posttoday

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้ปกป้องเกษตรอินทรีย์

03 มกราคม 2559

เมื่อกล่าวถึงเอ็นจีโอที่ออกโรงคัดค้านเรื่อง “จีเอ็มโอ” หรือการตัดแต่งพันธุกรรมพืช เพื่อให้ทนต่อโรคพืชแมลงและสภาพอากาศ

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

เมื่อกล่าวถึงเอ็นจีโอที่ออกโรงคัดค้านเรื่อง “จีเอ็มโอ” หรือการตัดแต่งพันธุกรรมพืช เพื่อให้ทนต่อโรคพืชแมลงและสภาพอากาศ และยืนเคียงข้างปกป้องภาคเกษตรอินทรีย์ จนกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในแถวหน้าที่คร่ำหวอดเรื่องนี้มากว่า 20 ปี ย่อมปรากฏชื่อของ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย

จุดเริ่มอุดมการณ์

วิฑูรย์ เล่าถึงเส้นทางที่เขาเดิน เริ่มต้นจากประวัติการศึกษาที่เรียนจบมาจากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ในสาขาที่สามารถทำงานด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช เรียนตั้งแต่ทฤษฎีพื้นฐานเรื่องการปรับปรุงพันธุ์พืชโดยเฉพาะข้าวโพดไปจนถึงภาคปฏิบัติ ต้องไปฝึกงานกับภาคอุตสาหกรรมการเกษตรหรือเกษตรกรจริงๆ 300 ชั่วโมง

การเรียนจบสายนี้คือใบเบิกทางให้เข้าไปทำงานในบริษัทอุตสาหกรรมได้ไม่ยาก แต่ วิฑูรย์ กลับไม่เลือกเส้นทางนั้น

ช่วงประมาณปี 2528 เขาเลือกที่จะเข้าไปทำงานด้านอาสาสมัครเพื่อสังคม ต้องลงไปทำงานในพื้นที่ จ.สุรินทร์ เพื่อเก็บข้อมูลเกษตรกร ปีนั้นเป็นปีที่ราคาข้าวตกต่ำมาก อาชีพชาวนาซึ่งลำบากยากจนอยู่แล้ว ยิ่งเผชิญหน้ากับความลำบากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรเป็นปัญหาที่ความรู้ด้านการเกษตรที่ร่ำเรียนมาจากรั้วมหาวิทยาลัยไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาได้เลย

แต่ในปีเดียวกันนี้เอง เขาได้รู้จักกับ“พ่อมหาอยู่ สุนทรธัย” ปราชญ์ชาวบ้านผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นเกษตรกรต้นแบบของการเกษตรผสมผสาน แนวทางของปราชญ์ชาวบ้านท่านนี้ทำให้ วิฑูรย์ ได้เห็นการนำการเกษตรแบบยกร่องในภาคกลางเข้ามาปรับใช้ มีการจัดการแหล่งน้ำที่ชาญฉลาด ผสมผสานกิจกรรมการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ให้หลากหลายบนที่ดิน

ระบบเกษตรที่มีการปลูกพืชและมีการเลี้ยงสัตว์หลากหลายชนิด แต่ละกิจกรรมเกื้อกูลประโยชน์ต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างความสมดุลต่อสิ่งแวดล้อม ใกล้เคียงกับระบบนิเวศตามธรรมชาติ

นั่นทำให้ วิฑูรย์ เริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่เรียนมาจากรั้วมหาวิทยาลัย ว่ามีอะไรที่นำมาใช้ประโยชน์กับชีวิตจริงได้บ้าง

“ตอนนั้นมีคนที่จบจาก มก.ไปประกอบอาชีพทำนาก็ยังเอาตัวรอดไม่ได้ เมื่อได้เห็นเกษตรกรอย่างพ่อมหาอยู่ ที่สรุปบทเรียนการทำการเกษตรบนฐานความรู้ท้องถิ่นจริงๆ ขึ้นมาแล้วอยู่รอดอย่างมั่นคง ผมก็เห็นข้อจำกัดของสิ่งที่เรียนมา การเกษตรตามแนวทาง ‘ปฏิวัติเขียว’ ที่เริ่มเข้ามากำหนดทิศทางการเกษตรในประเทศไทย เริ่มแสดงให้เห็นว่า นั่นอาจจะไม่ใช่คำตอบของภาคการเกษตร”

