 วัน ก่อนโทรไปสมัครกับเขา และใช้ชื่อในการแสดงว่า 'ฟิลิป' ชื่อนี้เอามาจากหนังชีวประวัติเจ้าชายฟิลิปป์แห่งอังกฤษ เพราะรู้สึกว่าเท่ สง่ามาก พอไปแข่งกับอีก 12 คน ปรากฎว่าฟลุ๊คได้ที่หนึ่ง"

ฟิลิปทำหน้างงๆ ทว่าน้ำเสียงแฝงด้วยความปลาบปลื้ม เขายอมรับว่า ตอนนั้นไม่ได้มีเทคนิคแพรวพราวอะไรนัก แค่เสกไพ่ เสกลูกบอลธรรมดาๆ อาจเป็นไปได้ว่าบุคลิกครูสอนลีลาศที่มีท่วงท่าลีลาไม่เหมือนใคร จึงโดนใจกรรมการ

ความโชคดีวิ่งเข้าชนฟิลิปอีกตูมใหญ่ เขาได้รับการชักชวนจากอาจารย์ไพรัช ธนสารสมบัติ ประธานชมรมสยามเมจิกคลับ ให้ทุนเรียนมายากลฟรี สอนโดยอาจารย์ชาลี ประจงกิจกุล นักมายากลชื่อดัง

"ผมยังเป็นครูสอนลีลาศอยู่ พอได้แชมป์ ผมไม่เอาเลย ลาออก บอกเจ้าของโรงเรียนสอนลีลาศว่าอาจารย์ครับ ผมไม่เอาแล้ว ผมจะไปเป็นนักมายากล อาจารย์นี่อึ้งเลย (หัวเราะ) ตอนนั้นอายุ 27 ไม่มีความคิดสักนิดเดียวว่า มายากลจะทำเงินให้ผม คิดอย่างเดียวว่าผมชอบมัน รักมัน หลงใหลมัน อยากเล่น อยากเรียน อยากฝึกซ้อมให้เก่งๆ บรรยากาศการเรียนเข้มข้นมาก สอนตัวต่อตัวในห้องแอร์วันละหนึ่งชั่วโมง แต่ผมจะกลับไปฝึกต่ออีกวันละ 6 ชั่วโมง ฝึกแบบนี้ทุกวัน ไม่เหนื่อย มีความสุข ผมเป็นคนขยันฝึกมาก ครูยังงงว่า สอนอะไรไป ฟิลิปมันทำได้หมด สอนวันนี้ พรุ่งนี้มันมาเล่นให้ดูแล้ว"แววตาเป็นประกายความมุ่งมั่้น

การเดินตามความฝันมีราคาที่ต้องจ่าย ช่วงที่เรียนมายากลฟรี ฟิลิปงานไม่มีทำ แถมต้องจ่ายค่าห้องเช่า ค่ากิน ค่าอยู่ จึงงัดวิชาศิลปะสมัยมัธยมมาหากิน นั่นคือ ปั้นตุ๊กตาปูนปลาสเตอร์ขายตามร้านเครื่องเขียน ประทังชีวิตให้อยู่รอดเดือนชนเดือน

"ฟิลิป" 34ปีบนเส้นทางมายากล เสกความสุขให้ชีวิต

วาสนาดีได้ไปเรียนมายากลที่ญี่ปุ่น

ปีพ.ศ.2527 หลังฝึกปรือวิทยายุทธ์มายากลได้ 2 ปี ฟิลิปเดินทางไปแข่งขันชิงแชมป์มายากลโลกที่ประเทศญี่ปุ่น ตอนนั้นเขามั่นใจสุดขีดว่า ผลจากการซ้อมอย่างเอาเป็นเอาตายน่าจะสามารถคว้ารางวัลติดมือกลับบ้านได้ แต่สุดท้ายเกิดแห้ว ไม่ติดสักอันดับ แม้จะผิดหวังเสียใจ แต่ก็มีน้ำใจนักกีฬาพอที่จะยอมรับความพ่ายแพ้ว่าตัวเองยังเก่งไม่พอ

