posttoday

"เบล จิรายุ"ทายาทรุ่น2 น่องเหล็กกู้ชีพ

11 พฤศจิกายน 2557

ความรู้สึกทุกครั้งที่ผมได้ช่วยคน เราต้องถึงที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด ต้องพาเขาให้ถึงแพทย์เร็วที่สุด ซึ่งผมภูมิใจตรงนี้มาก

โดย...นรินทร์ ใจหวัง

ท่ามกลางแสงไฟสีนวลส้มส่องให้เห็นทางอยู่เป็นระยะๆ ในยามค่ำคืน เสียงรถที่สัญจรไปมาเอะอะเซ็งแซ่ ไม่เคยหายไปจากถนนในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ในทุกๆ นาทีจึงย่อมมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นอยู่เสมอ

ทว่ากว่าที่รถหน่วยกู้ภัยจะแหวกผ่านการจราจรที่คับคั่งไปจนถึงที่เกิดเหตุได้ ก็กินเวลาไปโข จึงเป็นเหตุผลหลักๆ ที่ "เบล จิรายุ สุวรรณสี" ทายาทรุ่นที่2ของ อาสาสมัครจักรยานกู้ชีพประจำหน่วยแพทย์กู้ชีวิตโรงพยาบาลวชิระ เลือกที่จะใช้จักรยานในการปั่นเข้าไปช่วยเหลือคนที่ประสบภัยทุกรูปแบบ ครอบคลุมพื้นที่บางพลัด และในพื้นที่อื่นสุดแต่แรงจะไปไหว

"เบล" คำเรียกแทนตัวเองของชายวัย23 ปี รูปร่างสันทัด ทายาทจักรยานกู้ชีพรุ่นที่2 ถัดจาก "ภาณุพงศ์ ลาภเสถียร" หรือ "ปาว" จักรยานกู้ภัยในตำนานซึ่งตอนนี้ผันตัวเองไปทำงานให้สังคมในรูปแบบอื่นแล้ว จะหลงเหลือคนที่สืบสานจริงๆ ก็เพียงเบลคนเดียว

กิจกรรมดีๆ นี้เกือบจะหายไปเมื่อครั้งที่เบล ตัดสินใจไปเรียนทางสายช่างยนต์ตามที่ตัวเองถนัด เพื่อนำความรู้กับมาเป็นอาชีพทำมาหากินหลัก หลังจากที่ตัดสินใจเลิกทำงานที่โรงพยาบาล ด้วยเหตุผลที่ว่ารายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต

“ตอนที่ผมไปเรียนในระยะเวลา1ปี  มันก็กลายเป็นไม่มีคนทำแล้ว เรียนจบก็คุยกับเพื่อน เขาก็บอกว่ามันไม่มีคนทำแล้วนะ ไม่รู้คนไปไหนหมด ผมก็สรุปว่าเรียนเสร็จก็จะกลับมาทำต่อเอง ผมไม่ขัดข้องอยู่แล้ว ตอนนี้ผมก็ทำงานอยู่ที่อู่ 9โมงเช้าถึง6 โมง ตกเย็นก็ออกมาเป็นกู้ภัย บางครั้งถึงไม่เห็นมานั่งอยู่ที่แยก แต่ผมก็ออกไปช่วยคนทุกวัน”

จักรยานสีดำคันโต ติดตั้งตู้ชุดพยาบาลสีขาว น้ำหนักกว่า80 กิโลกรัม ภายในบรรจุเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการปฐมพยาบาลไว้ครบครัน แม้แต่ ถังออกซิเจน เครื่องวัดความดัน ก็มีติดจักรยานไว้เพื่อให้พร้อมรับมือในทุกสถานการณ์ ซึ่งส่วนหนึ่งของอุปกรณ์การแพทย์ที่อยู่ในตู้มาจากน้ำพักน้ำแรงของ เบลล้วนๆ