ยุคปฏิวัติเขียว

ยุคปฏิวัติเขียวตามที่ วิฑูรย์ ระบุ คือจุดเริ่มต้นการใช้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เกษตรและเทคโนโลยี มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ใช้พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ที่ให้ผลผลิตสูงขึ้นในการลงทุนที่เท่าเดิม ในระยะเวลาเดิม สร้างวัตถุดิบป้อนให้กับโรงงานอุตสาหกรรมและเป็นการประหยัดแรงงานในภาคอุตสาหกรรม และนับเป็นเกษตรแผนปัจจุบันที่ยังพบเห็นได้ทั่วไป

“เราลงไปทำการเกษตรตามที่เรียนมาทุกอย่าง เพื่อหวังช่วยเกษตรกรให้ได้ผลผลิตสูงสุด แมลงศัตรูพืชทุกตัว สารเคมีและยาปราบศัตรูพืชทั้งหมดที่เราท่องและมีกระบวนการจัดการในตำรา ไม่สามารถให้คำตอบได้ว่ายังมีทางเลือกอื่นๆ ในการทำการเกษตรหรือไม่ และสิ่งที่เรียนมาบอกเรื่องการลงทุนเรื่องผลกำไรและการเอาตัวรอดจริงๆ จากอาชีพนี้น้อยมาก ขณะที่โลกแห่งความเป็นจริงเมื่อประเทศยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกาผลิตพืชผลทางการเกษตรราคาถูกออกมาตีตลาดโลกจนราคาตกต่ำ ปลูกมาขายก็ขาดทุน เรื่องนี้ไม่เคยมีการบอกไว้ในตำราว่าต้องไปบอกเกษตรกรอย่างไร แก้ปัญหาให้เขาได้อย่างไร สิ่งที่เห็นจึงท้าทายผมมาก”

วิฑูรย์ สรุปบทเรียนว่า ปฏิวัติเขียวอาจไม่ตอบโจทย์ภาคการเกษตร พร้อมตั้งข้อสังเกตว่ารูปแบบการผลิตแบบดั้งเดิมของการผลิตทางการเกษตรที่เรียกว่า “เกษตรอินทรีย์” ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่เริ่มมีการนำกลับมาใช้ในหลายประเทศ เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ได้มากกว่า แต่เหตุใดเกษตรอินทรีย์กลับถูกแทนที่ด้วยการใช้สารเคมีทางการเกษตรและเครื่องจักรกล จนโครงสร้างดินเสื่อมโทรม พืชอ่อนแอ ต้องพึ่งพาการใช้สารเคมี จนบ่อนทำลายความมั่นคงทางด้านอาหารอย่างต่อเนื่อง

เดินหน้าหาคำตอบ

“ผมพบว่ามีเบื้องหลังยุทธศาสตร์การเกษตรของอุตสาหกรรมอาหารที่บรรษัทยักษ์ใหญ่ของโลกอยู่เบื้องหลังนั้น มีแง่มุมที่น่าสนใจมากมาย ต้องใช้เวลาหลายปีรวบรวมข้อมูลจึงพบว่านโยบายด้านการเกษตรของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกานั้นผูกโยงกับสงครามเย็น ใช้เป็นยุทธศาสตร์เพื่อต่อต้านลัทธิสังคมนิยม เมื่อสิ้นสุดยุคสงครามเย็น บรรษัทหลายแห่งก็ได้ประโยชน์จากนโยบายที่ได้วางไว้” เขาระบุ