ใครจะรู้ว่า สิ่งที่ได้รับกลับมาหลังจากชวดรางวัลนั้นยิ่งกว่าคว้าแชมป์

"หลังจบงาน ผู้จัดการแข่งขันชื่อ คุณซาวาดะ ให้คนมาเชิญไปนั่งคุยด้วย เขาบอกว่า อยากมาอยู่ญี่ปุ่นสัก 6 เดือนไหม จะหาครูมาสอนมายากลให้ฟรี อาหาร ที่พักฟรี แถมเงินพ็อคเกตมันนี่ให้ใช้ด้วย คุณคิดดูสิ วาสนาดีไหม ไม่ได้ที่หนึ่ง ไม่ได้รางวัลอะไรเลย แต่สิ่งที่ได้รับกลับมามันยิ่งกว่ารางวัลใดๆ ผมคิดว่าสาเหตุที่เขาประทับใจในตัวผมน่าจะอยู่ที่อารมณ์ในการแสดงของตอนอยู่บนเวที Inner มันมาจากภายใน สีหน้า ท่าทาง ลีลา มีพลัง ดึงดูดคน ที่สำคัญเขาบอกว่า พอได้ดูการแสดงของผมรู้เลยว่าไอ้หนุ่มคนนี้มันต้องฝึกฝนมาอย่างหนัก  แต่สิ่งที่ขาดก็มีเพียงเทคนิคใหม่ๆเท่านั้นเอง ฝีมือเราสู้กับเมืองนอกได้ แต่ไอเดียเราสู้เขาไม่ได้ สมัยนั้นบ้านเราจะเรียนมายากลทีนึงยากลำบากมาก ญี่ปุ่นเขาสั่งวีดีโอสอนมายากลนำเข้าจากอเมริกาไม่กี่วันถึง แต่กว่าจะมาถึงเมืองไทยก็หลายเดือน ยุคนั้นวีดีโอยังไม่นิยม ช่องทางการเข้าถึงมีแต่เรียนจากครู เรียนจากตำราเก่าๆเท่านั้น"

6 เดือนที่ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดในชีวิตของนักมายากลชาวไทยคนนี้ เป็น 6 เดือนที่เปลี่ยนแปลงตัวเขาในทุกๆด้าน

ฟิลิปเล่าว่า ฝีมือและเทคนิคพัฒนาสูงขึ้นอีกระดับประสบการณ์กว้างขวางขึ้น เพราะได้ดูโชว์จากนักมายากลรุ่นเยาว์ยันมืออาชีพมหาวิทยาลัย ทั้งยังได้เรียนรู้เบื้องหลังการจัดเวที แสง องค์ประกอบฉากต่างๆ ทำให้ชายหนุ่มเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ทำไมวงการมายากลญี่ปุ่นพัฒนารุดหน้าไปเร็วมาก

"วันกลับเมืองไทย คุณซาวาดะมาส่งผมที่สนามบิน ด้วยความซาบซึ้งในบุญคุณ ผมถามเขาว่า ต้องชดเชยอะไรบ้าง เพราะตอนเรียนลีลาศยังต้องไปเป็นครูสอนลีลาศตอบแทน นี่เขาให้ขนาดนี้ จึงถามไปว่าอยากให้ไปสอนที่ไหนรึเปล่า คุณซาวาดะส่ายหัวบอกว่า 'ไม่ต้อง คุณกลับไปประเทศของคุณ ไปเป็นผู้นำด้านมายากลที่ประเทศคุณนั่นแหละ'"

ประโยคนั้นเปรียบเสมือนพรวิเศษที่อาจารย์ชาวญี่ปุ่นมอบให้แก่ลูกศิษย์จากเมืองไทยคนนี้

