posttoday

รัฐบาลเดินหน้าถนนเลียบโขง รับเขตเศรษฐกิจมุกดาหาร

26 เมษายน 2559

หลังภาคเอกชน จ.มุกดาหาร ผลักดันขอให้รัฐบาลดำเนินโครงการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 211 จาก จ.เลย มายัง จ.มุกดาหาร เป็นถนน 4 ช่องจราจรเลียบแม่น้ำโขง

โดย...ชูโรจน์ ตรีประภากร

หลังภาคเอกชน จ.มุกดาหาร ผลักดันขอให้รัฐบาลดำเนินโครงการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 211 จาก จ.เลย มายัง จ.มุกดาหาร เป็นถนน 4 ช่องจราจรเลียบแม่น้ำโขง เพื่อรองรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร ล่าสุด อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ก็ได้ตอบรับ

“กระทรวงให้ความสำคัญในการปรับปรุงถนนเลียบชายโขงตลอดแนว ช่วงที่ต้องพัฒนาก็จะเริ่มจากบึงกาฬมายังนครพนม และต่อมาที่มุกดาหาร สำหรับเส้นทางมุกดาหาร-ธาตุพนม ทำให้ทันในรัฐบาลนี้แน่นอน เพราะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลนี้ต้องทำให้เห็น เป็นเส้นทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว” รมว.คมนาคม กล่าว

รัฐมนตรีอาคม กล่าวอีกว่า ในฐานะเมืองต้นทางของเส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) ซึ่งเชื่อมต่อเส้นทาง R9 ในสะหวันนะเขต ประเทศลาว รัฐบาลได้เร่งดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร การก่อสร้างและปรับปรุงระบบคมนาคมขนส่ง การปรับปรุงด่านชายแดน การสร้างศูนย์บริการเบ็ดเสร็จจุดเดียว และการจัดตั้งศูนย์โลจิสติกส์กระจายสินค้า โดยมีเป้าหมายเชื่อมโยงการดำเนินกิจกรรมด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตรากฐาน

“โครงการสร้างถนน 4 เลน ต้องทำเป็นช่วง ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ เส้นทางจาก กทม.สู่มุกดาหาร จะผ่านขอนแก่น กาฬสินธุ์ นาไคร้ และเส้นทางที่จะเชื่อมไปสู่ท่าเรือแหลมฉบัง ก็จะปรับเป็น 4 ช่องจราจรเพื่อรองรับการขนส่งในภูมิภาคอีสานและภาคอุตสาหกรรมจากแขวงสะหวันนะเขต สู่ท่าเรือส่งออกของไทย สำหรับเส้นทางจากมณฑลกวางสี เมืองหนานหนิง กว่าจะถึงประเทศไทยจะผ่านด่านมุกดาหารและนครพนม ใช้เวลาค่อนข้างเยอะ ด่านไทยจะพยายามลดขั้นตอนให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อความสะดวกในการขนส่งสินค้าทั้งขาเข้าและออก” รมว.คมนาคม กล่าว

ด้าน สรสิทธิ์ ฤทธิ์สรไกร ผวจ.มุกดาหาร กล่าวว่า จังหวัดได้ขอสนับสนุนเส้นทางคมนาคมมุกดาหาร-ธาตุพนม ระยะทาง 25 กิโลเมตร เส้นทาง 4 ช่องจราจรจากคำชะอี-กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ จาก 2 เลนเป็น 4 เลน รถไฟสายบ้านไผ่ ขอนแก่น สู่มุกดาหาร ในอนาคตอาจพัฒนาต่อไปยังแขวงสะหวันนะเขต เข้าสู่เมืองการค้าตอนกลางของเวียดนาม และสนามบินที่ถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนทุกแห่ง โดยขอสนับสนุนสร้างสนามบินพาณิชย์จังหวัดมุกดาหาร เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจกลุ่มผู้ลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร ทั้งยังเป็นการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนให้มั่นคงอีกทางหนึ่ง