วิฑูรย์ เล่าว่า อุตสาหกรรมการเกษตรคือกลไกสำคัญที่สหรัฐอเมริกาใช้ในการขยายพรมแดนผลประโยชน์ โดยผลักดันให้มีการจัดตั้งสถาบันวิจัยเกษตรระหว่างชาติ (International Agricultural Research Institute : IARCs) มีเป้าหมายปรับปรุงพันธุ์ให้ได้ผลผลิตสูง ควบคู่ไปกับการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีปราบศัตรูพืชและระบบการชลประทานที่ดี ซึ่งทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายทรัพยากรพันธุกรรมเพื่อนำไปใช้ในโครงการปรับปรุงพันธุ์ในประเทศอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างเป็นระบบและดูชอบธรรมยิ่งขึ้น

สถาบันวิจัยเกษตรระหว่างชาติแห่งแรก คือ สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ หรืออีรี่(International Rice Research Institute หรือชื่อย่อ IRRI) ที่ตั้งอยู่ที่ลอสบันยอส ประเทศฟิลิปปินส์ อีรี่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2503 โดยได้รับทุนสนับสนุนในการก่อตั้งครั้งแรกจากมูลนิธิฟอร์ดและร็อคกี้เฟลเลอร์ของอเมริกา ส่วนในปีต่อๆ มาอีรี่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศอุตสาหกรรมต่างๆ เพิ่มเติม เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี แคนาดา อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น รวมทั้งธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย

เงามืดเบื้องหลัง

วิฑูรย์ ระบุว่า องค์กรดังกล่าวอยู่ใต้เงาของอเมริกาอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงินและบุคลากร ผู้อำนวยการหรือนักปรับปรุงพันธุ์ก็ล้วนแล้วแต่เป็นอเมริกันทั้งสิ้น ทั้งนี้เพื่อให้การควบคุมนโยบายต่างๆ สามารถทำได้โดยเร็ว ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยนโยบายข้าวนานาชาติซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน แสดงให้เห็นว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก เพราะตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา ชาวนาสหรัฐนำพันธุกรรมข้าวจากอีรี่ไปใช้คิดเป็นมูลค่านับพันล้านบาท เมื่อเทียบกับเงินสนับสนุนไม่กี่สิบล้านบาท ยังไม่รวมสิทธิบัตรในข้าว

ภายใต้ความสำเร็จในการผสมพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง ทำให้บทบาทศูนย์วิจัยเกี่ยวกับการเกษตรนานาชาติแพร่ขยายไปครอบคลุมพื้นที่อื่นๆ แต่อีกด้านส่งผลให้พันธุ์พืชพื้นเมืองสูญหายไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการนำพันธุ์พืชใหม่เข้ามาปลูกทดแทน แต่หากปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้ดำรงอยู่การปรับปรุงพันธุ์พืชจะพบกับวิกฤต เพราะไม่อาจหาพันธุกรรมมาเป็นฐานในการปรับปรุงพันธุ์ได้ต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีการก่อตั้งองค์กรที่เข้ามามีบทบาทในการควบคุมทรัพยากรพันธุกรรมไว้อย่างสิ้นเชิง ขณะนี้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเมล็ดพันธุ์มีบริษัทอยู่เพียงไม่กี่แห่ง ต่อมาการผูกขาดตลาดเมล็ดพันธุ์ก็เริ่มขยายไปสู่การมอบทุนเพื่อการวิจัยสารพัดปูพื้นฐานการก้าวเข้าไปวิจัยเรื่องจีเอ็มโอที่ทอดไปสู่การผูกขาดอุตสาหกรรมอาหารมาถึงปัจจุบัน

“เราพบว่าอุตสาหกรรมอาหารอยู่ในมือบริษัทใหญ่เพียงหยิบมือเดียว ซึ่งบริษัทเหล่านี้กำลังเชื่อมโยงกัน มีอิทธิพลเหนือวิทยาศาสตร์อย่างยาวนาน และค่อยๆ สร้างกระบวนการเปลี่ยนการวิจัยด้านการเกษตรที่อยู่ในมือรัฐไปเป็นของเอกชน รัฐบาลอย่างของประเทศเราที่สุดก็ทำได้แค่สนับสนุนรับรองพืชพันธุ์ ที่เอกชนนำมาปลูกให้ดำเนินการได้”วิฑูรย์ ระบุ