"ฟิลิป" 34ปีบนเส้นทางมายากล เสกความสุขให้ชีวิต

งานชุก เงินทองไหลมาเทมา ชื่อเสียงคับฟ้า...ยุคทองของนักมายากลไทย

และแล้วก็ถึงเวลาที่นักมายากลหนุ่มไฟแรงจะเสกความมหัศจรรย์ให้คนไทยได้ตื่นตะลึง ในฐานะดีกรีแชมป์ประเทศไทย แถมยังได้ไปชุบตัวถึงญี่ปุ่นอีก สถานะฟิลิป ณ ขณะนั้นไม่ต่างอะไรจากพยัคฆ์ติดปีก

"ตอนนั้นดีกรีดีมาก เทคนิค ฝีมือระดับโลกแล้ว มั่นใจสุดๆ ในวงการมายากล ชื่อฟิลิปแจ้งเกิดเต็มตัวแล้ว แต่ในตลาดทั่วไปยังไม่มีใครรู้จัก ผมจึงเริ่มมองหางานอย่างจริงจัง ตอนนั้นตลาดเมืองไทยอยู่ที่คาเฟ่ซึ่งเฟื่องฟูมาก นักมายากลรุ่นพี่ไปแสดงกันทุกคืน วันหนึ่งมีเอเยนต์ติดต่อให้ไปเล่น ค่าตัวครั้งแรก 800 บาทต่อ 30 นาที ผมงัดเทคนิคมาโชว์ไม่ยั้ง ปรากฎว่าล้มเหลว ไปเล่นที่ไหนก็ถูกด่า ผู้จัดการไม่ชอบ มารู้ทีหลังเขาบอกว่า 'มันเล่นเก่งจริง แต่เล่นไม่สนุก' หมายถึง ยอมรับว่าผมเก่ง มีฝีมือ แต่แขกไม่ชอบ  ผมกลับมาวิเคราะห์ว่า ทำไมเราถึงไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งที่ฝีมือเหนือกว่าคนอื่น จนมาพบว่า นักมายากลคนอื่นเขาฝีมือด้อยกว่าเราก็จริง แต่เขาเอนเตอร์เทนเก่ง จับคนดูอยู่ เล่นไม่ต้องเก่งมาก สำคัญคือต้องให้คนดูชอบ พวกนี้เล่นนิดเดียว พูดคุย หยอกล้อ เล่นมุขเสียเยอะ แขกก็ชอบ ผู้จัดการก็บอกเฮ้ย วันหลังมาอีก ส่วนผมขี้อาย พูดก็น้อย โชว์อย่างเดียว คิดแต่จะโชว์ว่ากูเก่ง แต่ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับแขกเลย"

ฟิลิป บอกว่า แม้ประสบความล้มเหลว ได้งานเพียง 3 ครั้งต่อเดือน เงินก็น้อยนิด แต่เขาไม่รู้สึกท้อแท้แต่อย่างใด กลับมีความสุขมากเสียอีกที่ได้แสดงบนเวที

กระทั่งปีพ.ศ.2530 หลังจากลุ่มๆดอนๆอยู่ตามเวทีคาเฟ่มาเกือบ 3 ปี วันหนึ่งฟิลิปเกิดปิ๊งไอเดียจากภาพยนต์เรื่องเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ เขาตัดสินใจพลิกโฉมคาแรกเตอร์เป็นเจ้าพ่อมาเฟีย ก่อนจะได้รับความนิยมอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด

"ผมสวมทักซิโด้ เล่นกลไพ่ กลจุดบุหรี่ เสกผ้าพันคอให้กลายเป็นนก คนชอบมาก ยิ่งตอนนั้นคุณลิซ่า ไปรพิศ เข้ามาเป็นผู้ช่วย โอ้โห สวย เซ็กซี่ คนดูเลยชอบกันใหญ่ ค่าตัวเพิ่มเป็น 1,200 บาทต่อ 30 นาที เล่นคืนหนึ่ง 5-6 ร้าน บทเรียนที่ได้จากครั้งนั้นคือ หัวใจสำคัญของการแสดงบนเวทีอยู่ที่การเอาชนะใจคนดูให้ได้ ไล่เลี่ยกันกับช่วงนั้นมิวสิควีดีโอกำลังบูม ผมนั่งดูแล้วโป๊ะเช๊ะเลย เสร็จกูล่ะ ทำไมเราไม่เอามิวสิควีดีโอมาเล่นเป็นโชว์ของตัวเองเสียเลย เช่น เพลงพี่เบิร์ด ธงไชยที่ร้องถึงนก หมอก ควัน ดอกไม้ ผมก็เสกนก เสกควัน เสกดอกไม้ พูดง่ายๆเล่นกลตามเพลง ไม่มีใครทำมาก่อน ผลคือชื่อของคณะฟิลิปดังกระหึ่ม"

"ฟิลิป" 34ปีบนเส้นทางมายากล เสกความสุขให้ชีวิต สำลี นักมายากลเด็กชื่อก้องแห่งยุค สมัยที่ไปออกรายการทีวี

ในสายตาของนักมายากลคนนี้ คำว่าแจ้งเกิดหมายถึง การมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ และวันแจ้งเกิดของคณะฟิลิปอย่างจริงๆจังๆคือ ตอนที่เขาได้ไปพบกับเพชรเม็ดงาม เด็กชายร่างเล็ก ผิวดำ ฟันขาว นิสัยร่าเริงนามว่าสำลี ก่อนนำมาชุบเลี้ยงปลุกปั้นให้กลายเป็นนักมายากลเด็กชื่อดังที่สุดของวงการบันเทิงยุคนั้น

"ยุคนั้นความบันเทิงอันดับหนึ่งของคนไทยคือ โทรทัศน์ ใครชอบดูรายการอะไรจะนั่งหน้าจอรอเลย ผมไปออกรายการสี่ทุ่มสแควร์ ให้สำลีเขาฝึกเต้นเป็นไมเคิล แจ็คสัน คราวนี้ดังไปทั่วประเทศเลย จากกรุงเทพฯขยายไปต่างจังหวัด ชื่อของฟิลิป ลิซ่า สำลี ติดหูคนไทย งานไหลมาเทมาทั้งออกรายการทีวี งานเลี้ยงบริษัท งานสัมมนา ปีใหม่ งานแต่ง งานบวช วันเกิด โชว์ตามห้าง ถ่ายแบบโฆษณา จำได้ว่าลงประกาศในสมุดหน้าเหลือง คนโทรมาเยอะจนรับงานไม่ทัน ต้องจองกันข้ามปี ค่าตัวเวลานั้น 65,000 บาทต่อครึ่งชั่วโมง ถึงขนาดบริษัทวีดีโอจ้างไปบันทึกเทปสอนมายากลเดือนละม้วน ยิ่งกว่านั้นคือ ไปออกรายการชิงร้อยชิงล้านแล้วทำล้านแตก นั่นเป็นช่วงที่พีคที่สุดในอาชีพนักมายากลของผมเลย"

ยุคทองของคณะฟิลิปกินเวลานานนับสิบปี ระหว่างพ.ศ.2530-2547 กระแสดังกล่าวยังปลุกวงการมายากลให้กลับมาได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางอีกครั้ง บรรดาผู้ประกอบอาชีพนักมายากลมีงาน มีเงินอู้ฟู่ ร้านขายอุปกรณ์การเล่นกลผุดขึ้นตามห้างสรรพสินค้า รวมถึงการเปิดโรงเรียนสอนวิทยากลฟิลิปในปีพ.ศ.2538 อันถือเป็นโรงเรียนมายากลแห่งแรกที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ

"สมัยผมเด็กๆไม่รู้เลยว่าจะไปดูมายากลที่ไหน จะเรียนได้จากไหน แต่ช่วงที่ผมดัง ทุกเช้าวันเสาร์จะไปยืนอยู่หน้าจอทีวี สอนมายากลออกรายการซูเปอร์จิ๋วให้เด็กๆทั้งประเทศได้ดู นี่เป็นสิ่งที่ผมภาคภูมิใจมาก ทำให้เด็กๆหลายคนเกิดแรงบันดาลใจพ่อแม่นิยมส่งลูกมาเรียนมายากลกันเยอะเลย เดี๋ยวนี้มีนักมายากลรุ่นใหม่ๆเกิดขึ้นเยอะ เด็กสมัยนี้เขาเก่งขึ้น กว้างขึ้น มีคลิปวีดีโอสอนมายากลให้ดูไม่รู้เบื่อ สั่งซื้ออุปกรณ์เล่นมายากลได้ง่ายๆทางออนไลน์ ต่างจากสมัยผมต้องสั่งซื้อต่างประเทศ แถมราคาแพงเป็นแสน อีกเรื่องที่ผมภูมิใจมากไม่แพ้กันคือ  ช่วงนั้นผมเชิญคุณซาวาดะมาเที่ยวเมืองไทย ดูแลที่พัก อาหาร พาเที่ยวทุกอย่าง เพื่อตอบแทนบุญคุณท่าน"

"ฟิลิป" 34ปีบนเส้นทางมายากล เสกความสุขให้ชีวิต ฟิลิปกำลังโชว์มายากลให้เด็กๆในรายการซูเปอร์จิ๋ว

สูงสุดคืนสู่สามัญ ความสุขในวันนี้ของ"ครูฟิลิป"

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่จะอยู่ค้ำฟ้า ทั้งลาภ ยศ สรรเสริญ มีขึ้นก็ต้องมีลง หลังจากกระแสนิยมอาชีพมายากลพุ่งสู่จุุดสูงสุดแล้วค่อยๆแผ่วลง

กระนั้นนักมายากลหมายเลขหนึ่งอย่างฟิลิปไม่เคยหวั่นไหว

"ช่วงพีคสุดๆ เงินสะพรั่งสุดๆ ผมไม่เคยไปซื้อคฤหาสถ์ ซื้อรถสปอร์ต สะสมเพชรนิลจินดา สิ่งที่ลงทุนไปมีเพียงโรงเรียนสอนวิทยากลฟิลิปซึ่งวันนี้ยังคงเปิดสอนอยู่ โชคดีที่ผมไม่ใช่คนฟุ่มเฟือย และคิดมาตลอดว่าชีวิตคนเรานั้นไม่แน่นอน ผมเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นไปตามวัฎจักร ใครจะดังได้ตลอดกาล พอกระแสเริ่มแผ่ว ผมเริ่มหายหน้าไปจากสื่อ แต่งานยังคงมีตลอด คำว่าขาลงไม่ใช่เรื่องฝีมือตกเหมือนนักร้อง ถ้าเขาร้องเพลงเก่ง ร้องเพลงเพราะ คุณภาพเขาไม่มีวันตกอยู่แล้ว มันขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดต่างหาก สมัยก่อนฟิลิปออกทุกรายการ คนก็เบื่อ ถึงวันหนึ่้งเขาก็ไปสนใจอย่างอื่น"

งานลด เงินน้อย ภาระความวุ่นวายต่างๆก็หายไป แทนที่ด้วยความปลอดโปร่งโล่งสบาย ฟิลิปบอกว่าชีวิตวันนี้เขามีความสุขมาก