\"เบล จิรายุ\"ทายาทรุ่น2 น่องเหล็กกู้ชีพ

แม้จะทำงานเพื่อส่วนรวมมามากว่า10 ปี แต่กู้ภัยหนุ่มกลับเจออุปสรรคเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งมาจากคนที่ไม่เข้าใจในการทำงานของเขา

“ถึงผมจะทำงานมาร่วม10ปี ก็ยังมีคนกังขาในตัวผมอยู่เสมอ เช่นคนมักจะถามผมว่า เฮ้ย...ช่วยคนแล้วมันดีเหรอ แต่ผมจะไม่ต่อความยาวอะไร ผมก็นิ่งๆ  แต่ในใจก็คิดว่าคุณมองว่ามันไม่ดี ก็เรื่องของคุณ แล้วการที่เอาเวลาไปกินเหล้ามันดีเหรอ ผมก็ไม่เคยไปบอกคุณว่ามันไม่ดีเลย  มันขึ้นอยู่กับการคิด

ผมมองว่าผมเอาเวลาไปช่วยคน ทำเวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ช่วยเหลือคนอื่นดีกว่ามั้ย ความรู้สึกทุกครั้งที่ผมได้ช่วยคน เมื่อไหร่ที่เห็นคนรถล้ม เราต้องถึงที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด ต้องพาเขาให้ถึงแพทย์เร็วที่สุด ซึ่งผมภูมิใจตรงนี้มาก

ตลอดการสนทนา กู้ภัยหนุ่มก็ยังค่อยเงี่ยหูฟังวิทยุสื่อสารอยู่ตลอดเวลา เพื่อติดตามว่ามีเหตุฉุกเฉินที่จุดใดหรือไม่ และเขาก็ได้รับแจ้งว่ามีผู้ที่กำลังรอความช่วยเหลืออยู่บริเวณซอยจรัญสนิทวงศ์49

สิ้นเสียงจากวิทยุ เบล ก็รีบปั่นจักรยานคู่ใจออกไปทันที เขาลัดเลาะผ่านแยกบางพลัดมุงตรงไปยังซอยจรัญสนิทวงค์49 ซึ่งมีเหตุหญิงสาวกินยาเกินขนาดนอนรอความช่วยเหลืออยู่ แม้จะได้ยินเสียงไซเรนของรถยนต์กู้ภัยคันอื่นอยู่ไม่ห่าง แต่กู้ภัยที่มักไปถึงที่เกิดเหตุเป็นคนแรกๆนั้น กลับเป็นมนุษย์จักรยานคนนี้ เนื่องจากความคล่องตัวของจักรยาน ที่ซอกแซกไปได้ แม้การจราจรจะติดขัด

“คำพูดที่เขามักถามผมคือ เฮ้ย มึงจะไปทันหรอว่ะ คนที่ไม่เข้าใจก็มีนะครับ เรื่องจะไปทันมั้ย บางครั้งก็ด่าว่าไอ้บ้า เพราะเห็นผมติดตั้งตู้และมันคงดูหนัก เขาก็คงคิดว่าผมจะไปทันเหรอแบกของหนักๆ แบบนี้ คงไปไม่ทันแน่ๆ

ถ้าผมมีเวลา ผมก็อยากอธิบายให้พวกเขา เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมต้องจักรยานล่ะ ก็เพราะกรุงเทพฯ รถมันติดไงครับ ยิ่งเวลารถชนกัน ยิ่งติดยาว มอเตอร์ไซต์ทำได้มั้ย ทำได้ครับแต่ไม่ใช่แบบที่จักรยานทำ จักรยานซอกแซกได้หมด ตรอก ซอย ก็ไปได้ ที่สำคัญที่สุดคือมันประหยัดพลังงาน ประหยัดน้ำมัน จากที่เราต้องเติมน้ำมันครั้งละ1-2ร้อย นี่ไม่ต้องเลย เอาเงิน10 บาท ไปซื้อน้ำกินหรือสปอนเซอร์กินขวดเดียวก็อิ่มแล้ว”