"ช่วงพีคๆ เหนื่อยมาก ไหนจะงานแสดง ไหนจะบริหารจัดการ ลูกน้องเยอะ ได้เงินเยอะก็จ่ายเยอะ ไม่มีเวลาพักผ่อน เครียด นั่นคือสิ่งที่ผมต้องเผชิญ ทุกวันนี้งานน้อยลง เหลือเดือนละ 3-4 งาน ค่าตัว 30,000-40,000 บาท ไม่นับงานเปิดสอน ให้เช่าอุปกรณ์มายากลอีก ก็พออยู่ได้นะ แต่ชีวิตผมเบา สบาย ไม่ต้องเครียด มีเวลาได้พักผ่อน ตอนนี้มีความสุขมากกว่าเมื่อก่อนอีก ...คุณดูหน้าผมสิ สดใสไหม นี่อายุ 60 แล้วนะ (หัวเราะ)"

"ฟิลิป" 34ปีบนเส้นทางมายากล เสกความสุขให้ชีวิต ฟิลิปและลิซ่า คู่ขวัญวงการมายากลเมืองไทย

ถามว่าคนที่เคยผ่านจุดสูงสุดของชีวิตมาแล้ว รู้สึกอาลัยอาวรณ์อดีตอันหอมหวนไหม

"อยากจะพูดแบบนี้ว่า ผมไม่เคยคิดถึงเรื่องเงินเลยผมเล่าให้คุณฟังตั้งแต่แรกๆตอนเข้าสู่วงการมายากลแล้วว่า ผมทำด้วยใจรักใจชอบ มีความสุขที่ได้เล่นมายากล สมัยแรกๆทำงานได้เดือนละแค่ 3,000-4,000 ก็ผมยังมีความสุข ไม่เคยบ่น ไม่เคยท้อ ขอให้ได้ขึ้นเล่นเท่านั้นพอ ผมชอบเล่นมายากล มายากลคือสิ่งที่ผมรัก แล้วผมก็มีอาชีพเป็นนักมายากล ดังนั้นชีวิตผมจึงไม่ได้ทำงานเลย เพราะผมได้พบกับงานที่ผมรัก ชีวิตคนเราแค่คุณได้พบกับงานที่คุณรัก คุณก็จะเป็นอิสระ ไม่ต้องมีออฟฟิศ ไม่ต้องเป็นลูกน้องใคร ไปเล่น ไปสนุกอย่างเดียว เงินทองเป็นอีกเรื่องที่ตอบแทนมาทีหลัง"

ในวัย 60  ความฝันสุดท้ายของตำนานนักมายากลรายนี้คือ อยากจะถ่ายทอดความรู้เรื่องมายากล ซึ่งเป็นสิ่งที่เขารู้จักมันดีที่สุด เชี่ยวชาญที่สุด ให้แก่ลูกศิษย์ลูกหาอย่างไม่ปิดบัง

"มายากลเป็นสิ่งผมรู้ดีที่สุด จึงอยากจะถ่ายทอดให้แก่ลูกศิษย์ ส่งผ่านไปให้เด็กๆเพื่อที่เขาจะเอาไปสร้างสรรค์ พัฒนาวงการให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ให้เขามีโอกาสเหมือนที่ผมเคยได้รับโอกาส ความอดทนเป็นสิ่งสำคัญครับ โอกาสน่ะมันมี แต่วันที่ยังมาไม่ถึง ถ้าเราไม่อดทนก็ไม่ได้เจอกับความสำเร็จ ผมอดทน และก็อึดด้วย ตอนฝึกใหม่ๆไม่มีเงินกินข้าว ต้องเร่ขายตุ๊กตาปูนปลาสเตอร์ และผมซ้อมหนักมากวันละ 6 ชั่วโมง การมายืนอยู่จุดนี้ได้ผมต้องอึดมากๆ แล้วสุดท้ายผมก็ชนะ"

น้ำคำเด็ดเดี่ยวของลูกผู้ชายชื่อ ฟิลิป ตำนานนักมายากลที่ยังมีลมหายใจของเมืองไทย

"ฟิลิป" 34ปีบนเส้นทางมายากล เสกความสุขให้ชีวิต

 

"ฟิลิป" 34ปีบนเส้นทางมายากล เสกความสุขให้ชีวิต