จากการทำงานที่ผ่านมา หากจะถามหาว่าประสบการณ์ไหนที่ทำให้คนทำงานกู้ภัยคนนี้ประทับมากที่สุด เขาก็ตอบแบบทันทีว่า ทุกครั้ง!! แม้ว่าจะนับนิ้วรวมแล้วเป็นร้อยๆเคส 

เบลยอมรับว่า ส่วนหนึ่งมันเป็นการเสพติด ที่อยากออกไปช่วยใครก็ได้ ไม่จะเป็นคนหรือสัตว์ ก็อยากทำไปเสียหมด

“น้อยมากครับที่วันไหนจะไม่ได้ออกไปช่วยใคร เพราะไม่ว่าอะไรผมก็ไปหมด ช่วยคนเจออุบัติเหตุ ช่วยแมวตกท่อก็ได้  ซึ่งมีบ้างที่เคสที่ผมประทับใจมากๆ ผมจะจดบันทึกไว้ อย่างครั้งหนึ่งแถวจรัญฯ นี่แหละครับ เขาก็วิทยุกัน ซึ่งไม่มีใครยอมไป เขาเป็นคนแก่ที่เขาหมดสติไปแล้ว และต้องการทำซีพีอาร์ แต่รถพยาบาลกว่าจะมาถึงก็นานมาก ญาติก็ช่วยกันปลุก ช่วยกันปั๊ม สุดท้ายก็ฟื้นขึ้นมาจริงๆ เป็นเคสที่ผมดีใจมากเคสหนึ่ง

อีกครั้งหนึ่งแถวสวนผัก ผมไปทานข้าวกับพี่ปาวเฉยๆ นี่แหละครับ แต่บังเอิญไปเจอเหตุมอเตอร์ไซต์ชนกับรถเก๋ง ก็มีอาสาสมัครช่วยอยู่ก่อนหน้าเราไปอยู่แล้ว แต่ผม2 คนก็ไปช่วยกันปั๊ม ญาติก็ช่วยเรียก กว่ารถพยาบาลมาก็ครึ่งชั่วโมง สุดท้ายเขาก็ฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง”

\"เบล จิรายุ\"ทายาทรุ่น2 น่องเหล็กกู้ชีพ

เบลยอมรับว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้การทำงานในทุกๆ วัน ถึงแม้จะมีคนบางคนที่ยังไม่เข้าใจการทำงานทั้งหมด ก็คือกำลังใจของคนที่หยิบยื่นให้ ทั้งคำพูดให้กำลังใจและสิ่งของต่างๆเพื่อไว้ใช้ในการช่วยเหลือผู้คน

“ปั่นจักรยานกู้ภัยมา 10 ปี รถพังไปแล้ว 5-6 คัน  แต่ก็มีพี่ๆ ที่เขาช่วย ส่วนใหญ่ก็ตอบรับดี บางคนเขาตอบแทนเราด้วยการซื้อเวชภัณฑ์จากโรงพบาลมาให้ ซื้ออุปกรณ์ที่ขาด ให้คูปองไปกินอาหารฟรีบ้าง บางคนก็ให้การพูดคุยที่สนิทสนมเหมือนญาติ ไม่แบ่งคนรวย-จน  บางคนก็ซื้อข้าวมาให้กิน เนี่ยละครับผลตอบรับของผม ที่มากกว่าความภูมิใจกับตัวเอง”

เบลบอกว่า ไม่ว่าจะอย่างไร เขาจะยังตั้งหน้าตั้งตา ทำหน้าที่นี้ต่อไป จนกว่าแข้งขา เรี่ยวแรงจะไม่เอื้ออำนวย และหวังอย่างยิ่งว่า อยากให้คนไทยเคารพกฏจราจรเพื่อให้ทุกคนไม่ต้องมาประสบภัยบนท้องถนน